×

Keeping Aids At Bay

18.07.2017
  • LOADING...

“คุณคิดดูนะ ถ้าคุณมีความรู้แล้วคุณให้อีกคนหนึ่ง โลกนี้ก็จะมีคนมีความรู้

2 คน ถ้าคุณให้อีก 5 คน ก็จะมีคนมีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอเราตายไป ความรู้นี้ก็ยังคงอยู่เราก็คิดแค่นี้”

   ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามหันตภัย ‘เอดส์’ อุบัติขึ้นเมื่อไรกันแน่ แต่เริ่มมีรายงานผู้เสียชีวิต

และการระบาดของโรคดังกล่าวจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers forDisease Control and Prevention) ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก่อนที่ผลการศึกษาใหม่ๆ ชี้ว่าเชื้อเอชไอวีอาจแพร่ระบาดจากแอฟริกามาสู่สหรฐั อเมริกาตั้งแตค่ .ศ. 1969 และแพร่ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในเวลาต่อมา

   จากความตื่นกลัวที่กลายมาเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขทั่วโลก เราผ่านพัฒนาการด้านการแพทย์มาสู่ยุคที่ผลิตยาต้านเอดส์ได้สัมฤทธิ์ผล จนผู้ป่วยทุกระดับเข้าถึงการรักษาในเบื้องต้นได้เท่าเทียมกัน ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นหนึ่งในผู้แผ้วถางหนทางให้พัฒนาการทางด้านสาธารณสุขก้าวหน้า จนทุกวันนี้เธอมองว่าเอดส์เป็นแค่โรคธรรมดาโรคหนึ่ง

   “มันแค่โรคเรื้อรังโรคหนึ่ง ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วตายสมัยก่อนพอเป็นปุ๊บก็ต้องตายทุกคน แต่พอมียาปุ๊บมันก็อยู่ได้ แม้เชื้อจะยังมีอยู่ ไม่ได้หมดไป แต่คนก็ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนเป็นโรคเบาหวาน ความดัน เพียงแต่คนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำหน่อย ต้องดูแลร่างกายด้วยนอกเหนือจากการกินยา เราอย่ามองให้มันเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเขาจะถูกทำให้แปลกแยกจากสังคมมันก็ไม่ถูก เพราะเขาเป็นคนเหมือนเรา”

   ดร.กฤษณาให้ความเห็น

   ดร. กฤษณา เกิดและเติบโตที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นพัฒนายาต้านเอดส์ตั้งแต่สมัยทำงานที่องค์การเภสัชกรรม จนประเทศไทยผลิตยาต้านเอดส์ได้เป็นประเทศแรกของโลกคือ ‘Zidovudine’ (Azidothymidine – AZT) มีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก และยา ‘GPO-VIR’ หรือยาต้านเอดส์สตรีค็อกเทล ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์กว่า 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก ยาทั้งหมดได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาจากต่างประเทศที่ราคาแพงกว่า


การที่ประเทศไทยผลิตยาต้านเอดส์ได้เป็นประเทศแรกของโลก แสดงว่าเรื่องวิทยาการเราไม่แพ้ใครใช่ไหม

   ก็คงไม่แพ้นะคะ เพราะมันไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแต่เราต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำ เพราะสมัยที่เราเริ่มทำวัตถุดิบก็หาไม่ค่อยได้ และการทดลองกับคนเพื่อพิสูจน์ว่ายาเราทัดเทียมกับยาต่างประเทศก็หากลุ่มตัวอย่างไม่ได้ มีความยุ่งยากนิดหน่อย แต่ทุกงานก็มีความยุ่งยากหมด อุปสรรคคือบทเรียนหนึ่งเท่านั้นเอง

   หลังจากผู้ป่วยในประเทศไทยได้รับยาต้านเอดส์ทุกรายแล้ว ดร.กฤษณาเริ่มต้นภารกิจสำคัญในการให้ความรู้เรื่องการผลิตยาที่เกี่ยวกับการต้านเอดส์ยารักษามาลาเรีย และอีโบลา ในดินแดนกาฬทวีปในปี 2545 และดำเนินการจนแน่ใจว่าแต่ละประเทศในแอฟริกาที่ตนเข้าไปช่วยเหลือถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยเงินทุนตัวเองจนสามารถผลิตยาต้านเอดส์ได้เองและตั้งชื่อยาในทุกประเทศด้วยตัวเองโดยให้มีคำว่า ‘ไทย’ นำหน้า ก่อนจะตามด้วยประเทศนั้นๆ

   “เพราะเราทำเอง สูตรของเราเอง เลยตั้งชื่อเอง” ดร. กฤษณา กล่าว

   ดร. กฤษณา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการไปทำงานที่แอฟริกาว่า “เพราะเราไปสัญญากับองค์การ

   อนามัยโลกว่าเราจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เขา แล้วเราก็ไม่ได้ทำ เราในที่นี้คือประเทศไทยนะคะ ก็เลยคิดว่าเราก็ไปเองได้ ในเมื่อเราก็ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองต่างๆ ที่ทำนี่เราใช้เงินตัวเองทั้งนั้นนะคะ เพราะชีวิตคนไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสัจจะที่เราให้ไว้ อาจจะลำบากกายนิดหน่อย แต่ใจก็ไม่ได้ลำบากอะไร

   “คือการช่วยเหลือคนนะคะ เรามองว่าเราไปสอนให้เขาตกปลามากกว่าเอาปลาไปให้เขา คือสอนวิธีทำให้กับเขา เขาจะได้พัฒนาแบบยั่งยืน จะได้พึ่งพาตัวเองได้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรอพึ่งจากเรา”

องค์การอนามัยโลกมองความสำเร็จของการพัฒนายาต้านเอดส์ที่ทางประเทศไทยทำอย่างไร

    เขาใช้สูตรยาของเราเป็น Standard Treatment Guideline เป็นแนวทางในการรักษามาตรฐาน เมื่อใครเป็นเอดส์ก็ใช้ยาของเรา เพราะว่ามันถูกและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับยาต่างประเทศ และยาของเราผ่านการพิสูจน์มาหมดแล้ว


คุณต้องใช้เวลาคลุกคลีทำงานกับคนท้องถิ่นในแต่ละประเทศนานแค่ไหน

    แล้วแต่ประเทศค่ะ กำหนดไม่ได้ 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปีไปแทนซาเนีย 42 ครั้งนะคะ รวมแล้วอยู่ที่นั่น 240 วัน กว่างานจะเสร็จรวม 5 ปี อยู่ทีละเดือน 2 เดือน 3 เดือน สตางค์หมดก็กลับมา แล้วเอาสตางค์กลับไปทำใหม่


นอกจากลงทั้งแรงกาย แรงใจแล้ว ยังต้องมีแรงเงินด้วย

   คนอื่นเขาสู้แล้วรวย เรารวยแล้วสู้ (หัวเราะ)


งานที่คุณทำมีองค์การระหว่างประเทศมาร่วมมือบ้างไหม

    แล้วแต่ค่ะ แต่น้อยมากค่ะ มีของเยอรมนี ของอังกฤษ แต่พอคนพวกนี้เข้ามามาก เขาก็จะคิดว่าเป็นของเขา แล้วเขาก็ดูถูกเรา งั้นก็ต่างคนต่างทำดีกว่า เพราะเราไม่ได้อาศัยเงินเขา ก็เลิกความสัมพันธ์กันไปก็มี ทั้งอังกฤษ ทั้งเยอรมนี คือคนยุโรปก็จะมองว่าเอเชียด้อยพัฒนาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะ เหมือนจะให้เรานำไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้มันก็มีเรื่อยๆ ค่ะ แต่มันก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล อย่าไปคิดอะไรมาก ถ้าคิดว่าเราทำได้ เราก็ทำไปสิคะ ไม่เห็นต้องพึ่งเขาเลย


เรียกว่าไม่มีหวงวิชาเลยใช่ไหม

    คุณคิดดูนะ ถ้าคุณมีความรู้แล้วคุณให้อีกคนหนึ่ง โลกนี้ก็จะมีคนมีความรู้ 2 คน ถ้าคุณให้อีก 5 คน ก็จะมีคนมีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอเราตายไป ความรู้นี้ก็ยังคงอยู่เราก็คิดแค่นี้


นี่คือการ ‘Pay It Forward’

    ใช่ค่ะ ก็คิดแค่ว่าเราให้ไปเรื่อยๆ สิคะ จะเก็บไว้กับตัวเองทำไม


การไปบุกเบิกทำงานในแอฟริกาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณเจออุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องระเบิด และสภาพความเป็นอยู่ เคยคิดหนีกลับบ้านไหม

    ก็ไม่ง่ายหรอก แต่เราไม่คิดจะกลับ ตอนนั้นเราสู้โดยมีเป้าในใจ คือต้องการให้แต่ละประเทศผลิตยาได้เองก่อน แต่เราก็ตั้งเป้าแต่ละวันให้ผ่านไป ถ้าเราไปตั้งเป้าสูงมาก คนที่นั่นเขาจะตกใจ แล้วเดี๋ยวไม่ทำเลย เพราะเขายากจน เขาไม่ค่อยมองไกลเท่าไร ปัญหาเฉพาะหน้ามีเยอะอยู่แล้ว เช่น วันนี้มีอะไรจะกินหรือเปล่า เขามองแค่นั้น เราต้องเข้าใจตรงนี้ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเคยรับสั่งว่า เราจะไปทำงานที่ไหนก็ตาม เราต้อง ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ คือเราต้องเข้าใจเขาก่อน ดังนั้นไม่ว่าเราจะไปประเทศไหน เราจะศึกษาอย่างละเอียด ผู้นำชื่ออะไร มีเมียกี่คน ทุกอย่างเลย นี่คือการทำความเข้าใจ และที่สำคัญเราต้องเข้าถึงเขาด้วยคือต้องทำความคุ้นเคยกับเขาก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปบอกว่า ‘ฉันจะมาสอนอย่างนี้นะ’ เขาก็ไม่เอาหรอก มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางประเทศมีหลายเผ่า รบจนฆ่ากันตายยังมี


นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คิดว่าจะมาไกลถึงตอนนี้ไหม

    ไม่เคยคิดเลยค่ะ เวลาทำอะไรไม่ได้หวังไปไกลมากเรามองแค่ว่าวันนี้จะทำสำเร็จไหม แค่ว่าเราสามารถผลิตยาได้ก็ดี อย่างน้อยคนก็ได้ยาเรา ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้กี่คน แต่พอทำเสร็จ มันสามารถช่วยคนได้จาก 2,000 คน เป็น 10,000 คน เป็น 20,000 เป็น 50,000 ถึง 100,000 หรือ 400,000 คน เราก็มีความสุข


จริงไหมที่เขาว่ากันว่าบริษัทผลิตยารายใหญ่ๆ พยายามจะควบคุมตลาดในทุกสาขา

   จริงมาตั้งนานแล้วค่ะ เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ แต่จะคุมก็คุมไปเถอะ เราก็ทำในส่วนของเรา ใครจะคิดว่าเราต่อต้านเขาก็ตามสบาย เขาก็เห็นอยู่แล้วว่าคนด้อยโอกาสก็ได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ


ตอนนี้งานของมูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ ทำอะไรอยู่บ้าง

   งานมูลนิธิฯ เต็มไปหมดเลยค่ะ งานถ่ายทอดเทคโนโลยีงานช่วยชุมชนด้านอื่นๆ ที่เขาต้องการ งานหาตลาดให้เขา อย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาไม่มีโอกาสไปหาตลาดที่ไหน คนก็รังเกียจ หาว่าเขาจะแบ่งแยกดินแดน เราก็ไปช่วยหาตลาดให้เขาเอาของมาขายได้ ทำอะไรที่ช่วยได้ก็จะช่วยค่ะ


แปลว่าไม่ได้มองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยพื้นฐานปัญหาอื่นๆ นอกจากต้องการจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่

    เขาเป็นคนเหมือนเราค่ะ และถ้าเราไปสัมผัสกับเขาแล้วเรามีความรู้สึกผูกพัน ไม่ได้รู้สึกเหมือนที่คนอื่นรู้สึก มันก็อีกแบบหนึ่งนะคะ ไม่ได้รู้สึกว่าใครเป็นศัตรูหรืออะไร ส่วนใครจะคิดว่าเราเป็นศัตรู ก็เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาเรา


สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศในแอฟริกาล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ดูเหมือนคุณไม่มีความกลัวในชีวิตเลย

   ไม่กลัวค่ะ ตอนอยู่ที่แอฟริกาต้องเดินทางเยอะมากเราเขียนติดไว้ที่กระเป๋าเลยว่า ‘กรุณาอย่าลักพาตัวฉันไป เพราะไม่มีใครไถ่ตัวฉัน และถ้าเธอเอาตัวฉันไป เธอจะสิ้นเปลืองอาหารมาก’ เขียนติดไว้หลายภาษาเลยเขาจะได้ไม่ต้องจับตัวเราไป


เราคงไม่ต้องถามว่าคุณลงทุนทรัพย์ไปแล้วเท่าไรที่ผ่านมา

   อย่าถามเลยค่ะ มันก็คือชีวิต อย่างงานมูลนิธิฯ ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวนะคะ แต่เรารู้สึกสบายใจ   แต่ที่อยากบอกคืออยากจะขอให้คนรวยๆ ทั้งหลายมาช่วยทำงานการกุศลบ้าง อยากจะขอร้องนะ เพราะคนไทยยังมีความทุกข์อีกมาก ไม่ใช่จะมีแต่ชนชั้นกลางกับคนรวยเท่านั้น คนจนก็มีเยอะ ตอนนี้ยิ่งมากขึ้นๆ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็มากขึ้น อยากให้มีจิตสาธารณะมากขึ้น อย่าคิดเห็นแก่ตัวเอง ถ้าเรามีความสุข แต่คนอื่นทุกข์หมด แล้วเราจะสุขได้อย่างไร


การที่คุณเดินทางไปทั่วโลก ได้เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูง จากเวทีบรอดเวย์สู่ชีวิตชาวบ้านในแอฟริกา

สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณมองโลกอย่างไรบ้าง

    มองโลกด้วยความปลงไปเรื่อยๆ คนเราเกิดมาก็มีกรรมจริงๆ เกิดมาชดใช้กรรม ทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น มากขึ้น เราได้เห็นความแตกต่าง รู้สึกว่าโชคดีมากที่เราเกิดมาไม่ได้เจ็บป่วยอะไร เราก็พอมีเงิน เราเห็นคุณค่าของชีวิตว่าเราเกิดมามีทุกอย่าง ทำไมเราไม่แบ่งให้คนอื่นบ้าง ในเมื่อคนอื่นไม่มีตั้งเยอะ มันทำให้เราเห็นสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น


ติดตามอ่านเรื่องราวของผู้คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายได้ในนิตยสาร The Standard เล่ม 1
www.thestandard.co/magazine

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising