×

กองกำลัง KNA หวนจับมือกองทัพเมียนมา อนาคตเมียวดีจะเป็นอย่างไร?

25.04.2024
  • LOADING...

หลังจากที่ปรากฏภาพว่า กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ภายใต้การนำของ พ.อ. ชิต ตู่ ได้ช่วยเปิดทางให้กองทัพเมียนมากลับมาคุมกองพันทหารราบ 275 ในจังหวัดเมียวดี ใกล้กับชายแดนไทยได้อีกครั้ง ได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) รวมถึงกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นปีกกองทัพของ KNU และพันธมิตรฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นอย่างมาก

 

เดิมทีกองกำลัง KNA คือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (Karen BGF) ที่เคยสังกัดกองทัพเมียนมา แต่ในเดือนมีนาคม KNA ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา จัดตั้งกลุ่ม KNA ขึ้นแทนกลุ่ม BGF 

 

KNA หวนจับมือกองทัพเมียนมา

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมา กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ทหารเมียนมาใช้กลยุทธ์ใหม่ นั่นคือ ข่มขู่จะทำลายล้างเมืองชเวโก๊กโก่ ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลประโยชน์และแหล่งรายได้ของ พ.อ. ชิต ตู่ และกลุ่ม KNA ที่ร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนจีนสีเทา

 

สิ่งที่เกิดขึ้น ‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’ ในการสู้รบในเมียนมา ทั้งหมดเป็นเรื่องของพัฒนาการการสู้รบและการต่อรองผลประโยชน์ ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาเสียเปรียบ ค่าน้ำหนักในการต่อรองของฝ่าย KNU และพันธมิตรจึงพุ่งสูงขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลทหารขู่ที่จะทำลายผลประโยชน์ของกลุ่ม KNA จึงอาจเกิดการเจรจาต่อรองใหม่ เพื่อให้กลุ่ม KNA เอนกลับมาหากองทัพเมียนมาอีกครั้ง

 

โดย รศ.ดร.ดุลยภาค เชื่อว่า จุดนี้จะเป็น ‘จุดเปลี่ยนที่สำคัญ’ สำหรับการสู้รบในเมียวดี

 

ตัวละครสำคัญในรัฐกะเหรี่ยง

 

ฝ่ายกองทัพเมียนมา

  • มีแม่ทัพภาคอยู่ที่มะละแหม่ง (รัฐมอญ) และมีผู้บังคับบัญชากองพล 22 และ 44
  • กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งมีหลายกลุ่มมากตามแนวชายแดน โดยหนึ่งในนั้นแถวเมียวดี เป็นอดีตกลุ่ม BGF ที่นำโดย พ.อ. ชิต ตู่ ซึ่งมีกำลัง 6,000-8,000 คน จึงทำให้การเลือกข้างของ พ.อ. ชิต ตู่ มีผลอย่างมากต่อการสู้รบในเมียวดี

 

กลุ่มทุนจีนสีเทา 

  • เข้าไปลงทุนในเมืองชเวโก๊กโก่และเคเคพาร์ก มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่ม พ.อ. ชิต ตู่ โดยเน้นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนตัวเอง

 

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

  • สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยมีปีกการเมืองคือ กลุ่มผู้นำและเลขาธิการ KNU และมีปีกการทหารคือ กองกำลัง KNLA 
  • กองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ในนามของรัฐบาล NUG ก็มาร่วมรบกับกลุ่ม KNU เพื่อขับไล่ทหารเมียนมาในพื้นที่แถบนี้ 

 

เป้าหมายของกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐกะเหรี่ยง

 

รศ.ดร.ดุลยภาค อธิบายว่า พวกเขามีความต้องการตรงกัน นั่นคือ การเปลี่ยนให้รัฐกะเหรี่ยงเป็น ‘สหพันธรัฐประชาธิปไตย’ มีอำนาจของรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยง บริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น อนุรักษ์อัตลักษณ์และวัฒนธรรมได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล NUG จึงนำไปสู่การร่วมมือกัน

 

แต่กลุ่ม KNA ภายใต้การนำของ พ.อ. ชิต ตู่ มีลักษณะเป็นกลุ่มเฉพาะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีเรือธงอยากได้รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย และลดอำนาจทหารเมียนมาลง แต่ผลประโยชน์ในพื้นที่ของพวกเขาจะต้องมาเป็นอันดับแรก ถ้าผลประโยชน์ของกลุ่ม KNA ได้รับผลกระทบ พ.อ. ชิต ตู่ อาจเลือกเจรจาต่อรองและให้กองทัพเมียนมาคุ้มครองผลประโยชน์ของพวกเขา

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค ยังระบุอีกว่า ในปีกนักรบของกลุ่ม KNU ลึกๆ แล้วต้องการก่อตั้ง ‘รัฐอิสระ’ โดยมีกลุ่มที่ต้องการสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย และยังอยู่ในเมียนมา กับกลุ่มที่ต้องการแยกประเทศขึ้นใหม่ โดยปกครองด้วยระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อ ‘ประเทศกอทูเล’

 

สถานการณ์ล่าสุดในเมียวดี

 

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียวดียังคงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม KNU และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา แม้ในขณะนี้ กองกำลัง KNA ของ พ.อ. ชิต ตู่ จะช่วยคุ้มกันและเปิดทางให้กองทัพเมียนมากลับเข้าสู่กองพัน 275 และชักธงชาติเมียนมาขึ้นสู่ยอดเสาได้อีกครั้งก็ตาม 

 

โดย รศ.ดร.ดุลยภาค เน้นย้ำว่า สมรภูมิรบไม่ได้อยู่ที่ตัวเมืองเมียวดีอย่างเดียว แต่ยังกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ แถบแม่น้ำเมยด้วยเช่นกัน โดยพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐก็ยังคงสู้รบและชิงความได้เปรียบกันอยู่

 

ทุนจีนในสงครามกลางเมืองเมียนมา

 

อิทธิพลของกลุ่มทุนจีนสีเทาเข้มข้นขึ้นอย่างมาก บรรดาเมืองสำคัญอย่างชเวโก๊กโก่ ทางตอนเหนือของเมียวดี รวมถึงเคเคพาร์ก ทางตอนใต้ของเมียวดี ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนของกลุ่มทุนจีนเหล่านี้ แทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงแต่อย่างใด สะท้อนถึงอิทธิพลและอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ที่มีสูงมาก 

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ตั้งข้อสังเกตว่า ทุนจีนสีเทาไม่ได้พยายามแผ่อิทธิพลเพื่อควบคุมลุ่มน้ำโขงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้อิทธิพลได้แผ่ปกคลุมเมียวดี เคเคพาร์ก และชเวโก๊กโก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวินแล้ว ขณะนี้มีเพียงรัฐกะยา ใกล้ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย ที่จีนพยายามจะเข้าไปลงทุนในเขื่อนพลังน้ำ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การสู้รบที่เป็นไปอย่างดุเดือด และวัฒนธรรมพื้นถิ่นในรัฐกะยา ทำให้กลุ่มทุนจีนยังไม่สามารถเจาะพื้นที่ตรงจุดนี้ได้ 

 

หากในอนาคตกลุ่มทุนจีนเหล่านี้สามารถควบคุมการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจในรัฐกะยา อิทธิพลของจีนจะไหลจากรัฐฉานใต้ ผ่านรัฐกะยา มาจนถึงรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งจะคุมชายแดนไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในทางภูมิรัฐศาสตร์ 

 

แฟ้มภาพ: Karen Information Center

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising