×

เมื่อเจ้าหญิงเคทแห่งเวลส์ประชวรด้วยโรคมะเร็ง ผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

24.03.2024
  • LOADING...

เพียงเดือนเศษนับจากที่สำนักพระราชวังอังกฤษประกาศถึงอาการประชวรโรคมะเร็งของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก็ปรากฏข่าวสำคัญที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง เมื่อเจ้าหญิงแคเธอรีนแห่งเวลส์ พระชายาในเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ รัชทายาทราชบัลลังก์อังกฤษ ทรงมีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2024 ว่า ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด  

 

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคำถามและข้อสงสัยของสังคมว่า เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าหญิงแห่งเวลส์ แม้จะมีการประกาศว่าทรงเข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับช่องท้องในเดือนมกราคม 2024 และจะกลับมาปฏิบัติพระกรณียกิจในช่วงเดือนเมษายน ทำให้เกิดคำถามถึงอาการประชวรที่แท้จริง ประกอบกับเกิดกรณีข้อครหาเรื่องภาพถ่ายที่เจ้าหญิงทรงเผยแพร่ในกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาทรงยอมรับว่าเป็นภาพตัดต่อ ทำให้ยิ่งเกิดคำถามสงสัยของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น

 

แถลงการณ์ดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยให้เกิดความชัดเจนและยุติข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับอาการประชวรของเจ้าหญิง แต่ในขณะเดียวกัน ข่าวการประชวรด้วยมะเร็งดังกล่าวก็ย่อมส่งผลกระทบถึงครอบครัวแห่งเวลส์และสถาบันกษัตริย์อังกฤษด้วย

 

คำถามถึงอาการประชวรของเจ้าหญิงแห่งเวลส์

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ทำการของสำนักงานส่วนพระองค์ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเจ้าหญิงแห่งเวลส์ มีใจความสำคัญว่า เจ้าหญิงจะต้องเข้ารับการผ่าตัดที่ช่องท้อง โดยจะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และต้องทรงงดปฏิบัติพระกรณียกิจจนถึงช่วงอีสเตอร์หรือประมาณต้นเดือนเมษายน 2024

 

ข่าวการประชวรดังกล่าวนั้นหากเป็นกรณีทั่วไปคงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากนัก ด้วยอาการป่วยถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ หากแต่กรณีของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งราชบัลลังก์อังกฤษนั้นย่อมแตกต่างไป ไม่ว่าจะเป็นสถานะของพระองค์ดังที่ได้กล่าวมา ประกอบกับการที่ไม่ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสปี 2023 รวมถึงกรณีการมีแถลงการณ์ถึงอาการประชวรโรคมะเร็งของพระเจ้าชาร์ลส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงอาการที่แท้จริงของเจ้าหญิงแห่งเวลส์

 

ความห่วงกังวลต่ออาการประชวรของเจ้าหญิงยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ทรงเปลี่ยนแปลงกำหนดการของพระองค์อย่างกะทันหันที่จะไม่เข้าร่วมพิธีรำลึกถึงพระเจ้าคอนสแตนติน อดีตกษัตริย์แห่งกรีซ ผู้เป็นพ่อทูนหัวของพระองค์ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลส่วนพระองค์ การที่เจ้าชายทรงตัดสินพระทัยไม่เข้าร่วมพิธีซึ่งถือว่ามีความสำคัญดังกล่าวอย่างกะทันหัน จึงทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับอาการของเจ้าหญิงว่าน่าจะมีความร้ายแรง ทำให้เจ้าชายต้องทรงยกเลิกการเข้าร่วมพิธี

 

แม้ว่ากระแสความสงสัยและคำถามของสังคมจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สำนักพระราชวังอังกฤษก็ยังคงไม่มีแถลงการณ์อื่นใดออกมาเพิ่มเติม นอกจากการยืนยันว่าอาการประชวรนั้นไม่น่าเป็นห่วง และจะทรงกลับมาปฏิบัติพระกรณียกิจได้ตามปกติ อันเป็นแนวปฏิบัติตามปกติของราชสำนักอังกฤษที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของพระราชวงศ์หากไม่จำเป็น

 

กรณีปัญหาเรื่องภาพตัดต่อของเจ้าหญิง

ข่าวลือเกี่ยวกับอาการประชวรมีมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดกรณีที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเผยแพร่ภาพถ่ายของพระองค์ร่วมกับพระโอรสธิดาคือ เจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายหลุยส์ เนื่องในโอกาสวันแม่ของอังกฤษ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปี (ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม) โดยปรากฏในภายหลังว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ผ่านการตัดต่อ และทำให้สื่อมวลชนที่เผยแพร่ภาพนั้นต้องลบภาพดังกล่าวออกด้วย

 

โดยปกติแล้ว ในโอกาสสำคัญหรือเหตุการณ์พิเศษดังเช่นในวันแม่ สมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษมักจะร่วมเฉลิมฉลองด้วยการลงภาพในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจะมีการส่งภาพจากสำนักงานส่วนพระองค์ไปยังสำนักข่าวและสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อเผยแพร่และร่วมเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนั้น

 

แม้จะไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดเจ้าหญิงจึงเลือกที่จะเผยแพร่ภาพที่มีการตัดต่อ แต่ก็มีข้อสังเกตที่สำคัญจากเรื่องดังกล่าวคือ การที่เจ้าหญิงทรงเลือกตัดต่อภาพและเผยแพร่ภาพนั้นย่อมหมายความว่าทรงไม่มีภาพที่เป็นปัจจุบันที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเมื่อมองในมุมกลับกัน หากไม่มีภาพเผยแพร่ในโอกาสพิเศษเช่นวันแม่ ย่อมจะยิ่งเกิดข่าวลือถึงอาการประชวรมากยิ่งขึ้นไปอีก ความจำเป็นในการเผยแพร่ภาพที่แม้จะผ่านการตัดต่อจึงอาจช่วยลดกระแสข่าวลือและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ได้ 

 

มีผู้เปรียบเปรยไว้ว่า ภาพที่เจ้าหญิงทรงยิ้มอย่างมีความสุขกับพระโอรสธิดานั้นน่าจะช่วยยุติข่าวลือเกี่ยวกับอาการประชวรของพระองค์ได้ แต่ภาพดังกล่าวกลับให้ผลในทางกลับกัน เมื่อมีผู้สังเกตว่าภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ อันทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าวอย่างรุนแรงว่าสิ่งที่เจ้าหญิงทำนั้นไม่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพระองค์เอง รวมถึงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดถึงเรื่องอาการประชวรที่น่าจะมีความร้ายแรง รวมถึงเกิดข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเวลส์ด้วย

 

แม้ว่าเจ้าหญิงจะทรงขอโทษต่อสาธารณะผ่านช่องทางการสื่อสารส่วนพระองค์ในวันต่อมา โดยทรงยอมรับถึงการตัดต่อหรือตกแต่งภาพดังกล่าว และทรงขออภัยอย่างยิ่งต่อความสับสนอันเกิดขึ้นจากภาพถ่ายครอบครัวของพระองค์ แต่เรื่องดังกล่าวนั้นกลายเป็นข้อครหาและกระทบต่อความนิยม รวมถึงทำให้เกิดข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ตามมาอีกมากมาย 

 

“ข้าพเจ้ากำลังเริ่มต้นการรักษาอาการมะเร็ง”

 

ด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข่าวลือต่างๆ ตลอดจนความห่วงกังวลของสาธารณะที่มีต่อเจ้าหญิง ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเปิดเผยถึงอาการประชวรของพระองค์ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2024 ตามเวลาที่อังกฤษ 

 

ใจความสำคัญที่เจ้าหญิงสื่อสารให้สาธารณะรับทราบนั้นคือ อาการประชวรของพระองค์ที่เริ่มแรกนั้นเป็นเพียงการผ่าตัดใหญ่เกี่ยวกับช่องท้องเมื่อเดือนมกราคม และในเวลานั้นผลการผ่าตัดระบุว่าไม่มีอาการของมะเร็ง แต่แม้ว่าผลการผ่าตัดจะสำเร็จลุล่วง แต่ผลการทดสอบและติดตามอาการหลังจากนั้นปรากฏว่าพบอาการของมะเร็ง ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด และขณะนี้ทรงอยู่ระหว่างเริ่มต้นการรักษา

 

นอกจากการกล่าวถึงครอบครัวของพระองค์ดังที่จะได้กล่าวถึงข้างหน้า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ยังทรงกล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งทุกคน ดังเช่นที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเคยมีแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ โดยทรงระลึกถึงทุกผู้คนที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากมะเร็ง ขอให้ทุกคนที่เผชิญกับมะเร็งไม่ว่าจะในรูปแบบใด อย่าหมดกำลังใจหรือสูญสิ้นความหวัง และทุกคนไม่ได้อยู่เพียงลำพัง (For everyone facing this disease in whatever form, please do not lose faith or hope. You are not alone.)

 

การประกาศดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้แก่ประชาชนทั้งในอังกฤษและทั่วโลก และทำให้ข่าวลือหรือข้อวิจารณ์ต่างๆ อันเกิดจากด้วยความสับสนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ว่า “เจ้าหญิงแห่งเวลส์หรือ เคท มิดเดิลตัน หายไปไหน?” สลายหายไปและยุติลง และปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากร่างกายและจิตใจของพระองค์ต้องพบกับโรคร้ายและภาวะต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พระองค์ยังต้องทรงอดทนเป็นอย่างยิ่งในการเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมเข้าหาพระองค์อย่างต่อเนื่อง

 

นัยสำคัญของการประกาศเรื่องอาการประชวรมะเร็งของเจ้าหญิงแห่งเวลส์

นอกจากเนื้อหาในวิดีโอที่กล่าวถึงการประชวรด้วยโรคมะเร็งของเจ้าหญิงแห่งเวลส์อันเป็นประเด็นหลักที่สร้างความตกใจให้แก่ทุกคนแล้ว การเผยแพร่ถึงอาการประชวรดังกล่าวยังมีนัยสำคัญที่น่าสังเกตหลายประการ

 

ประการแรก การเผยแพร่อาการประชวรของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในรูปแบบของวิดีโอที่เป็นกันเองและสื่อถึงอารมณ์ต่างๆ นั้นถือเป็นวิธีการที่แปลกใหม่และพิเศษกว่าการมีแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังตามปกติ ซึ่งมักจะเป็นประกาศที่มีความเป็นทางการอย่างยิ่ง และจะประกาศในรูปแบบของเอกสารเท่านั้น โดยในวิดีโอดังกล่าว พระองค์ทรงนั่งบนม้านั่งกลางสวนสาธารณะที่รายล้อมด้วยดอกไม้ในบรรยากาศสบายๆ ก่อนที่จะทรงเล่าถึงอาการประชวรและกล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาพระองค์

 

ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า แคเธอรีน มิดเดิลตัน หรือ เคท ตั้งแต่ดำรงอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ จนกระทั่งเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์นั้น เป็นสมาชิกพระราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมสูงมากพระองค์หนึ่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยพระจริยวัตร บทบาทการวางพระองค์ และภาพลักษณ์สมัยใหม่ อันเป็นความหวังของราชวงศ์วินด์เซอร์ในการนำพาสถาบันกษัตริย์อังกฤษก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดังนั้น การหายไปจากสังคมของเจ้าหญิงโดยไม่ปรากฏเหตุผลที่แน่ชัดย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์ การมีประกาศดังกล่าวจึงเป็นการยุติข่าวลือและสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์ได้ในทางหนึ่ง

 

ประการที่สาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับด้วยคำถาม ข้อครหา และข่าวลือต่างๆ นานาที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องหลายเดือน ก็มีส่วนในการที่เจ้าหญิงต้องตัดสินใจเปิดเผยถึงอาการประชวร เพื่อที่จะหยุดยั้งการวิพากษ์วิจารณ์และข้อสงสัยต่างๆ แต่ก็ต้องแลกมาซึ่งผลกระทบต่อจิตใจของพระองค์ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คนเราจะกล้าเปิดเผยเรื่องการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งต่อสาธารณะ

 

ประการสุดท้าย นอกจากการประกาศเกี่ยวกับการประชวรด้วยโรคมะเร็งของเจ้าหญิงจะส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติในลักษณะส่วนรวมแล้ว เรื่องดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของพระองค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะได้กล่าวต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทแห่งเวลส์เลือกที่จะประกาศถึงอาการประชวรในช่วงเวลานี้ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ต้องการรอให้พระโอรสและธิดาซึ่งยังเยาว์วัยปิดภาคการเรียน และกลับมาอยู่ร่วมกับพระองค์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการประกาศเรื่องดังกล่าว เพราะข่าวร้ายดังกล่าวย่อมกระทบต่อจิตใจของเด็กๆ อย่างแน่นอน 

 

เส้นแบ่งระหว่างสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในครอบครัวกับบทบาทและสถานะของพระราชวงศ์

จากเนื้อหาในประกาศของเจ้าหญิงแห่งเวลส์มีประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาคือ การปะทะกันระหว่างคุณค่าของ ‘บทบาทและสถานะสมาชิกพระราชวงศ์’ กับ ‘สิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในครอบครัวในฐานะภริยาและมารดาของลูกๆ’

 

ในฐานะสมาชิกแห่งพระราชวงศ์อังกฤษ ผู้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานะที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย และด้านทรัพย์สินที่มั่งคั่ง เจ้าหญิงเคทซึ่งมีสถานะอันสูงยิ่ง ทั้งในฐานะพระชายาขององค์รัชทายาท และจะเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งราชบัลลังก์อังกฤษในอนาคตนั้น ย่อมถูกเรียกร้องจากสังคมให้ต้องมีบทบาทที่สูงเด่น และปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ

 

แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทอีกด้านหนึ่งของเจ้าหญิงซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน และไม่อาจถูกละเลยได้คือบทบาทในครอบครัว ทั้งการเป็นพระชายาของเจ้าชายวิลเลียม และเป็นพระมารดาของพระโอรส-ธิดาทั้งสาม อันเป็นหน้าที่สำคัญในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

การให้ความสำคัญและให้ความสมดุลแก่บทบาททั้งสองฐานะจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับเจ้าหญิงเคท รวมถึงเจ้าชายวิลเลียมด้วย อันจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งในประกาศดังกล่าวที่ว่า “เราหวังว่าทุกท่านจะเข้าใจ ว่าครอบครัวของเราต้องการเวลา พื้นที่ และความเป็นส่วนตัวในระหว่างที่ข้าพเจ้าเข้ารับการรักษา และในขณะเดียวกัน กรณียกิจต่างๆ ก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกมีความสุขอย่างยิ่ง และข้าพเจ้ารอคอยที่จะได้กลับไปทำหน้าที่อีกครั้งเมื่อพร้อม แต่ในตอนนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือการเข้ารับการรักษาให้กลับมาเป็นเช่นเดิม” 

 

“We hope that you’ll understand that as a family we now need some time, space and privacy while I complete my treatment. My work has always brought me a deep sense of joy, and I look forward to being back when I’m able. But for now, I must focus on making a full recovery.”

 

นอกจากนั้นแล้ว หากมองในฐานะปุถุชนคนธรรมดา สิ่งที่เจ้าหญิงเคทต้องเผชิญนั้นเป็นสิ่งที่หนักหนาสำหรับคนคนหนึ่ง ด้วยวัยเพียง 42 ปี และยังมีลูกๆ ที่อายุเพียง 10 ปี 8 ปี และ 5 ปี การตรวจพบโรคมะเร็งจึงเป็นดังที่เธอเรียกว่า ‘a huge shock’ ซึ่งนอกจากจะต้องเตรียมกายเตรียมใจในการเข้ารับการรักษาแล้ว เธอและเจ้าชายวิลเลียมยังต้องอาศัยเวลาให้ลูกๆ ทั้งสามเข้าใจถึงสถานการณ์ และต้องทำให้พวกเขามั่นใจถึงสุขภาพพลานามัยของเจ้าหญิงผู้เป็นแม่ด้วย

 

อาการประชวรของเจ้าหญิงกับผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

แม้ว่าการประชวรของเจ้าหญิงเคทจะยังไม่มีอาการร้ายแรง และไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ เนื่องจากมีการกำหนดบุคคลผู้จะสืบทอดราชสมบัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว อีกทั้งยังทรงได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งในราชสำนัก บุคคลสำคัญจากทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่ต่างร่วมส่งกำลังใจให้พระองค์กลับมาแข็งแรงดังเดิม แต่การประชวรด้วยโรคมะเร็งดังกล่าวก็ส่งผลกระทบสำคัญต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษทั้งในทางตรงและในทางอ้อม

 

ผลกระทบในทางตรงนั้น สืบเนื่องจากในปัจจุบัน สมาชิกพระราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ยังทรงงานต่างๆ ในฐานะผู้แทนพระองค์ของกษัตริย์อังกฤษนั้นต่างมีพระชนมายุสูงมากกว่า 50 พรรษา และหลายพระองค์ก็ทรงประชวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ต้องทรงเข้ารับการรักษาอาการมะเร็ง ทำให้ภาระอันหนักอึ้งตกอยู่กับสมเด็จพระราชินีคามิลลาและเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ที่ต้องเป็นตัวยืนสำคัญสำหรับสถาบันกษัตริย์อังกฤษในขณะนี้

 

อาการประชวรดังกล่าวของเจ้าหญิงเคทจึงทำให้พระองค์ไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจหรือทรงงานในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในบทบาทของประมุขของประเทศและกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศลต่างๆ รวมถึงการเดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อความสัมพันธ์ทางการทูต จึงเท่ากับทำให้ผู้ที่มีบทบาทหลักในราชวงศ์คนสำคัญ ซึ่งยังมีพระชนมายุน้อยและเป็นดั่งความหวังของสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างเจ้าหญิงเคทต้องลดบทบาทลง อันจะส่งผลกระทบถึงความนิยมและภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนั้นแล้ว การประชวรและต้องลดภารกิจต่างๆ ของเจ้าหญิงเคท ย่อมจะทำให้สีสันหรือความน่าสนใจของราชวงศ์อังกฤษโดยเฉพาะในด้านแฟชั่นต้องลดลง เนื่องจากเจ้าหญิงเคทไม่อาจปรากฏพระองค์พร้อมกับการแต่งกายที่ทันสมัย สดใส และงามสง่า อันเป็นภาพที่ทุกคนต่างคุ้นเคยได้จนกว่าจะทรงมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงดังเดิม 

 

ส่วนผลกระทบในทางอ้อมจะเป็นเรื่องภายในครอบครัวแห่งเวลส์ ซึ่งด้วยสถานะความสำคัญของครอบครัวนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษในที่สุด กล่าวคือ การประชวรดังกล่าวย่อมทำให้เจ้าชายวิลเลียมต้องลดบทบาทบางอย่างลง เพื่อการดูแลเจ้าหญิงเคทและพระโอรส-ธิดาให้มากขึ้น อีกทั้งการประชวรด้วยโรคร้ายของเคทก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของพระโอรส-ธิดาทั้งสามพระองค์ ซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์ ซึ่งทั้งสามพระองค์ล้วนแล้วแต่จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับราชวงศ์อังกฤษในภายภาคหน้า

 

การมีแถลงการณ์ถึงการประชวรด้วยโรคมะเร็งของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในครั้งนี้ถือเป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้ทันสมัย โปร่งใส และเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งยังจะแสดงถึงความจริงใจและเป็นการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาต่อประชาชนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการประชวรด้วยโรคมะเร็งของแคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเจ้าชายวิลเลียม ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ และทายาทของพระองค์ผู้จะทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษในอนาคต

 

ภาพ: Illustration by Mark Case / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising