×

กล้าไหมที่จะลองเป็นคนตาบอดหรือหูหนวกสักครั้ง? ซื้อประสบการณ์เพื่อเข้าใจคนพิการกับ Dialogue SE

07.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Dialogue Social Enterprise คือกิจการเพื่อสังคมระดับโลกที่ ‘คิดต่าง’ ในการจำลองสถานการณ์ในชีวิตประจำวันจริงๆ ของคนพิการทางสายตาและทางการได้ยิน เพื่อให้เรารับรู้ เข้าใจ และลดช่องว่างระหว่างกัน
  • ในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นนิทรรศการ Dialogue in the Dark ได้ 25 แห่งทั่วโลก เช่น เมลเบิร์น, เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง, โตเกียว, เวียนนา, มิลาน, บัวโนสไอเรส รวมถึงกรุงเทพฯ
  • ด้วยความสำเร็จของ Dialogue in the Dark บริษัทได้เพิ่มนิทรรศการ Dialogue in Silence นำเสนอโลกความเงียบสนิท เพื่อให้คนดูเข้าใจคนพิการด้านการได้ยินและด้านการพูด ผู้ชมจะใส่ที่ปิดหูแบบไม่ได้ยินเสียง ห้ามพูดคุย และต้องสื่อสารกันโดยไม่ใช้เสียง

เราทุกคนรู้ว่าคนพิการทางสายตาและการได้ยินมีอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตมากมาย แต่เรารู้จักและเข้าใจพวกเขาดีสักแค่ไหน

 

การช่วยจูงคนตาบอดข้ามถนนหรือเห็นคนใช้ภาษามืออาจจะทำให้เราเข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น แต่ถ้าเราได้ ‘ลอง’ เป็นพวกเขาสักครั้งล่ะ เราน่าจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งกว่า

 

 

และนี่คือที่มาของ Dialogue Social Enterprise (DSE) กิจการเพื่อสังคมระดับโลกที่ ‘คิดต่าง’ ในการจำลองสถานการณ์ในชีวิตประจำวันจริงๆ ของคนพิการทางสายตาและทางการได้ยิน เพื่อให้เรารับรู้ เข้าใจ และลดช่องว่างระหว่างกัน เพื่อให้เราอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมได้มากขึ้น

 

ก่อนจะเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ขยายแฟรนไชส์ไป 40 ประเทศทั่วโลกและสร้างรายได้ 900,000 ยูโรต่อปี (ประมาณ 36 ล้านบาท – ข้อมูลปี 2016) DSE มีจุดกำเนิดจากความบังเอิญใน ค.ศ. 1985 เมื่อ แอนเดรียส ไฮเนคเก (Dr.Andreas Heinecke) นักข่าวชาวเยอรมันได้รับมอบหมายให้ดูแลเพื่อนใหม่ในทีม ซึ่งอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากสูญเสียความสามารถในการมองเห็นจากอุบัติเหตุ เขาไม่รู้จะให้งานอะไรทำ เพราะไม่เคยทำงานร่วมกับคนตาบอดมาก่อน

 

 

การพบกันครั้งแรกทำให้แอนเดรียสเปลี่ยนทัศนคติเรื่องข้อจำกัด การปรับตัว และการดำรงชีวิตประจำวันของคนตาบอด เขาเคยคิดว่าการสูญเสียดวงตาคงเหมือนการสูญเสียคุณค่ายิ่งใหญ่ในชีวิตไป ชีวิตคงเศร้าและแย่มาก การกินข้าว รินกาแฟ เดินขึ้นบันไดคงเป็นความยากลำบาก แต่เมื่อพบกับเพื่อนในทีม ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม แอนเดรียสยอมรับว่าเขามีมายาคติของตนเอง ดูถูกความสามารถและความคิดบวกของคนพิการ

 

 

แอนเดรียสจึงนำบทเรียนดังกล่าวมาสร้างสถานการณ์จำลองในความมืด เพื่อให้คนอื่นลองทำความเข้าใจประสบการณ์ของคนที่มองไม่เห็น และเสนอไอเดียนี้เพื่อทำเป็นงานนิทรรศการ โดยเริ่มต้นที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ก่อนจะกลายเป็นนิทรรศการในความมืด Dialogue in the Dark ในปี 1992 ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และนำไปจัดแสดงผ่านรูปแบบแฟรนไชส์ในหลายเมืองใหญ่

 

 

ในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นนิทรรศการ Dialogue in the Dark ได้ 25 แห่งทั่วโลก เช่น เมลเบิร์น, เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง, โตเกียว, เวียนนา, มิลาน, บัวโนสไอเรส รวมถึงกรุงเทพฯ (ณ อาคารจามจุรีสแควร์ ปทุมวัน)

 

 

ผู้ชมของนิทรรศการ Dialogue in the Dark จะใช้เวลา 90 นาทีในสถานที่มืดสนิทที่จำลองเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยจะใช้ไม้เท้าขาวที่คนตาบอดใช้เป็นตัวช่วยในการเดินทาง เช่น เข้าไปนั่งในร้านกาแฟ ข้ามถนน ลงเรือ เข้าสวนสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งนิทรรศการในแต่ละประเทศจะมีการปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นจริง ผู้ชมจะมีไกด์หรือคนนำทางเป็นคนพิการทางสายตา (ที่จะเดินในนิทรรศการได้คล่องแคล่วและเร็วกว่าคนสายตาปกติมาก)

 

 

นิทรรศการไม่เพียงสร้างความท้าทายเรื่องข้อจำกัดของการมองไม่เห็นเท่านั้น แต่ยังให้ความสนุกกับการกระตุ้นให้ผู้ชมใช้ประสาทสัมผัสด้านอื่นมากขึ้น เช่น การรับรู้ผ่านเสียง กลิ่น และสัมผัส

 

แนวคิดของนิทรรศการ Dialogue in the Dark ได้ขยายรูปแบบไปสู่การจัดเวิร์กช็อปให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม รวมไปถึงร้านอาหารในความมืด ในปี 2016 นิทรรศการนี้ต้อนรับผู้ชมประมาณ 590,000 คน จ้างงานคนพิการทางสายตากว่า 500 คน

 

 

ด้วยความสำเร็จของ Dialogue in the Dark บริษัทได้เพิ่มนิทรรศการ Dialogue in Silence นำเสนอโลกความเงียบสนิทเพื่อให้คนดูเข้าใจการใช้ชีวิตของคนพิการด้านการได้ยินและด้านการพูด ผู้ชมนิทรรศการจะใส่ที่ปิดหูแบบไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ห้ามมีการพูดคุย และต้องผ่านสถานการณ์ที่ทำให้ต้องสื่อสารกันโดยไม่ใช้เสียง เช่น ใช้มือและสีหน้า

 

 

ไกด์ที่จะนำทางผู้ชมก็เป็นผู้พิการทางการพูดและการได้ยิน นิทรรศการนี้มีใน 5 เมืองทั่วโลก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้, โตเกียว, ฮัมบูร์ก, โฮลอน และอิสตันบูล

 

 

และเมื่อเร็วๆ นี้ DSE ก็มีนิทรรศการใหม่ล่าสุดที่ออกมาเพื่อการสร้างความเข้าใจและรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเป็นกระแสสำคัญของโลก นิทรรศการ Dialogue with Time อยากให้คนดูยอมรับและเปิดใจรับความชรา ทำความคุ้นเคยกับอุปสรรคต่างๆ ที่มาพร้อมการเป็นผู้สูงอายุและเข้าใจสภาพร่างกายที่แปรเปลี่ยน ไกด์ของนิทรรศการเป็นผู้สูงอายุที่จะแบ่งปันเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขากับผู้ชม นิทรรศการนี้จัดแสดงที่สิงคโปร์, ฮัมบูร์ก, โฮลอน และเซาเปาโล

 

ผู้ชมของ DSE ทั่วโลกมักพูดถึงประสบการณ์ผ่านนิทรรศการหรือเวิร์กช็อปขององค์กรว่า ‘น่าทึ่ง’ และเปลี่ยนมุมมองของพวกเขาต่อคนพิการ ทั้งด้านความสามารถ ความคิดบวก และการใช้ชีวิตของพวกเขาในแต่ละวัน

 

 

แอนเดรียสกล่าวว่า “ปัญหาใหญ่ไม่ใช่การที่พวกเราต้อง ‘บริการ’ คนพิการทางสายตามากขึ้น แต่คือการลดช่องว่างระหว่างคนที่ตาบอดกับคนที่ไม่ได้ตาบอด” ความเข้าใจที่ไม่มากพอ มายาคติ ความสงสารบางแบบที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว และการสร้างสังคมที่ไม่ได้คิดเผื่อคนพิการหรือคนมีข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้พวกเขาไม่ได้ถูก ‘รวม’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง

 

 

ในแง่ธุรกิจ โมเดลการทำนิทรรศการของแอนเดรียสอาจไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เขาเชื่อว่าความ ‘คิดต่าง’ ของเขาทำให้สิ่งที่ดูเหมือนขายไม่ได้กลับขายได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนใครจะอยากซื้อประสบการณ์ความมืด หรืออยากจะจ้างงานคนพิการทางสายตา แต่เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ มีคุณค่า และหาเงินได้ รวมทั้งสร้างคุณค่าทางสังคมให้คนเข้าใจปัญหานี้ได้ดีขึ้น

 

พร้อมๆ กับเปิดโอกาสในการทำงานแก่คนพิการเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งนี่ล่ะที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน และเปิดประตูสู่โอกาสอื่นๆ แก่พวกเขาต่อไปในสังคม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising