×

วัลลภมั่นใจ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านทัน สว. ชุดนี้ ยืนยันไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติแน่นอน

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (5 เมษายน) ที่รัฐสภา วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วุฒิสภา เปิดเผยถึงกรอบเวลาในการพิจารณาว่าขณะที่ร่างดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทางกรรมาธิการหลายคณะได้ศึกษาล่วงหน้าในร่างที่เทียบเคียงกัน อาทิ พ.ร.บ.สัญชาติ, พ.ร.บ.อุ้มบุญ, พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.รับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวุฒิสภาบรรจุเข้าสู่ที่ประชุม ส่วนตัวก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านได้ง่าย แต่หลังจากฟังสมาชิกอภิปรายจึงมั่นใจได้ว่าวุฒิสมาชิกเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ จึงมีมติผ่านวาระที่ 1 จากนั้นได้มีการนัดประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายน รวมถึงได้แต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชนในตำแหน่งทุกระดับ

 

โดยกรรมาธิการฯ จะเร่งประชุมให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม มีการนัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ในรายละเอียดก็ไม่น่าจะมีปัญหา รอเพียงแต่ผู้แปรญัตติซึ่งให้กรอบเวลาไว้ 7 วัน โดยจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เพื่อในเดือนมิถุนายนจะได้ตรวจสอบรายละเอียดโดยถี่ถ้วน พร้อมยืนยันว่าขั้นตอนในวุฒิสภาเสร็จก่อนเวลาเปิดประชุมวุฒิสภาแน่นอน

 

ส่วนจะทันในวาระของ สว. ชุดนี้หรือไม่นั้น วัลลภกล่าวว่า คำว่าทันคือภายใต้เงื่อนไขกำหนดเวลาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เราสามารถเปิดประชุมสมัยหน้า 3-4 วันเท่านั้น เมื่อเปิดจะขอประธานวุฒิสภานำกฎหมายเพื่อเข้าพิจารณาทันที หากไม่มีแก้มาก เชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่าที่ดูไม่น่าจะมีการแก้อะไรมาก เพราะไม่มีหลักอะไรที่ยาก นอกจากมีความเป็นห่วงว่ากฎหมายจะแก้ทันหรือไม่ ซึ่งได้ปลดล็อกไว้แล้วว่าหากไม่ทันให้รายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในแง่ของเจ้ากระทรวงนั้นๆ

 

ขณะที่ทาง สว. ยังมีความเป็นห่วงเรื่องอายุและศาสนาจะเป็นปัญหาหรือไม่ วัลลภกล่าวว่า ร่างเดิมกำหนดอายุไว้ที่ 17 ปี แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เกณฑ์จาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นฐานกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากใช้เกณฑ์อายุ 18 ปีจะเป็นสิทธิที่คุ้มครองเด็กโดยอัตโนมัติอยู่แล้วจำเป็นต้องขยับอายุขึ้นหรือลง ไม่เป็นปัญหาเพราะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนเรื่องของศาสนาในกฎหมายไม่ได้บังคับศาสนาใด แต่ละศาสนาก็ปฏิบัติตามภารกิจของท่านไปตามดุลพินิจ ไม่มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ

 

วัลลภยังระบุว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องของการทิ้งทวนของ สว. ชุดนี้ และส่วนตัวได้รอกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด ครั้งที่กฎหมายถูกตีตกไปก็เสียใจ หากวุฒิสภาพิจารณาไม่ทันก็จะเสียคน อะไรที่ยอมได้ก็ต้องยอม ไม่มีอะไรในโลก 100% ได้สัก 80% ก็ถือว่าสุดยอดในเอเชียแล้ว แต่เป็นกฎหมายมาถึงมือเราช้ามาก ซึ่งก็ได้เร่งรัดมาโดยตลอด

 

“ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านทัน สว. ชุดนี้แน่นอน ไม่มีปัญหา ไม่ใช่กฎหมายที่ยาก เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ ตัวบทไม่มีอะไรยาก เป็นเพียงการแก้ประโยค สามี ภรรยา เป็นคู่สมรส แก้ชาย หญิง เป็นบุคคล เป็นเพียงการแก้ถ้อยคำเท่านั้นเอง” วัลลภระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising