×

เจาะลึกการประชุม COP26 และโอกาสการลงทุนจากธีมรักษ์โลกที่มากกว่าแค่พลังงานทดแทน

11.11.2021
  • LOADING...
investment opportunities

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการประชุม COP26 (Conference of the Parties 26)? ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ ผมต้องขอย้อนความกลับไปในการประชุม COP21 ในปี 2015 ณ กรุงปารีสก่อน ในขณะนั้นนานาประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันคงระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น ภายใต้ข้อตกลงนี้ ประเทศทั่วโลกจะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ โดยทุก 5 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาด้วยแผนฉบับปรับปรุงใหม่ ดังนั้นการประชุม COP26 ครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการครบรอบ 5 ปีเพื่อทบทวนเป้า NDCs จากรอบที่แล้วตั้งแต่ปี 2015 (เดิม COP26 มีกำหนดการประชุมในปี 2020 แต่ถูกเลื่อนออกไป 1 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด) 

 

แม้การประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ได้ปิดฉากลงแล้ว แต่เจตนารมณ์และพันธสัญญา รวมถึงคำมั่นที่นานาประเทศได้ประกาศไว้ ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน การรณรงค์และยุติการตัดไม้ทำลายป่า การหยุดและยกเลิกการอุดหนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและยุติการใช้ถ่านหิน รวมถึงการรณรงค์ลดการใช้พาหนะเครื่องยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขจัดคาร์บอนในระดับโลกจะยังคงอยู่และเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกต่อไป แม้ว่าประเทศต่างๆ จะมาพร้อมกับเป้าหมาย NDCs ใหม่ หรือยืนยันคำมั่นสัญญาที่มีอยู่แล้ว แต่รายละเอียดในหลายประเด็นก็ยังต้องรอติดตามการประกาศหรือต้องมีส่วนแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต ตัวอย่างเช่น ในด้านหนึ่ง ประเด็นการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหารือตั้งแต่เริ่มข้อตกลงปารีสก็ยังไม่สามารถสรุปการเจรจาได้จนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ดี ในอีกด้าน ความคืบหน้าในเรื่องคำมั่นและความพยายามในการยุติการใช้ถ่านหิน การยุติการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลจากทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาดูมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น และความมุ่งมั่นของหลายประเทศที่มีผืนป่าขนาดใหญ่ในการยุติการตัดไม้ รวมถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน (ซึ่งเป็นก๊าซที่มีความเกี่ยวเนื่องและเป็นต้นเหตุในการเกิดสภาวะเรือนกระจกทั่วโลก) นั้นมีความสอดคล้องกันมากขึ้น

 

จากผลการประชุมเบื้องต้น เราจะพบว่าคำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศที่ประกาศใน COP26 สามารถช่วยจำกัดภาวะโลกร้อนหรือการเพิ่มขึ้นของระดับอุณหภูมิโลกไว้ที่ราว 1.5-1.8 องศาเซลเซียสได้ก่อนปี 2050 หากประเทศสมาชิกร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่ และทั้ง 200 ประเทศจะประกาศแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นภายในปี 2030 รวมถึงต้องพิจารณาข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และการดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องมีแรงผลักดันในการปรับแก้ไขแผน NDCs เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส คำถามถัดมาคือ ทำไมระดับ 1.5 องศาเซลเซียสถึงมีความสำคัญ คำตอบคือ หน่วยงานชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ได้ประเมินผลที่มีต่อโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างละเอียดพบว่า ความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสนั้น แม้ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ยังก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมและพายุที่รุนแรง แต่ความเลวร้ายและผลกระทบจะน้อยกว่ากรณีปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อให้นานาประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเบื้องต้นในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ภายในปี 2050 ประเด็นความร่วมมือที่เห็นได้ชัดจากการประชุม COP26 มี 3 ประเด็นเบื้องต้น ดังนี้

  1. คำมั่นสัญญาที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 โดยกว่า 100 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ามากกว่า 85% ของโลกเห็นพ้องและได้ลงนามในสัญญานี้ อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเทศที่เห็นต่างอยู่บ้าง เช่น อินโดนีเซียมองว่าข้อตกลงนี้ยังไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุเป้าหมาย
  2. คำมั่นสัญญาที่นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 จากระดับปี 2020 ซึ่งกว่า 100 ประเทศได้ร่วมลงนาม นำโดยสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขยายกฎเกณฑ์ที่บังคับให้บริษัทน้ำมันและก๊าซติดตามและแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของก๊าซ ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังออกกฎระเบียบเพื่อตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ประเทศใหญ่บางประเทศที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างจีน รัสเซีย และอินเดีย ยังไม่ได้ร่วมลงนามในสัญญาฉบับนี้
  3. การประกาศว่าจะเลิกใช้ถ่านหิน โดยให้คำมั่นว่าจะยุติการลงทุนทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยกว่า 40 ประเทศ นำโดยประเทศเศรษฐกิจหลักจะยุติการพึ่งพาถ่านหินภายในปี 2030 และประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าในปี 2040 โดยประเทศผู้บริโภคถ่านหินส่วนใหญ่ลงนามในสัญญาฉบับนี้ แม้ว่าประเทศใหญ่บางส่วน เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และสหรัฐฯ ยังไม่ได้ลงนามก็ตาม นอกจากนี้มีราว 20 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะยุติการจัดหาเงินทุนสาธารณะสำหรับโครงการถ่านหินภายในปี 2023 (ครอบคลุมเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่รวมโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน) โดยมีการลงนามโดยประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดา 

 

จากบทสรุปและประเด็นสำคัญจากการประชุม COP26 ข้างต้น จะเห็นได้ว่า โอกาสการลงทุนจากเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission นั้นเป็นประเด็นสำคัญและมีนัยแฝงให้คิดมากมาย มองผิวเผิน นักลงทุนอาจคิดถึงเพียงกระแสการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังมีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมายที่กำลังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเปลี่ยนทิศทางการใช้พลังงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตัวอย่างโดยสังเขป เช่น

  1. พลังงานทดแทน (Renewables) ในส่วน Solar PV, Residential Solar, Onshore & Offshore Wind, Hydroelectric

  2. การจัดเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ (Battery Storage) ในส่วน Battery Manufacturing, Storage & Management System

  3. เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำ (Low Emission Fuels) ในส่วน Biogas (RNG), Liquid Biofuels, Hydrogen Electrolysis

  4. เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Chargers) ทั้งในส่วน Private & Public Stations

  5. โครงข่ายไฟฟ้า (Electricity Grids) ในส่วน Refurbishment, Digitalization, Expansion

  6. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ในส่วน ICE Vehicles, Appliances, Ventilation & Air Conditioning

  7. รถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า (EV & Electrification) ในส่วน EV Car, Truck, Bus, Van, Electric & Hydrogen Rail

  8. การใช้ไฮโดรเจนขั้นสุดท้าย (Hydrogen End Use) ในส่วน Gas Grid Blending, Electricity Generation

  9. โครงสร้างพื้นฐานไฮโดรเจน (Hydrogen Infrastructure) ในส่วน Pipelines/Storage, Hydrogen Stations

  10. การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) ในส่วน Direct Air Capture, From Fossil Fuels & Biofuels


ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเบื้องต้นที่มีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จากการผลักดันของนานาประเทศและทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงานงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผมเชื่อว่ามีโอกาสในการลงทุนในวงกว้างทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระแสการรักษ์โลก และการตระหนักถึงภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นที่พูดถึงทั่วโลก ซึ่งโอกาสการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องนั้นไม่จำกัดเพียงแค่กับบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่ก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emission โดยตรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงอุตสาหกรรมและบริษัทที่อำนวยการผลิตหรือให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์โลกทางอ้อม หรือที่เรียกว่า Green Enabler ดังตัวอย่างข้างต้นด้วย

 

โดยบริษัทเหล่านี้ แม้ดูเหมือนจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โลก เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ แต่ในอนาคตอาจจะสามารถกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีต่อจากนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มี Mandate ด้าน ESG และส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งต่างเริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการร่วมอนุรักษ์โลกและช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว 

 

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าตลาดการเงินโลกจะให้คุณค่าและให้ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบริษัทที่มีเป้าหมาย ESG และ Net Zero Carbon Emission ที่ชัดเจน กระแสการรักษ์โลกต่อจากนี้จะสามารถนำพาให้ทั้งนักลงทุน ESG และนักลงทุนที่ไม่ใช่ ESG หันมามองและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้หรือไม่ ผมมองว่าการประชุม COP26 นี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้นักลงทุนต้องเริ่มตระหนัก แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นจากกระแสการรักษ์โลกต่างหากที่เป็นประเด็นที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งในระยะยาว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising