×

เปิดสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดเงินเหลือ 1.1 หมื่นล้านบาท อาจต้อง ‘กู้เพิ่ม’ เพื่อรับมือความเสี่ยงราคาพลังงานขาขึ้น

04.10.2021
  • LOADING...
fuel fund

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกสำคัญในการรักษาสมดุลราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้ผันผวนจนกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนสินค้ามากจนเกินไป ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับภาระหนักในการควักเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อพยุงไม่ให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นไปมากนัก 

 

ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบ้านเรายังต้องทำหน้าที่อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซหุงต้ม (LPG) ด้วย ซึ่งไม่ได้ทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ทำมายาวติดต่อกันหลายปีแล้ว 

 

สำหรับในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนหลังเผชิญวิกฤตโควิด รวมไปถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก ประกอบกับปัญหาพายุในสหรัฐฯ ทำให้การผลิตน้ำมันบางส่วนต้องหยุดชะงักลง และที่สำคัญกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันจึงอยู่ในทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน 

 

โดย ณ วันที่ 17 กันยายน 2564 น้ำมันดิบดูไบแตะ 73.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนท์ 75.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเวสต์เท็กซัส 71.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเอทานอลและไบโอดีเซลก็มีราคาสูงเหมือนกัน ในขณะที่ Goldman Sachs เองก็ออกมาคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้มีโอกาสพุ่งขึ้นแตะระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

ขณะที่ LPG ตลาดโลกก็พุ่งตามๆ กัน เฉลี่ยทั้งปี 2564 ปรับสูงกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน จากราคาเฉลี่ยปกติประมาณ 300-400 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศมีสภาพอากาศหนาวที่ยาวนานมากขึ้น ความต้องการใช้ LPG จึงพุ่งสูงตาม รวมถึงมีการใช้มากขึ้นในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตพลาสติก เป็นต้น 

 

ที่ผ่านมาในส่วนของน้ำมันยังใช้วิธีเฉลี่ยราคาได้ตามจังหวะราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นลง แต่สำหรับ LPG แล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะปรับราคา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ล่าสุด กบง. มีมติขยายเวลาการตรึงราคาต่อไปอีกถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 

 

มากไปกว่านั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังพุ่งต่อเนื่องไม่หยุด หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องเข้าตรึงราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) เพราะหากปล่อยให้ราคาพุ่งทะลุระดับ 30 บาทต่อลิตรเมื่อไร มักจะมีประเด็นให้รัฐบาลถูกโจมตี ดังนั้น ตัวเลขราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จึงถือเป็นเส้นอันตรายทางการเมืองไปแล้ว 

 

การปล่อยให้ราคาพลังงานในบ้านเราปรับตัวเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็น ดังนั้น ‘เงินกองทุนน้ำมัน’ จึงมีแต่จะไหลออก ซึ่งการอุดหนุนในเวลานี้ตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนขึ้นมาอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย 

 

แบ่งเป็นการอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 2.28 บาท, E85 ลิตรละ 7.13 บาท, ดีเซล B10​ ชดเชยอยู่ที่ลิตร 2.50 บาท และดีเซล B20 ชดเชยอยู่ที่ลิตรละ 4.16 บาทต่อลิตร และตรึง LPG ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งจะทำต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565

 

ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิ ณ วันที่ 19 กันยายน 2564 อยู่ที่ 11,857 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของน้ำมัน 29,040 ล้านบาท และ LPG ซึ่งติดลบ 17,183 ล้านบาท 

 

ล่าสุดกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่า ด้วยสถานะเงินกองทุนที่มีอยู่ เทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ดูแล้วคงไปไม่รอด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จึงอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางขอกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม วงเงินตามกรอบไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเวลานี้มีแต่จะหร่อยหรอลงเรื่อยๆ และระดับเงินกองทุนในปัจจุบันก็คงไม่สามารถชดเชยราคาไปได้จนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น การเติมเงินเข้ากองทุนผ่านการกู้ยืมจึงน่าจะเป็นทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising