×

จีนเตรียมผ่อนปรนนโยบาย ‘สามเส้นแดง’ เปิดให้บริษัทอสังหาก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้น หวังช่วยฟื้นความเชื่อมั่นตลาด

06.01.2023
  • LOADING...
รัฐบาลจีน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า รัฐบาลจีนมีแผนจะผ่อนปรนนโยบาย ‘สามเส้นแดง’ (Three Red Lines) ซึ่งบังคับใช้กับผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2020 เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาของประเทศ

 

ภายใต้นโยบาย ‘สามเส้นแดง’ บริษัทอสังหาของจีนจะถูกจำกัดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ไม่เกิน 70% โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่เกิน 100% และบริษัทจะต้องมีเงินสดมากกว่าหนี้สินระยะสั้น 1 เท่าตัว โดยข้อจำกัดทั้ง 3 ข้อนี้ถูกออกแบบมาเพื่อขจัดปัญหาการกู้ยืมอย่างไม่รอบคอบ และป้องกันไม่ให้กลไกตลาดทำให้ราคาอสังหาเข้าสู่ภาวะฟองสบู่

 

แหล่งข่าวระบุว่า แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะอนุญาตให้บริษัทอสังหาบางแห่งสามารถก่อหนี้ได้สูงขึ้นด้วยการขยายเพดานการกู้ยืมให้ ขณะเดียวกันก็คาดว่าจะมีการขยายเวลาระยะปลอดหนี้ (Grace Period) ของผู้ประกอบการที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การผ่อนปรนนโยบาย ‘สามเส้นแดง’ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดในภาคอสังหาของจีน นับจากที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอสังหามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของทางการจีนที่ต้องการฟื้นฟูภาคอสังหา ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจของประเทศ

 

“นี่คือสัญญาณจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับสูงที่ต้องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดในภาคอสังหา และสร้างกระแสตอบรับเชิงบวกระหว่างผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการ และตลาด” Zerlina Zeng นักวิเคราะห์สินเชื่ออาวุโสของ CreditSights Singapore กล่าว 

 

กระแสข่าวที่เกิดขึ้นทำให้เงินหยวนในวันนี้ (6 มกราคม) แข็งค่าขึ้น 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 6.8615 หยวนต่อดอลลาร์ ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทอสังหาจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% 

 

นอกจากนี้ สัญญาณความช่วยเหลือจากภาครัฐยังส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของไฮยีลด์บอนด์ที่ออกโดยบริษัทอสังหาจีนพุ่งขึ้นราว 39% ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising