×

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับคำถามสำคัญต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

06.05.2023
  • LOADING...

ข่าวสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 โดยครั้งล่าสุดที่มีการจัดพิธีดังกล่าวในอังกฤษนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1953 อันเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดังนั้นกว่า 70 ปี หรือหนึ่งชั่วอายุคนที่ไม่มีการจัดพิธีดังกล่าว ทำให้พิธีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมของพิธีการต่างๆ ในพิธีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อประชาชน รวมไปถึงความเหมาะสมของการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดพิธี ตลอดจนกระแสการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้น

 

‘พิธีเพื่อการเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์’

 

สำหรับประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นพิธีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับกษัตริย์ เพื่อการดำรงสถานะเป็นกษัตริย์อย่างแท้จริง ทั้งในทางธรรมเนียมประเพณีและตามความเชื่อทางศาสนา กล่าวคือ แม้ว่าจะมีสถานะเป็นกษัตริย์แล้วตั้งแต่วินาทีแรกที่กษัตริย์องค์ก่อนสวรรคต ตามหลักความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์ที่เรียกว่า ‘The King is Dead, Long Live The King’ แต่หากยังไม่มีการประกอบพิธีราชาภิเษกโดยการสวมมงกุฎและประทับบนพระราชบัลลังก์แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่ากษัตริย์ผู้นั้นมีสิทธิธรรมในการครองราชย์หรือเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์

 

มีผู้เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเทียบได้กับพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งมีพิธีการขั้นตอนส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน หากแต่แตกต่างกันเพียงว่า การอภิเษกสมรสเป็นการแต่งงานกับบุคคลผู้เป็นคู่สมรส แต่ราชาภิเษกนั้นเป็นการแต่งงานกับประเทศชาติ โดยจะมีการสวมแหวนราชาภิเษก (Coronation Ring) ที่มีอีกชื่อว่า แหวนสำหรับแต่งงานกับประเทศอังกฤษ (The Wedding Ring of England) ให้แก่กษัตริย์ อันแสดงออกซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประเทศชาติ

 

โดยทั่วไปแล้ว การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นภายหลังพิธีพระบรมศพของกษัตริย์พระองค์ก่อน เพื่อเว้นช่วงเวลาสำหรับการไว้ทุกข์และตระเตรียมการต่างๆ ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษนั้นยังคงยึดแบบแผนธรรมเนียมการปฏิบัติที่สืบทอดมาเป็นเวลากว่า 900 ปีเป็นหลัก และได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางขั้นตอนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในแต่ละสมัย

 

หากมองย้อนไปในอดีต นับแต่สมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิตในปี 1066 กษัตริย์อังกฤษเกือบทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เว้นแต่เพียงกษัตริย์ 2 พระองค์ที่ไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ยุวกษัตริย์ (1483) ซึ่งหายสาบสูญไปในหอคอยแห่งลอนดอน (The Princes in the Tower) หลังจากขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษ และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้เลือกความรักมาก่อนราชบัลลังก์ (1936) โดยทรงสละราชสมบัติก่อนจะได้ประกอบพิธีราชาภิเษก

 

‘การเปลี่ยนผ่านของสถานะกษัตริย์โดยพิธีราชาภิเษก’

 

สาระสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นอยู่ที่ขั้นตอนพิธีการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งจะเปลี่ยนผ่านสถานะของกษัตริย์ผู้ทรงประกอบพิธีให้เป็นกษัตริย์ที่มีสิทธิธรรมโดยสมบูรณ์

 

สำหรับรายละเอียดโดยสรุปของพิธีราชาภิเษกในครั้งนี้ จะเริ่มต้นขึ้นโดยขบวนเสด็จพระราชดำเนิน (The Procession) จากพระราชวังบักกิงแฮมเข้าสู่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อทรงเข้ามายังสถานที่ประกอบพิธีแล้ว อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ จะกล่าวรับรองสถานะกษัตริย์ของพระองค์ (The Recognition)

 

จากนั้นจะเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า กษัตริย์จะทรงปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมและศาสนจักร (The Coronation Oath) อันเป็นถ้อยคำที่กำหนดไว้โดยพระราชบัญญัติคำสัตย์ปฏิญาณในพิธีราชาภิเษก (Coronation Oath Act 1688) อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทและภาระหน้าที่สำคัญของการเป็นกษัตริย์อังกฤษ

 

เมื่อกล่าวคำปฏิญาณแล้ว จะเข้าสู่พิธีการที่สำคัญที่สุดของการราชาภิเษก คือ การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (The Anointing) โดยชั่ววินาทีที่น้ำมันศักดิ์สิทธิ์นั้นสัมผัสกับองค์กษัตริย์ถือเป็นช่วงเวลาที่กษัตริย์นั้นได้สัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง อันเป็นการเปลี่ยนสถานะของกษัตริย์ผู้นั้นให้ผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งกับพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นจะเป็นการสวมพระมหามงกุฎ และการเสด็จขึ้นประทับบนราชบัลลังก์ที่มีชื่อว่าSt Edward’s Chair’ เพื่อแสดงถึงสถานะการเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์

 

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ St Edward’s Chair คือ แท่นราชบัลลังก์นี้สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ในปี 1296 ภายหลังจากที่พระองค์สามารถยึดครองสกอตแลนด์ได้สำเร็จ โดยทรงให้นำศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny) สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์สำคัญสำหรับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์มาตั้งไว้ใต้ฐานแท่นราชบัลลังก์ดังกล่าว เพื่อแสดงถึงอำนาจของกษัตริย์อังกฤษเหนือดินแดนสกอตแลนด์ ซึ่งแท่นราชบัลลังก์นี้ได้ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษมานับแต่นั้น ส่วนศิลาแห่งโชคชะตานั้น เนื่องจากกรณีการลักลอบนำออกไปจากนครลอนดอนในปี 1950 และข้อเรียกร้องของสกอตแลนด์ที่ต้องการนำสิ่งสำคัญดังกล่าวกลับคืน ทำให้ในปี 1996 มีการตกลงให้คืนศิลาแห่งโชคชะตากลับไปยังปราสาทเอดินบะระ อันเป็นศูนย์กลางของสกอตแลนด์ และจะนำกลับมาที่กรุงลอนดอนเฉพาะแต่ในพิธีราชาภิเษกเท่านั้น

 

นอกจากขั้นตอนพิธีการดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏการใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของพิธี ไม่ว่าจะเป็นพระมหามงกุฎ คทา รวมถึงลูกโลกขนาดเล็ก อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงพระราชอำนาจและพระราชภาระขององค์กษัตริย์ ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติหลายอย่างนั้นคล้ายกันกับธรรมเนียมของสถาบันกษัตริย์ในวัฒนธรรมตะวันออก

 

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของกษัตริย์อังกฤษ’

 

ด้วยเหตุที่พิธีราชาภิเษกเป็นประเพณีปฏิบัติที่มีความเก่าแก่และสืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 900 ปี ธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่น่าสนใจมี 2 เรื่อง คือ การถ่ายทอดพิธีผ่านสัญญาณทางโทรทัศน์ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพิธีโดยการกล่าวแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ จากเดิมที่เฉพาะขุนนางเท่านั้นที่จะเป็นผู้กล่าว

 

สำหรับการถ่ายทอดพิธีราชาภิเษกทางโทรทัศน์นั้นมีขึ้นครั้งแรกในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 หรือพิธีในครั้งก่อน ทำให้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มีการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าว และด้วยระยะห่างของเวลาจากครั้งก่อน การถ่ายทอดในครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้คนทั่วโลกซึ่งมีอายุต่ำกว่า 70 ปี หรือเรียกได้ว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะได้รับชมภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นได้ นอกเหนือจากการเห็นภาพและชมวิดีโอพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่มีการเสนอแนวคิดให้ถ่ายทอดสัญญาณการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1953 นั้น ข้อเสนอดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก ด้วยมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยม ได้แสดงความเห็นอย่างรุนแรงว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ข้อเสนอที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังเช่นกล้องโทรทัศน์เข้าไปถ่ายทอดสัญญาณจากภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์นั้นถือเป็นแนวคิดที่น่าหวาดวิตกเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำให้พิธีการอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่งทั้งในทางโลกและทางความเชื่อนี้กลายเป็นเหมือนการแสดงละครฉากหนึ่งเท่านั้น

 

สุดท้ายแล้ว ด้วยแรงสนับสนุนจากเจ้าชายฟิลลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ซึ่งเห็นว่าการถ่ายทอดพิธีทางโทรทัศน์นั้นจะเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและช่วยสร้างความนิยมให้แก่สถาบันกษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จึงทรงยืนยันให้มีการถ่ายทอดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทางโทรทัศน์ โดยจะมีการถ่ายทอดตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นพิธีการ เว้นแต่เพียงในขั้นตอนของการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะหยุดการถ่ายทอดสัญญาณ เนื่องจากถือว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับองค์กษัตริย์เท่านั้น

 

หากผู้อ่านได้รับชมซีรีส์ The Crown Season 1 EP.5 ‘Smoke and Mirrors’ ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถผู้ล่วงลับ นอกจากจะได้เห็นภาพความเป็นมาและความเป็นไปของพิธีแล้ว นัยหนึ่งที่ปรากฏคือ แม้ว่าจะพยายามให้พิธีนี้ทันสมัยและเข้าถึงได้มากเพียงใด แต่สถานะความเป็นกษัตริย์อันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์นั้นยังคงต้องสงวนไว้ เพื่อให้มีความแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป

 

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากคำตอบของดยุกแห่งวินด์เซอร์ อดีตพระราชาผู้ไร้มงกุฎที่ได้กล่าวตอบคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่มีการถ่ายทอดช่วงพิธีเจิมน้ำมัน ด้วยคำตอบที่ว่า “เพราะเราเป็นแค่เพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับชม” (Because we are mortals.) ซึ่งเน้นย้ำความแตกต่างและเสริมภาพความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่องค์กษัตริย์

 

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับพิธีราชาภิเษกในปี 2023 เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่กลับนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง คือ การเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในพิธีราชาภิเษก โดยร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกันว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่และรัชทายาทของพระองค์ (The Homage of People)

 

การกล่าวคำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม ภายหลังจากที่กษัตริย์อังกฤษกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณในการทำหน้าที่ประมุขของประเทศแล้ว เพื่อตอบแทนคำกล่าวของกษัตริย์ บรรดาขุนนางผู้มีตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเป็นผู้แทนของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นกล่าวคำปฏิญาณแด่องค์กษัตริย์ (The Homage of Peers)

 

โดยในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำสูงสุดทางศาสนาของอังกฤษ ได้นำเสนอความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ เพื่อแสดงถึงการปรับพิธีบรมราชาภิเษกให้เข้ากับยุคสมัยและสะท้อนถึงความสำคัญของประชาชนที่มีต่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ โดยทุกคนทั้งที่อยู่ในพิธีและที่รับชมจากทั่วทุกมุมโลกจะได้ร่วมกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนในพิธีราชาภิเษก ซึ่งผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งมองว่า พิธีนี้ไม่ใช่เพียงหมุดหมายแห่งอดีต หากแต่เป็นการร่วมเฉลิมฉลองกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ และอยู่เหนือพ้นจากความขัดแย้งทั้งปวง อีกทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีส่วนสำคัญต่อการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์

 

อย่างไรก็ตาม การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน ควรจะเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ต่างหากที่ต้องเป็นผู้ปฏิญาณว่าจะภักดีต่อประชาชน และไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เนื่องจากประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองที่มีฐานะเท่าเทียมกัน หาใช่ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ไม่

 

แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันแล้วว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การร้องขอหรือบังคับให้ต้องกระทำ หากแต่เป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่สมัครใจจะกล่าวคำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ชาร์ลส์ภายหลังจากที่พระองค์ปฏิญาณตนว่าจะอุทิศพระวรกายเพื่อรับใช้ประเทศชาติ แต่กระแสคัดค้านเหล่านี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นไปในทางลบและถูกวิจารณ์มากยิ่งขึ้น

 

‘เสียงคัดค้านและคำวิจารณ์ที่ดังขึ้น’

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษอีกครั้งในรอบ 70 ปี ได้นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่เกี่ยวพันถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบและความมุ่งหมายของพิธีการต่างๆ ว่าการจัดพิธีตามธรรมเนียมประเพณีเดิมนั้นยังคงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวคิดหรือค่านิยมในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ตลอดจนคุณค่าของการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์นั้นมีอยู่อย่างไร

 

โดยพิธีราชาภิเษกในครงนี้ได้นำมาซึ่งข้อวิจารณ์ที่สำคัญใน 2 ประเด็น คือ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดงานดังกล่าว และความจำเป็นในการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์

 

สำหรับประเด็นแรกนั้น ด้วยเหตุที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งหมดจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งสันนิษฐานว่าจะมีการใช้เงินราว 50-100 ล้านปอนด์ (จำนวนที่แน่นอนจะปรากฏภายหลังการจัดพิธีแล้วเสร็จ) จึงมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าที่รัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อการจัดพิธีดังกล่าว ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและภาวะค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงประชาชนจำนวนมากยังอยู่ในภาวะยากลำบากภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการกำหนดวันหยุดทำการ (Bank’s Holiday) เพิ่มเติมในวันที่ 8 พฤษภาคม 2023 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวนั้น ส่งผลเสียต่อการประกอบธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักโดยไม่จำเป็น

 

แม้จะมีการแถลงยืนยันว่าการใช้เงินงบประมาณดังกล่าวจะเกิดประโยชน์และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ โดยเฉพาะร้านอาหารและโรงแรม และรัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นสำคัญ รวมถึงนักธุรกิจและประชาชนบางส่วนยังมองว่าการใช้เงินงบประมาณดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในลักษณะ ‘เงินต่อเงิน’ (Takes Money to Make Money) แต่จากผลการสำรวจโดย The YouGov พบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 51 เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรนำเงินงบประมาณมาใช้สนับสนุนการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อีกทั้งมีผู้กล่าวด้วยว่าในขณะที่ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากและต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน เหตุใดรัฐบาลจึงเห็นสมควรให้ใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อจัดพิธี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีความมั่งคั่งและมีรายได้ของตนเอง ควรใช้เงินของตนเองในการจัดพิธี

 

ประเด็นดังกล่าวจึงยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วงระยะเวลาภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วจึงจะเป็นที่แน่ชัดว่าพิธีอันสำคัญนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไร

 

นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจแล้ว กลุ่ม Republic ซึ่งเป็นองค์กรที่เรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และให้มีประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง ยังได้ใช้โอกาสการจัดพระราชพิธีฯ นี้ในการรณรงค์แคมเปญ #NotMyKing โดยการนัดชุมนุมประท้วงในวันที่ 6 พฤษภาคม อันเป็นวันจัดพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งในกรุงลอนดอนและเมืองต่างๆ ทั่วอังกฤษ เพื่อแสดงให้สังคมโลกเห็นถึงกระแสการต่อต้านระบอบกษัตริย์อังกฤษ

 

ประเด็นสำคัญที่กลุ่ม Republic นำเสนอ คือ ในขณะที่คุณค่าหลักของสังคมอังกฤษคือการมุ่งเน้นค่านิยมประชาธิปไตย อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความเท่าเทียมกันในสังคม แต่การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์นั้นกลับมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับค่านิยมดังกล่าวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการมีอภิสิทธิ์หรือสภาวะยกเว้นเหนือกฎหมายบางประการ สถานะการเป็นชนชั้นสูง ตลอดจนการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประชาชนที่ควรจะนำมาใช้จ่ายเพื่อกิจการสาธารณะ กลับต้องนำมาใช้เพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พักอันหรูหรา และการดำเนินชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยของสถาบันกษัตริย์

 

เรื่องดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการแสดงความเห็นคัดค้านและทำให้ภาพลักษณ์ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งใกล้จะเข้ามาถึงเป็นไปในทางลบมากยิ่งขึ้น โดยการสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบนั้นระบุว่าไม่ให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจพิธีราชาภิเษกดังกล่าว

 

‘เมื่อการยอมรับจากประชาชนย่อมสำคัญยิ่งกว่าพิธีการ’

 

แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีความสำคัญในทางธรรมเนียมประเพณีเพื่อการเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้พระเจ้าชาร์ลส์มีฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษอย่างแท้จริง คือการปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวอังกฤษ

 

ดังที่ทราบกันว่า กระแสความนิยมของพระเจ้าชาร์ลส์นั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาผู้ล่วงลับ ซึ่งทรงวางพระองค์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ และทรงเป็นศูนย์รวมใจให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ต่างจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ภาพลักษณ์ของพระองค์มักจะเป็นไปในทางลบ อันเป็นผลจากเรื่องอื้อฉาวในชีวิตสมรสของพระองค์ และบทบาทที่พระองค์มักแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นของพระองค์เองต่อสาธารณชนอยู่เสมอ

 

แม้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์จะทรงให้ความสำคัญกับการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเมื่อ 7 เดือนก่อน เพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์จากค่านิยมแบบดั้งเดิมให้สอดคล้องต่อเนื่องกับค่านิยมของสมัยใหม่ แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อาจจะยังช้าไปสำหรับความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจความนิยมในสถาบันกษัตริย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 60 จะยังคงสนับสนุนให้มีระบบกษัตริย์ต่อไป แต่หากเทียบกับความนิยมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าลดลงจากเดิมที่มีเกินกว่าร้อยละ 70 ในขณะที่กว่าร้อยละ 25 ต้องการให้เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสาธารณรัฐและมีประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะความเห็นส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งเห็นว่าควรยกเลิกระบอบกษัตริย์

 

ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ต้องทรงปฏิบัตินอกเหนือจากการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว คือการใคร่ครวญหาคำตอบสำหรับคำถามสำคัญอันเป็นบทพูดของ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จากซีรีส์ The Crown Season 1 EP.5 ที่เขาได้ถามสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนพิธีราชาภิเษกในปี 1953 ซึ่งยังคงใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่า “กษัตริย์ดำรงอยู่เพื่อสิ่งใด? พระราชวงศ์ดำรงอยู่เพื่อสิ่งใด? สถาบันกษัตริย์ควรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป หรือควรดำรงคงเดิมโดยอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงใดๆ?”

 

“What is the purpose of the Crown? What is the purpose of the monarchy? Does the crown bend to the will of the people to be audited and accountable? Or should it remain above temporal matters?”

 

โดยหน้าที่ดังกล่าวนั้นหาได้เป็นเพียงภาระหน้าที่ของพระเจ้าชาร์ลส์เท่านั้น หากแต่เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ รวมตลอดถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในราชวงศ์ ต่างมีภาระรับผิดชอบร่วมกันในการนำพาสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีอายุยาวนานกว่าหนึ่งพันปีให้ดำรงคงอยู่สืบต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม

 

ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า นอกจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่ยาวนานของสถาบันกษัตริย์อังกฤษแล้ว พิธีสำคัญยิ่งที่ไม่ได้จัดขึ้นมานานกว่า 70 ปีนี้ยังนำมาซึ่งคำถามสำคัญเกี่ยวกับการดำรงอยู่และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ อันเป็นความท้าทายที่พระเจ้าชาร์ลส์ในฐานะประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษจะต้องเผชิญในรัชสมัยของพระองค์

 

ภาพ: Dan Kitwood / POOL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising