×

วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 29)

31.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read

คำนำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามใน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประเทศของเรา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นส่งผลกระทบถึงสังคมส่วนใหญ่และปัจเจกชนส่วนย่อยจำนวนมาก เรื่องราวของผู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้นมีบันทึกไว้มากมาย แต่ละบุคคลล้วนผิดแผกแตกต่างกันไป

 

ชีวิตของผู้คนนั้นเป็นแกนกลางของนวนิยายอยู่เสมอ โดยเฉพาะนวนิยายประวัติศาสตร์ ดังนั้นการหยิบยกชีวิตของบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งที่สูงเด่น หากแต่ต้องผกผันอย่างคาดไม่ถึงมาเล่าใหม่ในครั้งนี้ แม้จะมีความจริงแฝงอยู่หลายประการ แต่การพ้องเคียงกับชีวิตของบุคคลใดก็ตามเป็นเพียงจินตนาการโดยสมบูรณ์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

 

อนุสรณ์ ติปยานนท์

บทที่ยี่สิบเก้า

 

16.59 น.

สถานที่แขวนคอบุคคลทั้งสิบสองคนในขบวนการของเรานั้นคือสถานที่เดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเคยเห็นนักโทษของกองทัพญี่ปุ่นถูกจับมัดกับต้นไผ่เมื่อข้าพเจ้าแรกมายังบันดุง ในครั้งนั้นนักโทษถูกทรมานจนตายด้วยการปล่อยให้ต้นไผ่เติบโตขึ้นจนแทงทะลุร่างของผู้ถูกพิพากษา แต่สำหรับบุคคลทั้งสิบสองคน พวกเขาได้รับความกรุณามากกว่า เสาสิบสองต้นถูกตั้งขึ้นเป็นแนวยาว ข้าพเจ้าเคยเห็นวิธีการตั้งเสาที่ว่านี้มาจากชนชาวชวาที่ใช้ปลายเสาอวดแสดงนกกรงหัวจุกในงานประกวดประชันเสียงนกครั้งหนึ่ง ในงานนั้นมีเสานับร้อยต้นในลานโล่ง กรงนกอันวิจิตรพิสดารถูกแขวนไว้บนปลายเสา เสียงนกร้องดังระงมไปทั่วบริเวณ ข้าพเจ้าเฝ้าชมการแข่งขันครั้งนั้นด้วยความเพลิดเพลิน แต่ในครานี้เสาสูงแบบเดียวกัน แต่ขนาดต้นเสาที่ใหญ่กว่าทำให้ขนบนกายของข้าพเจ้าลุกชัน

 

17.03 น.

เหงื่อในมือของข้าพเจ้าทำให้กระบอกปืนพกในมือลื่นขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ข้าพเจ้าใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดเหงื่อเหล่านั้น อากาศภายนอกร้อนอบอ้าว มันเหมาะกับการสังหารผู้คน ความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายร่างกายที่เน่าเปื่อยได้รวดเร็วขึ้น กองทัพญี่ปุ่นคงคิดเช่นนั้น พวกเขาจงใจแน่นอนที่จะปล่อยให้ร่างของผู้ตายถูกแขวนทิ้งไว้บนยอดเสาจนกว่าจะเหลือเพียงโครงกระดูก การใช้ความตายข่มขู่ความเป็นของผู้มีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าไม่เคยห่างหายไปจากดินแดนแห่งนี้ วูบหนึ่งข้าพเจ้านึกถึง ปีเตอร์ เอเวอร์เดล และความตายของเขาเมื่อสามร้อยปีก่อนสร้างความหวาดกลัวแก่ชนพื้นถิ่นหรือ ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ แต่กระนั้นเองผู้สังหารมักมีมายาคติต่อความตายของเหยื่ออย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

 

17.30 น.

ข้าพเจ้าพลิกดูนาฬิกาข้อมือเป็นครั้งที่แปด นอกจากข้าพเจ้ากับมาเม็ตผู้ที่นำข้าพเจ้ามาซุ่มโจมตีอยู่ที่นี่แล้ว บุคคลอื่นยังไม่ปรากฏตัว ศรี อรพินโท, บุหลัน และสมาชิกที่เหลืออยู่อีกสามคนของเรายังไม่ปรากฏตัว ข้าพเจ้าเหลือบมองมาเม็ต เขาดูจะมีสมาธิแน่วแน่กว่าข้าพเจ้า สายตาของเขาที่จ้องมองไปยังเสาทั้งสิบสองต้นนั้นเป็นไปอย่างเขม็งเกลียว มีพลทหารญี่ปุ่นหกคนยืนอยู่ระหว่างเสาทั้งสิบสองต้น รถที่นำตัวนักโทษประหารยังเดินทางมาไม่ถึง หากทหารญี่ปุ่นมีจำนวนเท่านี้ หรือผนวกรวมอีกหนึ่งเท่าสำหรับผู้ที่ควบคุมตัวนักโทษมา จำนวนคนของเราน่าจะรับมือได้ไม่ยาก แต่ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ดีเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งนั้นมีผู้นำที่มีชื่อว่า โทรุ ซากาโมโตะ

 

17.40 น.

เวลาเดินหน้าไป ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงความกระวนกระวายในจิตใจ เวลาประหารถูกกำหนดไว้ที่ 18.00 น. นั่นหมายความว่าทุกนาทีนับจากนี้จะเต็มไปด้วยปฏิบัติการอันรวดเร็ว รถนำนักโทษประหารจอดลง นักโทษประหารถูกนำออกมา คอของเขาถูกสอดภายใต้เงื่อน เชือกอีกด้านดึงตัวเขาขึ้นไป นับหนึ่งถึงสิบ ชีวิตของพวกเขาก็จบสิ้นลง

 

17.46 น.

ข้าพเจ้าพลิกข้อมือดูนาฬิกาอีกครั้ง ยังไม่มีการปรากฏตัวของยานพาหนะใดๆ พลทหารหกคนที่ยืนนิ่งอยู่หน้าเสาเหล่านั้นเริ่มแสดงอาการกระวนกระวายของพวกเขาออกมา จริงดังคำกล่าวโบราณ ผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าล้วนตกอยู่ภายใต้ความกดดันไม่แตกต่างกัน อีกสิบนาทีกว่าเท่านั้น ทุกอย่างจะต้องจบสิ้นลง และสำหรับชนชาวญี่ปุ่นที่รักษาเวลายิ่งชีพ สิ่งเหล่านี้คือแรงกดดันอันมหาศาล

 

17.50 น.

รถบัสของทหารญี่ปุ่นคันหนึ่งแล่นเข้ามาที่ลานประหารด้วยความเร็ว ข้าพเจ้ากับมาเม็ตมองตากัน ไม่มีกำลังเสริม ทั้งศรี อรพินโท และคนอื่นยังมาไม่ถึง เหลือข้าพเจ้ากับเขาเพียงสองคนเท่านั้นที่จะปฏิบัติการครั้งนี้ให้ลุล่วงไป ข้าพเจ้ามีปืนพกหนึ่งกระบอกและกระสุนสำรองอีกหนึ่งชุด มาเม็ตก็มีอาวุธแบบเดียวกับข้าพเจ้า ลำพังเราสองคน การสังหารศัตรูจำนวนหกคนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทหารที่มาสมทบเพิ่มเติมเล่า เราจะกระทำอย่างไรดี

 

 

17.52 น.

เราไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมากกว่านั้น เมื่อรถบัสคันดังกล่าวจอดลง ภาพการลำเลียงนักโทษประหารลงมาถูกแทนที่ด้วยภาพการต่อสู้ นายทหารญี่ปุ่นคนแรกที่ลงจากรถลั่นกระสุนใส่พลทหารหนึ่งนาย เสียงกระสุนทำให้ปืนในมือข้าพเจ้าลั่นออกไปโดยฉับพลัน พลทหารอีกคนล้มลง ทุกอย่างสับสนอลหม่านอยู่ราวสองนาทีก่อนที่จะสงบลงพร้อมกับความตายของพลทหารญี่ปุ่น ข้าพเจ้ากับมาเม็ตค่อยๆ ออกจากที่ซ่อน มือกำอาวุธคู่กายไว้มั่น นายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งเหลียวมองมาทางเรา ข้าพเจ้าขึ้นไกอีกครั้ง แต่เมื่อหมวกของเขาถูกปลดลง ข้าพเจ้าก็เห็นใบหน้าอันชัดเจนของเขา บุหลันนั่นเอง

 

17.55 น.

เหล่านายทหารที่ตามลงมา นอกจากบุหลันแล้วมีสมาชิกของเราที่โดนจับไปอีกห้าคน บุคคลทั้งหกยืนประจันหน้ากับข้าพเจ้าและมาเม็ต ข้าพเจ้าเอ่ยถามถึงบุคคลที่เหลือ ทั้งศรี อรพินโท สมาชิกอีกสามคน และนักโทษประหารอีกเจ็ดคน บุหลันส่ายหน้ากับข้าพเจ้า นอกจากศรี อรพินโท แล้ว เธอกล่าวว่าไม่มีใครรอดชีวิตอีกเลย

 

17.56 น.

ถ้าศรี อรพินโท ยังมีชีวิตอยู่ เขาอยู่ที่ใดเล่า นั่นคือคำถามของข้าพเจ้า แทนคำตอบ บุหลันบอกให้ข้าพเจ้ากับมาเม็ตขึ้นรถบัสคันนั้นไป เปลี่ยนเสื้อผ้าของพวกคุณด้วยบนรถนั่น พวกเราทั้งหมดจะไปที่กองบัญชาการทหารญี่ปุ่นที่ซาวอย ศรี อรพินโท อยู่ที่นั่น

 

18.02 น.

รถบัสของเราแล่นออกจากสมรภูมิชั่วคราว บุหลันเริ่มต้นเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า พวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนแผนที่จะมาพบกับข้าพเจ้าที่นี่และบุกไปยังที่คุมขังของเหล่านักโทษประหารแทน เมื่อรถบัสคันนี้แล่นออกจากที่คุมขัง เสียงปืนจากศรี อรพินโท และผู้กล้าก็ดังขึ้น นักโทษประหารหลายคนลุกขึ้นต่อสู้กับผู้คุมบนรถและทำให้พวกเขาเสียชีวิต ในขณะที่บุหลันขึ้นมาควบคุมรถคันนี้แทน ศรี อรพินโท และพวกอีกสามคนตรึงกำลังอยู่ด้านล่างกันการสมทบจากทหารญี่ปุ่น นักโทษบนรถช่วยกันปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการ รถบัสชะลอรับผู้คนที่เหลือ แต่กำลังหนุนของทหารญี่ปุ่นทำให้บุหลันไม่อาจเฝ้ารอได้นาน ศรี อรพินโท และพวกตัดสินใจล่อทหารจำนวนหนึ่งไปอีกทาง ไม่ว่าอย่างไร พบกันที่ซาวอย พวกนั้นไม่มีทางจับตายผม เขาตะโกน บุหลันขับรถบัสคันนี้มายังจุดนัดหมาย และเหตุการณ์ทั้งหมดก็เป็นดังที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้ว

 

18.15 น.

ข้าพเจ้าสำรวจสภาพของรถบัส เบาะที่นั่งจำนวนมากถูกกระสุนปืน มีกลิ่นเขม่าปืนปรากฏออกมาเมื่อข้าพเจ้าสำรวจมันอย่างใกล้ชิด รอยเลือดปรากฏเป็นทางยาว นั่นคือเลือดจากเพื่อนของเราอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าพเจ้ารู้สึกเหนื่อยอ่อนอย่างบอกไม่ถูก สงคราม ความตาย การพลัดพราก ศัตรู มิตร กระสุนปืน คราบเลือด สิ่งที่เคยอุบัติขึ้นในสงครามกลางเมืองที่สเปนเดินทางย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ความสงบสันติในโลกนี้มีจริงไหม ข้าพเจ้านึกถึงทุ่งลาเวนเดอร์อันสะพรั่งไปด้วยดอกไม้กลิ่นหอมจรุงใจแทนที่จะเป็นกลิ่นคาวเลือดอันคละคลุ้ง ข้าพเจ้านึกถึงการนอนหลับอันยาวนานแทนการข่มตาให้หลับลงในแต่ละวัน ข้าพเจ้าคิดถึงชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นและอาหารมื้อค่ำแบบพร้อมหน้า นี่ข้าพเจ้าร้องขอมากเกินไปสำหรับชีวิตนี้หรือ มนุษย์ทุกคนมีอุดมการณ์ มีความใฝ่ฝัน ก็เจ้าอุดมการณ์หรือความใฝ่ฝันนี่มิใช่หรือที่ผลักไสให้ข้าพเจ้าเข้าสู่สงคราม ก็เจ้าอุดมการณ์หรือความใฝ่ฝันนี่มิใช่หรือที่ขับไล่กรมพระฯ ออกจากบ้านเกิดของท่าน เราควรหรือไม่ควรมีมันหรือเชื่อถือในมันกันแน่ ข้าพเจ้าพิงหลังเข้ากับเบาะ บรรจุกระสุนปืนใหม่จนเต็มกระบอก หลับตา และไม่ช้านานเสียงตะโกนของบุหลันให้เราเตรียมตัวก็ดังขึ้น ข้าพเจ้ารี่ไปที่หน้ารถบัส ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคือกองทหารญี่ปุ่นหนึ่งกองที่ตั้งแถวรอรับเราที่หน้าโรงแรมซาวอย พันตรี โทรุ ซากาโมโตะ ยืนอยู่เบื้องหน้าทุกคน ปืนในมือของเขาจ่ออยู่ที่ศีรษะของศรี อรพินโท ซึ่งถูกผูกตาเยี่ยงนกที่ไม่มีหนทางบินไปไหนได้เลย

 

(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561)  

 

ติดตามอ่าน วายัง อมฤต ตอนก่อนหน้าได้ที่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X