×

จับตาปมพิพาทดินแดนกายอานา-เวเนซุเอลา หลังสหราชอาณาจักรเตรียมส่งเรือรบช่วยอดีตอาณานิคม

25.12.2023
  • LOADING...

พื้นที่แถบลาตินอเมริกากลับมาอยู่ในห้วงความสนใจของสื่อหลายสำนักอีกครั้ง หลังสหราชอาณาจักรเตรียมส่งเรือรบช่วยเหลืออดีตอาณานิคมอย่าง ‘กายอานา’ ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวเนซุเอลา โดยมีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนส่วนหนึ่งของกายอานาซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันและแร่ธาตุสำคัญ 

 

ท่าทีดังกล่าวของสหราชอาณาจักรเป็นไปเพื่อสนับสนุนทางการทูตและทางการทหารต่อกายอานา หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า บริติชกีอานา ซึ่งเป็นสมาชิกเครือจักรภพเพียงประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่พูดและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ 

 

เรือรบสหราชอาณาจักร HMS Trent

 

สหราชอาณาจักรเตรียมส่งเรือตรวจการณ์ HMS Trent ไปทอดสมอนอกกรุงจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของกายอานาในช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะร่วมทำกิจกรรมทางทหารกับกองทัพกายอานาและประเทศพันธมิตรอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ ซึ่งเดิมที HMS Trent เป็นเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่งที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้ลักลอบขนยาเสพติดบริเวณแถบแคริบเบียน 

 

เรือรบลำนี้มีลูกเรือประจำการ 65 คน มีความเร็วสูงสุด 24 นอต หรือประมาณ 43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมติดตั้งปืนใหญ่และอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการรบ ทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินไร้คนขับได้อีกด้วย 

 

คำสั่งให้เตรียมส่งเรือรบมายังกายอานาเกิดขึ้นหลังจากที่ เดวิด รัตลีย์ รัฐมนตรีด้านการต่างประเทศที่ดูแลกิจการและความสัมพันธ์แถบแคริบเบียนและดินแดนโพ้นทะเล ได้เดินทางเยือนกรุงจอร์จทาวน์ของกายอานา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการปกป้องอธิปไตยของกายอานา

 

ดินแดนพิพาท ‘เอสเซกิโบ’

 

เวเนซุเอลาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือภูมิภาค ‘เอสเซกิโบ’ (Essequibo) ของกายอานามาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งโต้แย้งการขีดเส้นแบ่งพรมแดนตามข้อตกลงระหว่างประเทศเมื่อปี 1899 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกายอานาและเวเนซุเอลา โดยเฉพาะในมิติของดินแดนแห่งนี้ตึงเครียดเรื่อยมา

 

ในปัจจุบันภูมิภาคเอสเซกิโบซึ่งมีพื้นที่ราว 1.6 แสนตารางกิโลเมตร ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกายอานา แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวเนซุเอลาพยายามที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนี้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันและแร่ธาตุต่างๆ ในดินแดนดังกล่าว

 

ก่อนที่นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา จะประกาศจัดลงประชามติเกี่ยวกับภูมิภาคเอสเซกิโบเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ โดยมีชาวเวเนซุเอลาราว 10.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 51% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั่วทั้งประเทศออกมาลงประชามติ ซึ่งส่วนใหญ่ ‘เห็นชอบ’ ต่อการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว

 

แม้ผลประชามติดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ขณะที่มาดูโร และ อีร์ฟาน อาลี ประธานาธิบดีกายอานา ได้บรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา แต่กระนั้นสถานการณ์โดยรวมระหว่างสองประเทศนี้ก็กลับมาตึงเครียดกันอีกระลอก

 

ท่าทีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และฝ่ายต่างๆ

 

หลังจากที่มีการประกาศผลประชามติดังกล่าว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ประกาศเตือนไม่ให้เวเนซุเอลากระทำการใดๆ เพื่อผนวกรวมภูมิภาคเอสเซกิโบของกายอานาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน เพราะอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา 

 

ทางด้านเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุว่า “สหราชอาณาจักรจะประสานความร่วมมือกับพันธมิตรภายในภูมิภาคนี้ต่อไป เพื่อสร้างหลักประกันว่าบูรณภาพแห่งดินแดนของกายอานาจะได้รับการเคารพและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย”

 

ขณะที่ อีวาน กิล รัฐมนตรีต่างประเทศเวเนซุเอลา ชี้ว่า การเดินทางเยือนกายอานาของรัตลีย์ รวมถึงการส่งเรือรบมายังพื้นที่แถบนี้ “ถือเป็นการสั่นคลอนความมั่นคงของภูมิภาคนี้”

 

ส่วน วลาดิเมียร์ ปาดริโน รัฐมนตรีกลาโหมเวเนซุเอลา ระบุว่า “เวเนซุเอลาจะยังคงเฝ้าระวังท่ามกลางการยั่วยุต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงของแคริบเบียน รวมถึงทวีปอเมริกาของเรา” 

 

หลายฝ่ายมองว่าท่าทีที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจกำลังคุกคามข้อตกลงที่ผู้นำของทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา หลังมีการเจรจาหารือกันที่เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

ยังมีความพยายามที่จะอธิบายว่า นอกจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์แล้ว ปัจจัยด้านวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เวเนซุเอลากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอาจเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เวเนซุเอลาต้องการที่จะผนวกรวมเอสเซกิโบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ในฐานะแหล่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่จะมาช่วยต่อลมหายใจให้กับประเทศแห่งนี้

 

หลายฝ่ายกังวลว่า หากเวเนซุเอลาตัดสินใจใช้กำลังรุกรานและผนวกภูมิภาคเอสเซกิโบของกายอานา อาจจุดชนวนให้เกิดสงครามระหว่างรัฐเป็นครั้งแรกในอเมริกาใต้ในรอบ 40 กว่าปี นับตั้งแต่กรณีพิพาทหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ระหว่างสหราชอาณาจักรและอาร์เจนตินา เมื่อปี 1982

 

แฟ้มภาพ: Andrew Matthews / PA Images via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising