×

เวทีนักวิชาการเศรษฐกิจเห็นพ้อง ‘จัดหาและกระจายวัคซีน’ เป็นวาระเร่งด่วนสุด เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย

24.05.2021
  • LOADING...
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

สัมมนาวิชาการ ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทย ใน 5 ปีข้างหน้า ‘EEC Macroeconomic Forum’ ในรูปแบบออนไลน์ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินการ และมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง โดยมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 600 คน

 

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมสัมมนาในหัวข้อ ‘ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 และการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19’ ให้รายละเอียดว่า จากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน มี 4 นโยบายหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ดีสุดคือ 1. นโยบายการจัดหาและการกระจายวัคซีน 2. นโยบายการคลัง 3. นโยบายการเงิน และ 4. นโยบายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสถาบันการเงิน 

 

นโยบายที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายการจัดหาและการกระจายวัคซีน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะระลอก 3 ซึ่งหากสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นตัวได้เร็วที่สุด 

 

ทั้งนี้ ได้ประเมินฉากทัศน์ของการฉีดวัคซีนและการเกิด Herd Immunity ออกมาเป็น 2 กรณี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อฟื้นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้ 3 กรณี คือ 

 

กรณีที่ 1 สามารถจัดหาวัคซีนและกระจายได้ 100 ล้านโดสในปี 2564 โดยมียี่ห้อวัคซีนที่หลากหลาย ทั้ง Sinovac, AstraZeneca, Pfizer และ Moderna จะเกิด Herd Immunity ในไตรมาสที่ 1/65 กรณีนี้จะขับเคลื่อนให้ GDP ปี 2564 เติบโต 2.0% และปี 2565 เติบโต 4.7% ​โดยมีนักท่องเที่ยวในปี 2564 จำนวน 1.2 ล้านคน และปี 2565 จำนวน 15 ล้านคน 

 

กรณีที่ 2 จัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดสในปี 2564 วัคซีนที่ฉีดประกอบด้วย Sinovac และ AstraZeneca จะเกิด Herd Immunity ในไตรมาสที่ 3/65 กรณีนี้จะขับเคลื่อนให้ GDP ปี 2564 เติบโต 1.5% และปี 2565 เติบโต 2.8% ​โดยมีนักท่องเที่ยวในปี 2564 จำนวน 1 ล้านคน และปี 2565 จำนวน 12 ล้านคน

 

กรณีที่ 3 จัดหาหรือกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปี 2564 วัคซีนที่ฉีดประกอบด้วย Sinovac และ AstraZeneca จะเกิด Herd Immunity ในไตรมาสที่ 4/65 กรณีนี้จะขับเคลื่อนให้ GDP ปี 2564 เติบโต 1% และปี 2565 เติบโต 1.1% โดยมีนักท่องเที่ยวในปี 2564 จำนวน 0.8 ล้านคน และปี 2565 จำนวน 8 ล้านคน

 

“จะเห็นว่าสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนอีก 3 นโยบายซึ่งเป็นนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายที่ทำผ่านสถาบันการเงินต่างๆ” 

 

โดยทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ได้ดำเนินการทางนโยบายอย่างเต็มที่ ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดประวัติการณ์ และมาตรการช่วยเหลือประชาชน SMEs ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยคลายความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19 

 

ด้าน ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ร่วมสัมมนาในหัวข้อ ‘มาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง’ กล่าวว่า จากมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก. เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุมด้านสาธารณสุข ด้านผลกระทบระยะสั้น และด้านการฟื้นฟูระยะยาว 

 

ทั้งนี้ ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ 

 

ขณะที่การกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาทนั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (Gross Debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (Bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน

 

ขณะที่ พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ร่วมสัมมนาในหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำ: โจทย์สำคัญหลังโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19’ กล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ที่ต้องเผชิญ ได้แก่ 

 

1. การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse Trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ 

 

2. ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โดยโควิด-19 ทำให้ในปี 2563-2564 คนจนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 15 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ตัวเลขคนจนจะเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน จากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับปี 2559 

 

3. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super Aged Society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง

 

ส่วนสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ผู้ร่วมสัมมนาในหัวข้อ ‘ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทในอนาคตและนโยบายที่เหมาะสม’ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศหายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นชนวนสำคัญเร่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4 % ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 

 

ทั้งนี้ การจัดทำแผนฯ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน

 

สัมมนาวิชาการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นักวิชาการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ร่วมหารือแนวทางเตรียมพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสัมมนาวิชาการได้นำเสนอภาพเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยใดหลังโควิด-19, การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่สร้างมูลค่าสูงขึ้น, เพิ่มเทคโนโลยีการผลิต และส่งออกสินค้าให้เท่าทันโลก, ความจำเป็นของข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งการกระจายความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางรายได้และการศึกษา, การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

 

ดังนั้น การสอดประสานระหว่างมาตรการการเงินการคลัง สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง จึงเป็นกลไกสำคัญเอื้อต่อการปรับโคร้างสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในอนาคตต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising