×

เจย์ หลิน เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ LGBT ในเอเชีย และการต่อสู้เพื่อสิทธิการแต่งงานของไต้หวัน

01.07.2019
  • LOADING...
Jay Lin

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้อง ทุกสายตาจากทั่วโลกล้วนจับจ้องพร้อมค้นหาถึงเบื้องหลังความสำเร็จในประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้ และก้าวต่อไปของสังคมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ของไต้หวัน

 

THE STANDARD POP มีโอกาสได้พูดคุยกับ เจย์ หลิน ชาวไต้หวัน-อเมริกัน วัย 45 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในเบื้องหลังแรงขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อความเท่าเทียมในไต้หวันจากบทบาทการเป็นซีอีโอของ GagaOOlala (บริการออนไลน์สตรีมมิงภาพยนตร์ LGBT) และบริษัท Portico Media, นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และคุณพ่อลูกสอง

ปีที่แล้วไต้หวันมีทีวีซีรีส์เกย์เรื่องแรกที่ออกอากาศช่วงเวลาไพรม์ไทม์ และตอนนี้ก็มีหลายช่องที่อยากจะลงทุนสร้างซีรีส์ที่มี LGBT เป็นตัวหลักของเรื่อง

จากคนเบื้องหลังสื่อสู่เทศกาลหนัง LGBT และบริการออนไลน์สตรีมมิงที่ได้ชื่อว่า The Gay Netflix of Asia 

 

 

แรงบันดาลใจในการสร้างเทศกาลหนัง LGBT 

ผมริเริ่มเทศกาลหนังนี้ตั้งแต่อายุประมาณ 39 ปี เหตุผลส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัวก็คือผมกำลังจะเข้าสู่วัย 40 และผมก็หาวิธีเพิ่มความหมายให้กับงานของผม เนื่องจากว่าผมทำงานในฐานะสื่อและผู้สร้างคอนเทนต์ สิ่งที่ผมนำมาเผยแพร่หลายๆ อย่างถูกจำกัด ทั้งๆ ที่ผมคิดว่าหลายๆ คนควรจะได้เห็น ผมจึงจัดเทศกาลนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงสิ่งเหล่านั้น ผมเคยทั้งไปร่วมงานและจัดงานเทศกาลหนังตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นผมรู้ว่าเทศกาลหนังเป็นสิ่งผมทำได้แน่ๆ ได้ทั้งการตอบแทนสังคมและเพิ่มความหมายให้กับสื่อที่จะถูกปล่อยออกไป นั่นคือจุดกำเนิดของเทศกาลหนังครั้งนี้ ปีนี้ Taiwan International Queer Film Festival ก็เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว

 

ตอนที่ผมเริ่มทำเทศกาลหนัง ผมไม่ได้คิดไปถึงการเริ่มทำ GagaOOLala เลยครับ หนทางใหม่ๆ จะเปิดขึ้นเองเมื่อเราเลือกที่จะเดินก้าวแรก ถ้าเราไม่เริ่มที่ก้าวแรก เราก็จะอยู่กับที่ และไม่รู้ว่าทางเดินข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง เพราะจากที่ผมทำเทศกาลหนังนี้มา ผมได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเทศกาลนี้ไม่ควรมีแค่ในไต้หวัน ยังมีอีกหลายที่ที่ควรจะเกิดขึ้น เช่น ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินเดียที่มีประชากรมากกว่าไต้หวันถึง 52 เท่า ไทย หรืออินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 2 ร้อยล้านคน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่ามาก แต่เขาไม่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์เหล่านี้ได้เลย อินเทอร์เน็ตทำให้ง่ายต่อการที่จะส่งคอนเทนต์ออกไปในวงกว้าง มันเลยง่ายที่ตอนนี้บริการขยายออกไปจนมีทั้งหมด 21 ประเทศแล้วครับ

 

โมเมนต์ประทับใจในฐานะผู้จัดเทศกาลหนัง LGBT

หนึ่งในช่วงเวลาโปรดของผมคือเมื่อตอนที่เราจัดงานปีแรก ผมพาพ่อกับแม่มาดูหนัง ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าพวกเขาจะมา เพราะผมก็มัวแต่ยุ่งอยู่กับการจัดงาน แล้วก็ยังไม่ได้สารภาพกับพ่อแม่เลย แต่พวกเขาก็มาและพาญาติกับเพื่อนบ้านมาด้วย ตอนนั้นผมรู้สึกตื้นตันมากเลยครับ เพราะนอกจากเขาจะยอมรับผมแล้ว เขายังเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นเดียวกันมีความภูมิใจในตัวลูกของตัวเองด้วยครับ ก็เหมือนครอบครัวเอเชียทั่วไปที่เราไม่ค่อยบอกรักกันเท่าไร แต่เราสื่อให้อีกฝ่ายรู้ด้วยการแสดงออกว่ารักพวกเขามากขนาดไหน 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์จะเป็นการเปิดตัว Asia Pacific Queer Film Festival Alliance เพราะเรากำลังเพิ่มคุณค่าในสิ่งที่เราทำให้เป็นมากกว่าแค่ฉายหนัง แต่ยังผสมความหลากหลายของวัฒนธรรมจากแต่ละประเทศเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ผมได้มีโอกาสร่วมสร้างครอบครัวนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โอกาส และหนังต่างๆ การได้เห็นครอบครัวนี้ใหญ่ขึ้นไปในหลายๆ ประเทศ และการนำหนังสั้นเข้ามาฉายจากทั่วเอเชียเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในการฉายหนัง LGBT ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ ครับ

 

การเปลี่ยนแปลงของเรื่องราวชาว LGBT ในพื้นที่สื่อภาพยนตร์-ซีรีส์ในไต้หวันและเอเชีย

หนึ่งในความสำเร็จของการจัดเทศกาลหนัง LGBT และ GagaOOLala คือการที่เราได้เห็นโปรแกรมที่มีความหลากหลายมากขึ้นจากโลกอินเทอร์เน็ต แล้วทำให้โลกของหนังและทีวีเปลี่ยนแปลงไปด้วย อินเทอร์เน็ตเป็นตัวเปิดทางเสมอครับ เพราะในอินเทอร์เน็ตไม่มีคณะผู้บริหารมาคอยบอกว่าใครห้ามทำอะไรหรือควรทำอะไร เป็นพื้นที่ที่คนสร้างคอนเทนต์ได้อย่างเสรี เราส่งเสริมให้ยูทูเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ใช้แพลตฟอร์มของเราสร้างคอนเทนต์ดีๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความหลากหลายและกระจายเสียงของพวกเราไปให้กว้างขึ้น เรายังทำโฆษณาที่มีตัวละครเกย์หรือเลสเบี้ยนเข้าไปด้วย 

 

สิ่งที่ตื่นเต้นกว่าคือในทีวี ปีที่แล้วไต้หวันมีทีวีซีรีส์เกย์เรื่องแรกที่ออกอากาศช่วงเวลาไพรม์ไทม์ และตอนนี้ก็มีหลายช่องที่อยากจะลงทุนสร้างซีรีส์ที่มี LGBT เป็นตัวหลักของเรื่อง ทางฝั่งหนังก็มีเพิ่มขึ้นเหมือนกันครับ อย่างเช่นปีที่แล้วเรามีหนังเรื่อง Dear Ex ที่ขึ้นไปถึงอันดับ 2 ของบ็อกซ์ออฟฟิศไต้หวัน หนังที่ดำเนินเรื่องด้วยตัวละคร LGBT แต่ก็ได้ใจคนดูหนังกระแสหลักไปเยอะเหมือนกันครับ แล้วก็มีหนังจากฮ่องกงชื่อ Tracey ที่มาฉายที่ไต้หวัน เห็นได้ชัดว่าจะมีหนังหรือสื่อที่เป็นภาษาจีนถูกผลิตเพิ่มมากขึ้นครับ 

 

หนัง LGBT ไต้หวัน 3 เรื่องที่แนะนำ

หนังที่ผมชอบตอนนี้คงต้องเป็น Dear Ex ครับ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มของเรา แต่อยู่บน Netflix และอีกเรื่องคือ Tale of the Lost Boys และล่าสุดคือหนังที่ชื่อว่า Bao Bao เกี่ยวกับสองคู่รักซึ่งเป็นคู่เกย์และคู่เลสเบี้ยน ซึ่งเรื่องนี้ถ่ายทำที่ลอนดอนและไต้หวัน 

 

หนัง LGBT เรื่องโปรดตลอดกาล

คำถามนี้ยากจังเลยครับ ถ้าให้ตอบก็คงต้องเป็นเรื่อง The Wedding Banquet เพราะผมดูได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อเลย ตอนนั้นไม่ค่อยมีหนังเอเชียที่เกี่ยวกับ LGBT โดยเฉพาะหนังที่ใช้ทุนสร้างสูง หรือหนังที่เล่าเรื่องการคุยเปิดอกกับครอบครัวและความต่างของวัฒนธรรม ผมว่าเรื่องนี้มันยังทันสมัยอยู่จนถึงทุกวันนี้เลยครับ 

 

ในอนาคตเมื่อลูกโตขึ้น คุณจะเลือกหนังเกี่ยวกับ LGBT เรื่องไหนให้ลูกดูเป็นเรื่องแรก

น่าจะเป็นสารคดีของออสเตรเลียชื่อ Gayby Baby หนังจะช่วยเขาตอบข้อสงสัยว่าทำไมมีพ่อสองคน แล้วทำไมเราจึงแตกต่างจากครอบครัวอื่น

ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวไต้หวันรู้สิทธิ์รู้เสียงของตัวเองมากขึ้น มีความเข้าใจในประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย และทางรัฐบาลก็ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเอง ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม

Jay Lin

 

ในฐานะผู้กำกับ ผู้จัดเทศกาลหนัง และผู้บริหารแพลตฟอร์ม อะไรคือก้าวต่อไปของคอนเทนต์ LGBT ในวงการสื่อและภาพยนตร์

เราต้องหาคอนเทนต์ที่เป็นของอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะที่เรากำลังจะเปิดตัวในภูมิภาคเอเชียใต้ 8 ประเทศ ที่เราอยากจะหาคือคอนเทนต์จากประเทศแถบนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนปาล ทิเบต อินเดีย และศรีลังกา รวมถึงคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับชาวมุสลิมมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้มีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวมุสลิมในโลก แม้ว่าเราต้องต่อสู้กับรัฐบาลบางประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่าเราไม่ควรกลัวการเซนเซอร์ เพราะต่อให้รัฐบาลจะตัดบริการเราออก เราก็จะหาที่ใหม่ที่จะแสดงตัวตนของเราออกมา

 

นอกเหนือจากนี้ก็คือการร่วมกันทำหนังระหว่างประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแค่ในเอเชียด้วยกันเท่านั้น อย่างตอนนี้เรากำลังต่อรองกับผู้กำกับชาวอาร์เจนตินาเพื่อให้เขามาถ่ายหนัง LGBT ที่ไต้หวัน หรือผู้กำกับชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ที่เยอรมนีให้ได้มาเห็นความน่าตื่นตาตื่นใจของที่นี่ 

ผมเชื่อสุดใจเลยว่าไต้หวันคือเมืองสวรรค์ของชาว LGBT ครับ เพราะว่ามีความปลอดภัยและความเท่าเทียมสูงสำหรับชาว LGBT พวกเขาไม่ถูกมองว่าเป็นประชากรชั้นสอง และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ

บทบาทของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียมที่ไม่ได้ตั้งตัว

 

Jay Lin

 

จากคนทำสื่อกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมได้อย่างไร

ผมพูดได้ว่าผมเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างไม่ได้ตั้งตัว (เจย์เล่าถึงข่าวความสูญเสียจากการฆ่าตัวตายของอาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้สูญเสียคู่ชีวิตซึ่งเป็นชายชาวไต้หวัน ซึ่งทำให้ประเด็นสิทธิการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกพูดถึงมากในไต้หวันในปี 2016) 

 

หลังจากนั้นทำให้เกิดการรวมตัวของคนจากหลายๆ กลุ่มในไต้หวันเพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนสิทธิในการแต่งงาน ซึ่งกลุ่ม LGBT นั้นต่อสู้เรื่องนี้มานานมากครับ และถึงแม้ว่าผมจะเหนื่อยจากการจัดเทศกาลหนังและการเลี้ยงลูก แต่ผมก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับมัน ไม่มีทางหนีมันได้ และนี่คือโอกาสดีที่เราจะส่งต่อข้อความนี้ออกไปเพื่อช่วยสนับสนุน LGBT และสิทธิในการแต่งงาน ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงกลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ออกมาสนับสนุนสิทธิในการแต่งงาน 

 

ผมพยายามนำแนวทางจากทั้งโลกธุรกิจและโลกสื่อเข้ามาเพื่อให้คนได้เห็นหลายๆ มุม นอกจากมุมมององค์กร LGBT ที่มีอยู่ เพราะงานของผมส่วนใหญ่จะต้องทำงานบนสื่อหลัก และผมใช้เครือข่ายที่ผมมีช่วยหาเงินสนับสนุนเรื่องนี้ ผมถึงไม่อยากเรียกตัวเองว่านักเคลื่อนไหวเท่าไร ผมมองว่าผมเป็นซีอีโอหรือนักธุรกิจที่สนับสนุนเรื่องนี้มากกว่า โดยใช้เรื่องราวส่วนตัวเป็นตัวอย่างในการเล่าเรื่องให้โลกได้เห็นว่าพวกเราต่อสู้หนักขนาดไหนเพื่อสิ่งนี้ แม้ว่าผมไม่อยากเอาเรื่องในครอบครัวตัวเองไปเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะบางทีผมก็โดนโจมตีด้วยเหมือนกัน เวลาอ่านคอมเมนต์ บางทีผมก็ยังสงสัยเลยว่าเขาพูดแบบนี้กับเด็กตัวแค่นี้ได้ยังไง แต่นี่เป็นสิ่งที่ผมเลือกไปแล้ว เพราะคนเราก็มีโอกาสใช้ชีวิต นี่ก็แค่ชีวิตหนึ่ง ซึ่งผมอยากใช้โอกาสที่มีสนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียมนี้ 

 

คุณคิดว่าอะไรเป็นตัวช่วยหลักในการทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ของชาว LGBT ในไต้หวันประสบความสำเร็จ

ผมคิดว่าเป็นการที่คนไต้หวันเชื่อว่าประชาชนเปลี่ยนสังคมของเขาได้ นั่นคือปัจจัยหลักเลยครับ เริ่มจากการที่ประชาชนชาวไต้หวันเห็นว่าสิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะการล่ารายชื่อหรือเดินขบวนนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวไต้หวันรู้สิทธิ์รู้เสียงของตัวเองมากขึ้น มีความเข้าใจในประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย และทางรัฐบาลก็ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเอง ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับฟังเสียงของประชาชนช่วงเลือกตั้งหรือการทำประชามติ และผมว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือความหวังที่ประชาชนมี แล้วอย่างอื่นจะตามมาเองครับ อย่าหมดหวังนะครับ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือประชาชนต้องเชื่อว่ารัฐบาลนั้นถูกเลือกมาทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่ในทางกลับกัน ความเชื่อเรื่องนี้สำคัญมากที่ทำให้ประชาชนไต้หวันใช้สิทธิ์และเสียงของพวกเขาได้เต็มที่ 

 

หลายคนมองว่ากรุงเทพฯ เป็น ‘สวรรค์ของ LGBT’ แล้วคุณมองว่าตอนนี้ไทเปสามารถเป็น ‘สวรรค์ของ LGBT’ แทนที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่

ผมไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ครับ แต่ถ้านับเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว ผมเชื่อสุดใจเลยว่าไต้หวันคือเมืองสวรรค์ของชาว LGBT ครับ เพราะว่ามีความปลอดภัยและความเท่าเทียมสูงสำหรับชาว LGBT พวกเขาไม่ถูกมองว่าเป็นประชากรชั้นสอง และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ

 

แต่ส่วนตัวก็มองว่ามีบางอย่างที่เมืองไทยมีและไต้หวันไม่มี เช่น ความสวยงามทางธรรมชาติ แสงสี ความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และกรุงเทพฯ เหมือนเป็นจุดศูนย์รวมของคนจากทุกประเทศ ซึ่งผมไม่คิดว่าไทเปจะสู้ได้เลยครับ 

 

ก้าวต่อไปของการต่อสู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBT ในไต้หวัน

สิทธิการแต่งงานของ LGBT ในตอนนี้ยังไม่เทียบเท่าสิทธิของคู่รักต่างเพศ ซึ่งมีสองปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวยังดำเนินต่อไป อย่างแรกคือคู่ของคุณต้องมาจาก 1 ใน 27 ประเทศที่มีกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้เท่านั้น ถ้าคู่ของคุณไม่ใช่คนไต้หวัน และปัจจัยที่สองคือคู่รัก LGBT ไม่สามารถรับเด็กมาเลี้ยงได้ ถ้าเด็กคนนั้นไม่ได้มีสายเลือดหรือเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณไม่สามารถไปรับเด็กจากบ้านเด็กกำพร้ามาเลี้ยงได้ ซึ่งในกรณีของผม ลูกแฝดของผมเกี่ยวข้องกับผมทางพันธุกรรม แฟนผมจึงรับเลี้ยงลูกของผมได้ 

 

ความสำคัญของครอบครัวสำหรับ เจย์ หลิน

 

Jay Lin

 

ก่อนที่คุณจะเปิดเผยตัวตน (coming out) กับพ่อแม่ในวัย 40 ปี เมื่อตอนคุณเด็กๆ พ่อกับแม่เคยตั้งคำถามในเพศสภาพของคุณหรือไม่

แน่นอนครับ พวกเขามีคำถามตลอดเลยล่ะครับ พวกเขาเคยพยายามหาแฟนผู้หญิงให้ผมด้วย แต่ภายหลังแม่ก็มาขอโทษผม เขาไม่รู้ว่าที่สิ่งที่เขาทำนั้นทำให้ผมรู้สึกอึดอัด แต่ผมบอกว่าไม่เป็นไร จริงๆ ผมควรจะมีความกล้ามากกว่านี้ที่จะบอกความจริงกับที่บ้าน แทนที่ผมจะปิดกั้นตัวเองและตีตัวออกห่างจากครอบครัว

 

คุณคิดว่าชีวิตจะแตกต่างไปจากนี้หรือเปล่าถ้าคุณเลือกที่จะเปิดตัวก่อนหน้านี้

ผมว่าเรื่องนี้นักธุรกิจหลายๆ คนคงเคยเจอเหมือนผม เวลาคุณเริ่มทำธุรกิจ ธุรกิจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ เพราะคุณไม่อยากล้มเหลว ที่ผ่านมาผมให้ความสนใจทั้งหมดไปกับการเริ่มธุรกิจและแก้อุปสรรคหลายๆ อย่าง จึงไม่มีเวลาที่จะไปจัดการกับเรื่องเปิดตัวให้ที่บ้านรับรู้ อีกอย่างคือผมอยากจะเปิดตัวเมื่อผมรู้สึกพร้อมและมั่นคง เขาจะได้ไม่เป็นห่วงว่าผมจะโดนสังคมกีดกันหรือเปล่า จะหางานได้ไหม หรือจะเครียดหรือเปล่า ผมไม่อยากให้เขาต้องเป็นห่วงผมครับ ผมเลยหันมาโฟกัสชีวิต ไม่ได้บอกให้เขารู้และต้องคอยเป็นห่วงผม

 

ส่วนพี่น้องผมทราบดีครับ พวกเขารู้ตั้งนานแล้วด้วย อันที่จริงแล้วพี่สาวผมเป็นคนเกริ่นกับพ่อแม่เองครับ 

 

คุณมีคำแนะนำสำหรับคนในวัยผู้ใหญ่ที่อยากจะเปิดเผยตัวตนกับที่บ้านหรือไม่

ผมก็พูดแทนใครไม่ได้หรอกนะครับ ผมว่าแต่ละคนก็มีหนทางการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถพูดได้คือ ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากเปิดตัวกับครอบครัวเร็วกว่านี้ ผมจะได้มีเวลาตัดสินใจว่าจะมีลูกเร็วกว่านี้ และไม่นานมานี้เองที่พ่อกับแม่ของผมเจอปัญหาสุขภาพ และผมรู้สึกว่าเวลาที่ผมจะได้อยู่กับพวกเขามีน้อยลง เพราะมัวแต่เอาเวลาไปผลักเขาออกห่าง ผมได้แต่หวังว่าผมจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขานานกว่านี้

 

คุณเริ่มคิดเรื่องการเป็นพ่อตั้งแต่เมื่อไร

ผมคิดว่าการเปิดธุรกิจก็เหมือนเลี้ยงลูกนะครับ ถ้าเราทำธุกิจของเราให้โตไม่ได้ เราก็ไม่ควรเลี้ยงเด็กที่ไหนครับ ผมรอให้ถึงวันที่บริษัทพออยู่ตัวก่อน และอีกอย่างคือผมถึงวัยที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะมีลูกตอนนี้หรือไม่มีลูกเลย เพราะว่าคุณจะแก่เกินไปที่จะเป็นผู้ปกครองที่แข็งแรงและเล่นกับลูกๆ ได้ นั่นแหละครับ ถ้าชีวิตการงานของผมไม่ได้อยู่ตัวพอที่จะมีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ผมก็คงยังต้องทุ่มเวลาไปกับงานจนไม่มีเวลาได้คิดเรื่องอื่นครับ

 

ในตอนนี้ลูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมครับ เมื่อก่อนความสำคัญจะอยู่ที่งาน ตัวผมเอง แฟนของผม หรือพ่อกับแม่ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อผมมีลูก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพื่อนผมชวนออกไปเที่ยว ผมก็กลับมาคิดๆ ดูแล้วว่าผมไม่ได้ไปบาร์หรือผับมาหลายปีแล้ว ผมแค่ไม่ได้รู้สึกอยากจะไปแล้วเท่าไร สิ่งที่ผมให้ความสำคัญตอนนี้คือการจัดการเวลาเพื่อจะมีเวลาอยู่กับลูกนานๆ ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะเลยครับ แต่มันช่วยให้ผมทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยครับ 

 

 

เรื่องราวของครอบครัวของเจย์ หลิน และลูกแฝดที่มาจากการอุ้มบุญนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดี Queer Taiwan ที่เล่าเรื่องชีวิต LGBT ไต้หวันในหลากหลายแง่มุม

 

ในฐานะผู้ปกครองที่เป็นเกย์ คุณเคยรู้สึกกลัวคนโลกแคบที่ต่อต้าน LGBT ในสังคมหรือเปล่า

หนึ่งในเหตุผลที่ผมทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้เพราะผมกลัวเรื่องนี้ และอยากทำให้สังคมดีขึ้นในระดับบุคคล ผมเหมือนต้องเปิดตัวทุกวัน เพราะเวลาออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะนั่งแท็กซี่หรือไปซื้อของแล้วคนเห็นว่าเด็กมีพ่อสองคนก็จะเกิดคำถามตลอด บางทีมันก็แอบเหนื่อยเหมือนกันครับ แต่ผมก็เข้าใจว่านี่คือวิธีที่จะเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกัน การที่ได้เห็นครอบครัวเกย์จริงๆ ในสังคมมันจะทำให้คนเริ่มเปิดใจยอมรับมากขึ้น อีกอย่างคือตอนผมไปโรงเรียนอนุบาล ผมต้องแน่ใจว่าคุณครูทุกคนใจดี และผูกมิตรกับครูและผู้ปกครองท่านอื่นไว้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครกีดกันลูกๆ ของผม

 

ประสบการณ์สังคมในโรงเรียนของลูกเป็นอย่างไร เคยมีเหตุการณ์ที่ถูกกลั่นแกล้งหรือเปล่า

ยังไม่มีเลยครับ เพราะพวกเขาแค่ 3 ขวบ และเพิ่งเข้าเรียนได้ประมาณ 3 เดือนเอง 


แต่หลังๆ มาคำว่า ‘แม่’ ถูกใช้บ่อยขึ้นที่บ้าน เพราะเขาเห็นแม่คนอื่นมาส่งลูกๆ และแน่นอนว่าที่บ้านผมไม่มีแม่ ประเด็นนี้จึงกลายเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจที่บ้าน ซึ่งพวกเราก็บอกเขาว่าถึงจะไม่มีแม่ แต่ก็มีพ่อทั้งสองคนและมีพี่เลี้ยงที่ดูแลพวกเขา และบอกว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีพ่อและแม่ทั้งคู่ คู่เลสเบี้ยนก็มี คู่เกย์ก็มี พวกเขาก็เห็นตัวอย่างของครอบครัวอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย พวกเขาจึงไม่รู้สึกแปลกเท่าไร

 

คุณรู้สึกอย่างไรที่ตอนนี้กฎหมายการแต่งงานได้เกิดขึ้นแล้วลูกๆ ของคุณได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คุณรู้สึกแตกต่างไปจากตอนก่อนที่กฎหมายนี้จะออกหรือไม่

ส่วนนั้นยังเหมือนเดิมครับ ผมก็ยังคงดูแลลูกผมเหมือนเดิม ไปรับไปส่ง หาอาหารมาให้พวกเขา พาพวกเขาไปอาบน้ำ ใช้เวลาร่วมกับพวกเขา แต่ก็แน่นอนว่าผมรู้สึกมั่นใจมากขึ้นครับ เพราะความสัมพันธ์ของเรามีกฎหมายคุ้มครองและรัฐบาลยอมรับ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยครับ มันทำให้ผมรู้สึกมั่นคงมากขึ้น กล้าขึ้น แล้วก็แคร์คนมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • GagaOOlala คือบริการออนไลน์สตรีมมิงภาพยนตร์ LGBT ที่มีภาพยนตร์ ซีรีส์สารคดี และรายการออริจินัลเกี่ยวกับ LGBT มากกว่า 1,000 เรื่อง (ซับไตเติล 2 ภาษา: ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน) เปิดบริการตั้งแต่ปี 2014 โดยมีพื้นที่ให้บริการในเอเชีย และปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 2 แสนราย 
  • รูปแบบสมาชิกมี 2 ประเภท ได้แก่ ฟรี สามารถชมได้เฉพาะฟรีคอนเทนต์เท่านั้น และวีไอพี ซึ่งเสียค่าบริการเดือนละ 6.99 เหรียญสหรัฐ
  • ทาง GagaOOLala มีโค้ดพิเศษสำหรับผู้อ่าน 19TAIWANINTHAI เพื่อรับสิทธิสมาชิกวีไอพีฟรี 3 วัน (ใช้ได้ถึง 31 สิงหาคม 2562)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising