×

คิมจองอึนพบปูติน โลกควรกังวลแค่ไหน

15.09.2023
  • LOADING...
คิมจองอึนพบปูติน

คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ พบกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ศูนย์ปล่อยอวกาศยาน ‘วอสทอชนี คอสโมโดรม’ (Vostochny Cosmodrome) ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของคิมจองอึน รวมถึงผู้นำระดับสูงของกองทัพและพรรคแรงงานเกาหลี

 

THE STANDARD มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง ถึงนัยของการพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในครั้งนี้

 

การพบกันระหว่างคิมจองอึนกับปูตินสะท้อนนัยอะไร

 

อาจารย์สุรชาติระบุว่า “โจทย์ใหญ่ที่สุดของการเดินทางเยือนรัสเซียของคิมจองอึนสะท้อนความสัมพันธ์ที่กระชับมากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ถ้าถามว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ-รัสเซียเป็นไปอย่างลึกซึ้งไหม อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามเกาหลีในปี 1950 จนทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการตัดสินใจเปิดฉากทำสงครามเกาหลีของปู่คิมจองอึน จริงๆ แล้วเป็นการตัดสินใจของ โจเซฟ สตาลิน ที่เชื่อว่าสถานการณ์สุกงอมพอ เพราะจีนในขณะนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแล้ว 

 

“ความแนบแน่นที่มีผมว่ามันมีมาตลอด แล้วพอเราเห็นโจทย์ปัจจุบัน เราอาจจะต้องคิดโจทย์อีกมุมหนึ่ง เพราะเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์สงครามยูเครน มันมีปัจจัยเรื่องสงครามตรงนี้เข้ามา ประกอบกับปัจจัยเรื่องแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรต่อการทดลองขีปนาวุธของคิมจองอึน การเดินทางเยือนครั้งนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า ‘เป็นการทูตแบบอาวุธ’ ซึ่งเป็นการเดินทางที่มีสาระใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธของทั้งสองฝ่าย เพราะวันนี้ตกประมาณเดือนที่ 18 ของสงครามยูเครนแล้ว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาราว 1 ปีครึ่งนี้ รัสเซียใช้กระสุนปืนใหญ่เป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนกระสุนปืนในหลายส่วน และขาดแคลนอาวุธต่อต้านรถถัง 

 

“เพราะฉะนั้น เราเชื่อกันว่ารัสเซียอาจขอพวกเครื่องกระสุนจากเกาหลีเหนือเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตภายในรัสเซียเองผลิตไม่ทัน และถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก ถ้าถามว่ามาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ได้ผลไหม เอาเข้าจริงก็ต้องยอมรับว่าได้ผล อาจจะไม่ทั้งหมด แต่เราจะเห็นว่าการผลิตอาวุธของรัสเซียทำได้ช้าลง ไม่ทันต่อความต้องการในแนวหน้าของสนามรบ ความเป็นไปได้มากที่สุดถ้าเกาหลีเหนืออยากจะช่วยนั่นคือการสนับสนุนเรื่องเครื่องกระสุนทั้งหลาย 

 

“แล้วเกาหลีเหนือจะขออะไรจากรัสเซีย หลายฝ่ายเชื่อว่าสิ่งที่เกาหลีเหนืออยากขอคือดาวเทียมสายลับ หรือดาวเทียมจารกรรม (Spy Satellite) กับอีกสิ่งหนึ่ง ถ้าเราตามข่าวทางทหาร โจทย์สำคัญที่เกาหลีเหนือยังพัฒนาไม่ได้คือเรือดำน้ำนิวเคลียร์ และหัวรบนิวเคลียร์ที่จะติดตั้งกับเรือดำน้ำ (SLBM) และหากได้ดูข่าวล่าสุด คิมจองอึนเดินทางไปเยือนโรงงานผลิตเครื่องบินของรัสเซียที่ผลิตเครื่องบินรบ Sukhoi ซึ่งอาจจะมีอะไรมากขึ้น แล้วอีกหนึ่งความน่าสนใจคือ เขาไม่ได้พบกันที่มอสโก แต่พบกันที่วอสทอชนี เมืองที่เป็นฐานยิงจรวด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นนัยว่า เกาหลีเหนือต้องการเทคโนโลยีในการพัฒนาดาวเทียมจารกรรมของตนเอง”

 

การพบกันของผู้นำเกาหลีเหนือ-รัสเซียจะส่งผลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่ อย่างไร

 

อาจารย์สุรชาติอธิบายว่า “ผลกระทบที่สำคัญหากรัสเซียได้กระสุนจำนวนมากจากเกาหลีเหนือ ก็จะช่วยรัสเซียในการรบ เพราะในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นยูเครนรุกตอบโต้กลับ (Counteroffensive) มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะมองว่าการรุกตอบโต้กลับของยูเครนช้า แต่เราต้องยอมรับว่าบางครั้งมันก็อาจเป็นไปในลักษณะที่ค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้า ไม่ได้รุกแล้วข้าศึกถอยทันที ทำให้รัสเซียสร้างแนวกับระเบิด หรือแนวสนามทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ารัสเซียต้องการจะหยุดยั้งการรุกตอบโต้กลับของยูเครน รัสเซียยังคงต้องการกระสุนปืนใหญ่และอาวุธต่อต้านรถถัง ถ้ารัสเซียได้ของเหล่านี้จำนวนมากก็จะส่งผลต่อการรบในยูเครน 

 

“แล้วโจทย์เดียวกัน ถ้าเกาหลีเหนือได้ในสิ่งที่อยากได้ ทั้งดาวเทียมจารกรรม เรือดำน้ำ และหัวรบนิวเคลียร์ มันจะมีนัยต่อสมดุลของกำลังในพื้นที่ของเอเชียด้านบน แล้วอาจยิ่งทำให้เกาหลีใต้ต้องสร้างพลังอำนาจทางการทหารมากยิ่งขึ้น และอาจกลายเป็นปัจจัยที่บีบให้ญี่ปุ่นเร่งพัฒนากำลังรบเช่นเดียวกัน 

 

“ในอีกมุมหนึ่งที่หลายฝ่ายตั้งคำถามคือ แล้วจีนคิดอย่างไร จีนไว้ใจไหมจากภาพที่เราเห็น ผมว่าความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน-เกาหลีเหนือเป็นความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ในความเข้มแข็งนี้มันก็ซ่อนอะไรบางอย่างในมิติของโลกคอมมิวนิสต์ไว้พอสมควร ผมเชื่อว่า เอาเข้าจริงๆ ผู้นำทั้งหมดไม่ค่อยไว้ใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่จะเห็นคือ คิมจองอึนเองก็พยายามลดการพึ่งพาจีน และพยายามพึ่งบางอย่างจากรัสเซียแทน ในขณะเดียวกันจีนเองก็นั่งมองภาพพวกนี้ ก็มีความกังวลทางการทูตเหมือนกัน ผมเชื่อว่า ในทางเปิดจีนอาจจะพูดไม่ได้ และต้องเล่นบทสนับสนุนความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือ-รัสเซียในกรณีเช่นนี้ 

 

“แต่ถ้าเรามองภาพใหญ่ ถ้าเกาหลีเหนือสามารถสร้างและพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารได้อย่างเต็มที่ เกาหลีเหนือจะกลายเป็นมหาอำนาจใหญ่ทางทหารในเอเชียอย่างที่เราเองก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน และอาจส่งผลกระทบต่อคาบสมุทรเกาหลี บทบาทของญี่ปุ่น รวมถึงความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน”

 

คิมจองอึนพบปูตินครั้งนี้ โลกควรกังวลแค่ไหน

 

อาจารย์สุรชาติกล่าวว่า “ความกังวลใหญ่อยู่ที่การทูตแบบอาวุธในครั้งนี้ จะยิ่งทำให้รัสเซียยังคงมีขีดความสามารถในการโจมตียูเครนและรบกับยูเครนได้ต่อไป สิ่งที่อาจจะต้องดูในอนาคตคือ ถ้าขีดความสามารถของรัสเซียในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังที่สงครามยูเครนจะจบลงเร็วๆ นี้ ผมคิดว่าก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่ไกลๆ ในวันนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า ถ้านั่งมองสถานการณ์จากเดือนที่ 18 ของสงคราม คำถามว่าสันติภาพอยู่ใกล้ไหม คำตอบคือสันติภาพยังอยู่ไกลอีกพอสมควร 

 

“และถ้ายิ่งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือพัฒนาไปมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่ามันจะกลายเป็นปัจจัยที่เร่งเร้าสถานการณ์ความมั่นคงในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือด้านบนให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หรือมีปัจจัยที่บีบให้ทุกฝ่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือด้านบนเข้ามาเล่นอยู่ในเกมของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัว หรืออาจจะนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชีย

 

“และโจทย์อีกโจทย์หนึ่งที่เรายังตอบได้ไม่ชัดคือ ถ้ามองจากพวกเราที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบในอนาคตถ้าหากเกาหลีเหนือเติบโตเป็นมหาอำนาจใหญ่ทางทหารเต็มที่มากขึ้น มีอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าที่เราเห็น จะมีนัยอะไรต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นนี้คงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูในอนาคต”

 

ภาพ: Mikhail Metzel / AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising