×

จับตาสัมพันธ์ ‘อินโดนีเซีย-จีน’ ขึ้นแท่นชาติพันธมิตรแน่นแฟ้นในอาเซียน

22.04.2024
  • LOADING...

เป็นที่รู้กันดีว่า อินโดนีเซียพยายามสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของตนกับจีนและสหรัฐอเมริกามานานแล้ว กระนั้นการที่ประธานาธิบดี ปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย เลือกที่จะเยือนจีนหลายเดือนก่อนเข้ารับตำแหน่ง กลับเป็นท่าทีที่ทำให้หลายฝ่ายต้องจับตามองอยู่ไม่น้อย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับจีนที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่การขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนของสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความกังขาที่มีต่อนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในฉนวนกาซา ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากสหรัฐฯ ต้องการเอาชนะใจชาวอินโดนีเซีย กุญแจสำคัญก็คือ สหรัฐฯ ต้องหาวิธีคลี่คลายความกังขาที่น่ากังวลเหล่านั้น

 

Leo Suryadinata และ Siwage Dharma Negara หนึ่งในนักวิชาการที่จับตาดูความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซีย สหรัฐฯ และจีน ตั้งข้อสังเกตว่า สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซาได้ทำให้ชาวอินโดนีเซียหันมาต่อต้านการดำเนินการตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน เห็นได้จากแบบสอบถามล่าสุดที่ถามว่า หากชาติอาเซียนถูกบีบให้ต้องเลือกข้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาเซียนจะเลือกยืนฝั่งใด งานนี้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวอินโดนีเซียถึง 73% เลือกจีน ในขณะที่มีเพียง 27% เท่านั้นที่เลือกสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากปี 2023 ที่ผู้ตอบแบบสำรวจชาวอินโดนีเซีย 54% เลือกเข้าข้างจีน และ 46% เลือกเข้าข้างสหรัฐฯ

 

แน่นอนว่า ทางฝั่งรัฐบาลจีนเองก็สัมผัสได้ถึงกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเช่นกัน โดยในระหว่างการพบปะกับผู้นำ โจโก วิโดโด ที่จะพ้นตำแหน่งในช่วงสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ ได้ประณามสหรัฐฯ ที่ขัดขวางมติขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา ซึ่งจุดยืนดังกล่าวของจีน แม้อาจไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ก็สร้างความพึงพอใจให้กับอินโดนีเซีย 1 ใน 2 ประเทศที่เป็นที่อยู่ของชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี 

 

ทั้งนี้ การจัดการผลประโยชน์ของอินโดนีเซียท่ามกลางฉากหลังของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเป็นภารกิจสำคัญสำหรับประธานาธิบดีซูเบียนโต เมื่อเจ้าตัวจะเข้ารับตำแหน่งใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ โดยหลายฝ่ายมองว่า การที่ซูเบียนโตมีแนวทางที่เป็นมิตรกับรัฐบาลจีนมากขึ้น พร้อมเปิดกว้างที่จะขยายความสัมพันธ์ที่มากกว่าการค้าและการลงทุน น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศที่เสรีและกระตือรือร้นของอินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่นี้ 

 

โดยจีนถือเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ และยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม Rizal Sukma เจ้าหน้าที่อาวุโสของ CSIS ในจาการ์ตา ชี้ให้เห็น แม้ว่าอินโดนีเซียจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการติดต่อกับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีบางส่วนที่อินโดนีเซียต้องสานสัมพันธ์กับจีนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนชอบลงทุนมากที่สุด โดยโครงการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังคงมีการประท้วงประปราย เพราะความขัดแย้งระหว่างบริษัทสัญชาติจีนกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง

 

ดังนั้นนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจึงมองว่า แม้อินโดนีเซียจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย เห็นได้จากการสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติของอินโดนีเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อินโดนีเซียยังคงต้องพึ่งพาอุปกรณ์ทางทหารที่ส่วนใหญ่ซื้อจากสหรัฐอเมริกา และจัดการฝึกซ้อมร่วมทางทหารประจำปีภายใต้โครงการ Garuda Shield อีกทั้งอินโดนีเซียเองก็ยังจำเป็นและต้องการการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การกล่าวอ้างของจีนบนพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งสำหรับ ปราโบโว ซูเบียนโต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising