×

‘เราไม่ได้หยุดวิ่ง เราแค่ค่อยๆ เดิน’ ซี.พี.แลนด์ ชะลอการลงทุนรวม หันไปโฟกัสขยายโรงแรมขนาดเล็ก 5-10 แห่ง และเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม

30.11.2020
  • LOADING...
‘เราไม่ได้หยุดวิ่ง เราแค่ค่อยๆ เดิน’ ซี.พี.แลนด์ ชะลอการลงทุนรวม หันไปโฟกัสขยายโรงแรมขนาดเล็ก 5-10 แห่ง และเดินหน้านิคมอุตสาหกรรม

หลังจากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ‘ซี.พี.แลนด์’ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ ติดสปีดธุรกิจด้วยการใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทสำหรับขยายธุรกิจ ทว่าผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ ซี.พี.แลนด์ ตัดสินใจแตะเบรกการลงทุน

 

“ที่ผ่านมาเราขยายอย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกมุมหนึ่งก็สามารถฆ่าตัวเองได้เช่นกัน ดังนั้นจากที่เราเคยวิ่งมาตลอด เราก็จะชะลอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุด แต่เราจะค่อยๆ เดินมากกว่า” สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

แม่ทัพใหญ่ ซี.พี.แลนด์ ฉายภาพว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ในกรุงเทพ อย่างโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ซึ่งเดิมฐานลูกค้ากว่า 85-90% เป็นลูกค้าสายการบิน เมื่อไม่สามารถเปิดประเทศได้ ลูกค้ากลุ่มนี้จึงหายไปหมด

 

ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในปี 2563 มีทั้งหมด 14 แห่ง ประมาณ 2,000 ห้อง กระจายอยู่ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่โรงแรม 2-5 ดาว โดยกลุ่มโรงแรมในต่างจังหวัดเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เนื่องจากมีฐานลูกค้าหลัก 90-95% เป็นคนไทยที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวกันอีกครั้ง รวมถึงได้รับอานิสงส์จากการประชุมและสัมมนาของภาครัฐ 

 

ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งมีนับ 10 โครงการ พื้นที่ 5 แสนตารางเมตร แม้ว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเช่า แต่เทรนด์ที่พบวันนี้คือ เมื่อพนักงานทำงานจากที่บ้าน บริษัทเหล่านี้จึงลดขนาดพื้นที่ลง บางส่วนจึงคืนพื้นที่เช่า ด้านธุรกิจรีเทลได้ยกเว้นค่าเช่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจคอนโดมิเนียมพบว่า มียอดปฏิเสธสินเชื่อมากกว่า 30% ด้วยกัน

 

ดังนั้น “เราคาดว่ารายได้ในปี 2563 จะลดลงมากกว่า 50%” แม่ทัพใหญ่ ซี.พี.แลนด์ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ซี.พี.แลนด์ เราก็เหมือนกับคนอื่น ปี 2563 ไม่ได้เป็นที่ดีของเราสักเท่าไร ปีที่ดีของเราเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ดังนั้นในช่วงนี้เราจึงต้องพยุงตัวเองไปพร้อมกับช่วยเหลือคู่ค้า อะไรที่จะประหยัดได้ก็จะประหยัด”

 

สุนทรประเมินว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2564 อาจทรุดมากกว่าปี 2563 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวปลายปี 2565

 

ในช่วงที่รอเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซี.พี.แลนด์ จะชะลอการลงทุนไปก่อน ซึ่งภาพที่ชะลอได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีนี้แล้ว โดยมีการเปิดโรงแรมเพียงแค่ 2 แห่ง ซึ่งแห่งแรกคือ โรงแรมฟอร์จูน แสงจันทร์ บีช ระยอง เป็นโรงแรม 4 ดาว ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ ใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 107 ห้อง เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา และอีกแห่งคือ โรงแรม เดอะ คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่ มูลค่า 150 ล้านบาท จำนวน 62 ห้อง คาดจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้

 

สำหรับปี 2564 ซี.พี.แลนด์ วางแผนที่จะเปิดโรงแรมขนาดเล็ก 2-3 ดาว อย่างน้อย 5 แห่ง และหากเป็นไปได้อาจจะขยายเป็น 10 แห่ง ใช้งบลงทุนแห่งละ 100 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบเดียวกันหมด จึงจะประหยัดงบในแง่ของการก่อสร้าง ทำเลที่ขยายจะเน้นจังหวัดท่องเที่ยว การค้าชายแดน และแหล่งอุตสาหกรรม โดยจะโฟกัสลงทุนในโรงแรมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป มีรูปแบบการท่องเที่ยวแบบไลฟ์สไล์มากขึ้น 

 

อีกโครงการที่จะเดินหน้าลงทุนต่อคือ ‘โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี’ ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นการลงทุนระหว่างบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (รัฐวิสาหกิจจากมณฑลหนานหนิง ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่) ซึ่งซี.พี.แลนด์ ถือหุ้น 50% กว่างซี คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 48% ที่เหลือ 2% เป็นบริษัทที่อยู่ในไทย

 

ตัวนิคมอุตสาหกรรมได้เริ่มเดินหน้ามา 2 ปีแล้ว สำหรับพื้นที่มีทั้งหมด 3,068 ไร่ หากนับนิคมอุตสาหกรรมใหม่ถือว่ามีขนาดใหญ่ เพราะส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ราว 1,000 ไร่ ด้วยที่ดินขนาดใหญ่ หายาก และราคาแพงมากขึ้น โดยพื้นที่ทั้งหมดของนิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซีแบ่งออกเป็น 80 แปลงด้วยกัน มีทั้งขายขาดและให้เช่าระยะยาว 10 ปีขึ้นไป สำหรับขายขาดจะอยู่ที่ราคา 4-4.5 ล้านบาท โดยรวมแล้วมีมูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท

 

การลงทุนจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เบื้องต้นลงทุนเฟสแรก 2 พันล้านบาท สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 90% คาดจะเป็นช่วงไตรมาส 1 ของปีหน้า เฟสนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ไร่ แต่จะเป็นพื้นที่ขายจริงประมาณ 600 ไร่ มีผู้สนใจแล้ว 6-7 ราย ทั้งบริษัทไทย จีน และยุโรป ซึ่งต้องการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถ EV โลจิสติกส์ และวัสดุการแพทย์

 

มีการประเมินว่า หากวัคซีนสามารถพัฒนาได้สำเร็จในช่วงไตรมาส 2-3 ปีหน้า คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้เลย ด้วยนักธุรกิจน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่สามารถเดินทางได้ สำหรับอีก 2 เฟสจะเริ่มลงทุนในปีหน้า ซึ่งใช้งบราว 3 พันล้านบาทด้วยกัน โดยเฟสที่ 2 มีพื้นที่ 1,200 ไร่ มีพื้นที่ขาย 1,000 ไร่ และเฟส 3 มีพื้นที่ 700 ไร่ มีพื้นที่ขายประมาณ 500 ไร่

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising