บทที่ยี่สิบหก
ข้าพเจ้ากลับมาถึงที่พักได้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้ว แต่แทนที่จะมีทหารญี่ปุ่นปรากฏตน แทนการถูกกลุ้มรุมด้วยกองทัพญี่ปุ่น ข้าพเจ้ากลับพบแต่ความสงบ นอกเหนือจากการที่ข้าพเจ้าต้องทำอะไรด้วยตนเอง เพราะขาดมาเม็ตที่หายตัวไปพร้อมกับศรี อรพินโทแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้รับการติดต่อจากโลกภายนอกใดเลย ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า นั่งทบทวนภาษามธุเรศ ข้าพเจ้าอ่านเรื่องราวของ แม็กซ์ ฮาเวลลาร์ และการต่อสู้เพื่อชาวไร่กาแฟของเขาจนจบ ข้าพเจ้าเขียนจดหมายไปฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง และหวังว่าข้าพเจ้าจะได้รับจดหมายตอบกลับมาในไม่ช้า มีจดหมายมาถึงข้าพเจ้าในวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ใช่จดหมายจากฝรั่งเศส กลับเป็นจดหมายจากกรมพระฯ แทน
ข้าพเจ้าเปิดจดหมายของกรมพระฯ ขึ้นอ่าน พร้อมกับลางสังหรณ์ว่า ข้อความภายในนั้นไม่น่าจะเป็นข่าวดี และมันก็เป็นเช่นนั้นโดยแท้จริง
เรียน มิสเตอร์ ไฮน์ริช เบิล
ต้องขออภัยที่ข้าพเจ้ามีจดหมายมาถึงท่านก่อนเวลานัดหมายของเรา แต่เนื่องจากสภาวการณ์แห่งสงครามที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มงวด ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเร่งเขียนบันทึกให้กับท่าน และคาดหมายเวลาว่ามันน่าจะจบสิ้นลงภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ข้าพเจ้ากลับคาดการณ์ผิด สิ่งที่จบสิ้นลงกลับเป็นชีวิตของข้าพเจ้าเอง
เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นมาพบตนเองในโรงพยาบาลที่บันดุงแทนเตียงนอนในบ้าน แสงสว่างของบันดุงเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย แต่แสงสว่างที่ลอดผ่านกลิ่นยาทั้งหลายออกมานั้น ข้าพเจ้าไม่คุ้นชินเอาเสียเลย ข้าพเจ้าชันตัวขึ้นจากเตียง ธิดาทั้งหมดของข้าพเจ้านั่งอยู่รายล้อมด้วยความห่วงใย ท่านพ่อฟุบหลับไปเมื่อคืน พวกเขาบอกกับข้าพเจ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวเลยว่าหลับไปในคราใด และไม่เห็นด้วยซ้ำว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หลวงสักเพียงใดที่ข้าพเจ้าจักต้องมายังโรงพยาบาลแห่งนี้ ข้าพเจ้าสั่งให้เขาจัดเตรียมรถเพื่อออกจากโรงพยาบาล แต่เมื่อข้าพเจ้าจะลุกจากเตียง ข้าพเจ้าจึงพบว่าแขนของตนเองถูกพันธนาการด้วยน้ำเกลือเสียแล้ว
ท่านพ่อไม่ได้เพียงแต่ฟุบหลับไป หากแต่ยังมีเลือดไหลนองออกจากโอษฐ์อีกด้วย ธิดาคนหนึ่งของข้าพเจ้ากล่าว ข้าพเจ้ายกมือลูบริมฝีปากของตนเอง มันแห้งผากราวกับผืนดินที่ไม่โดนน้ำมานานนับปี แต่กระนั้นมันก็หาได้มีคราบเลือดหรือสิ่งใดอีก ข้าพเจ้ายิ้มเล็กน้อยให้กับธิดาของข้าพเจ้า ความกังวลมักนำพาความวุ่นวายมาเสมอ ข้าพเจ้าเอ่ยต่อ แต่ดูเหมือนคำปลอบใจดังกล่าวจะใช้การไม่ได้ ธิดาของข้าพเจ้าถอนหายใจอย่างหนัก ท่านพ่อคงต้องอยู่ที่นี่สักระยะหนึ่ง นายแพทย์ที่ตรวจอาการท่านพ่อเมื่อวันก่อนมีความกังวล และแม้จะเป็นความกังวลที่อาจนำพาสิ่งต่างๆ มาให้เรา พวกเราก็พร้อมจะยอมรับมัน
เมื่อวันก่อน ข้าพเจ้าอุทานกับตนเอง นี่พ่อหลับไปถึงหนึ่งวันเต็มกระนั้นหรือ ธิดาคนหนึ่งของข้าพเจ้าพยักหน้าเบาๆ นายแพทย์บอกว่า ผู้ป่วยที่มีอาการจากความบกพร่องของตับจะอ่อนเพลียกว่าปกติ ข้าพเจ้าเอามือคลำไปที่ท้อง ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่ชอบการดื่ม โดยเฉพาะในสิ่งของมึนเมา การถูกวินิจฉัยว่าตนเองมีความบกพร่องทางตับนั้นเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ระหว่างนั้นเอง ประตูห้องพักก็เปิดออก นายแพทย์ชาวดัตช์ที่ยังอนุญาตให้ทำงานอยู่ได้แม้ในยามสงคราม เดินเข้ามาพร้อมกับนางพยาบาลชาวชวา เขาโค้งศีรษะคำนับข้าพเจ้า ก่อนจะเปิดไฟฉายขนาดเล็กแล้วใช้มันส่องไปรอบๆ ดวงตาทั้งสองข้างของข้าพเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน ข้าพเจ้ารู้สึกเคืองนัยน์ตา แต่จำฝืนทนอยู่ ในที่สุดนายแพทย์ผู้นั้นก็ถอนแสงไฟออกจากดวงตาของข้าพเจ้า หยิบแฟ้มจากมือของนางพยาบาล และจดข้อความลงไปบนแผ่นกระดาษ ไม่ดีเลย ไม่ดีเลย เขารำพึงกับตนเอง
หลังจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้รับรู้ว่า อาการป่วยของข้าพเจ้าหนักหนาเพียงใด ตับของข้าพเจ้าเสื่อมสภาพในอัตราที่ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน หกเดือน หนึ่งปี หรือสองปีเป็นอย่างมาก นั่นคือความจริงที่ข้าพเจ้าคาดคั้นได้จากแพทย์ ไม่ได้เกิดจากสุราหรือสิ่งใดหรอก นายแพทย์ผู้นั้นกล่าวกับข้าพเจ้า ท่านน่าจะได้รับเชื้อไวรัสที่ฝังตัวมานานนับปี อาจเป็นตั้งแต่สมัยเด็ก ยามสงคราม หรือเมื่อใดก็ตามที เราไม่อาจบอกได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อร่างกายของท่านอ่อนแอลง เชื้อไวรัสนั้นก็พร้อมจะทำการร่วมกับสิ่งบั่นทอนต่างๆ และไม่ช้าก็เร็ว เมื่อการกระทำของมันสัมฤทธิ์ผล ทุกอย่างก็จักดำเนินไปราวกับระเบิดเวลา ในหลายกรณีระเบิดเวลานั้นเกิดขึ้นเนิ่นนานพอให้เราแกะสลักมันได้ แต่ในกรณีของท่าน ระเบิดเวลาได้แจ้งเตือนท่านในชั่วพริบตาเท่านั้นเอง
การกลับมาจากโรงพยาบาลครั้งนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ข้าพเจ้าเริ่มต้นจัดแจงพินัยกรรม แบ่งแยกทรัพย์สินที่ยังหลงเหลืออยู่ให้กับบุตรและธิดาทั้งหลาย รวมทั้งคำสั่งเสียทั้งหลายที่จำเป็น กระบวนการของความเศร้าโศกดำเนินไปเช่นนั้นอยู่หลายวัน และวันนี้เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าได้มีเวลาว่างพอจะเขียนจดหมายเล่าถึงสิ่งสำคัญแก่ท่านได้ ข้าพเจ้าพยายามจะเขียนบันทึกชีวิตตนเองต่อ แต่แล้วก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า หากข้าพเจ้าไม่เล่าถึงหัวใจสำคัญของบันทึกชุดนี้แล้ว ท่านก็ยากจะสรรหาถ้อยคำที่เหมาะสมมาแปลความมันได้
มิตรภาพ อำนาจ และความไม่จีรังของชีวิต นั่นคือสามสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการบอกออกมาในประวัติของตนเอง
ท่านคงทราบดีแล้วว่า เช้าวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1932 มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับตัวข้าพเจ้าและประเทศสยาม ข้าพเจ้าเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าว แต่หาได้กล่าวถึงเลยว่า ตัวข้าพเจ้านั้นรู้สึกกับเหตุการณ์ที่ว่าอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าทราบข่าวคราวความพยายามของกลุ่มผู้คนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยในฐานะของผู้ที่กุมอำนาจสูงสุดแห่งกองทัพ ข่าวคราวเช่นนั้นย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะรอดหูรอดตาข้าพเจ้าไปได้ แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ถูกพาดพิงถึงล้วนเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าไว้ใจและวางใจ ด้วยเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะล่วงรู้ว่าพวกเรากระทำการอย่างหนักหน่วงและจริงจังเพียงใด เพื่อนำพาสยามประเทศไปสู่ความทันสมัย เป็นวิธีการที่ละมุนละม่อมและทั่วถึงยังอาณาประชาราษฎร์ ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่า ในวันที่หกเมษายนที่ข่าวลือถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแพร่สะพัด ข้าพเจ้าเข้านอนด้วยความสงบสุข และในวันที่ยี่สิบสี่มิถุนายน ข้าพเจ้าก็เข้านอนในคืนก่อนหน้าด้วยความสงบสุขเช่นกัน แต่น่าเสียดาย ข้าพเจ้าพบว่า ข้าพเจ้ากระทำผิด เช้าวันนั้นข้าพเจ้าได้พบแล้วว่า ไม่มีมีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร ไม่มีศิษย์ ไม่มีครู มีแต่ความหลงใหลในอำนาจเท่านั้นที่นำพาทุกอย่างไปสู่หายนะภัย
ข้าพเจ้าถูกจับกุมตัวในชุดนอน ถูกนำตัวไปยังที่กักกัน เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ข้าพเจ้าทนไม่ได้ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าสุดจะทนคือ บรรดานายทหารที่จับกุมตัวข้าพเจ้าล้วนเป็นทหารที่ร่วมโต๊ะอาหารกับข้าพเจ้าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พวกเขาดูกระหยิ่มยิ้มย่องที่โค่นข้าพเจ้าลงเสียได้ พวกเขาดูลำพองใจที่พาข้าพเจ้าลงสู่จุดต่ำสุดได้ แต่พวกเขาคิดผิด หากจะมีใครสักคนที่เบื่อคำว่า ‘อำนาจ’ เป็นยิ่งแล้ว ข้าพเจ้าคงเป็นบุคคลต้นๆ อย่างแน่นอน ข้าพเจ้ายินดีเสียสละทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรือนนอน ยศฐาบรรดาศักดิ์ แต่ข้าพเจ้าจะไม่มีวันยอมสูญเสียความเคารพในตนเอง เมื่อพวกเขาอยากให้ข้าพเจ้าไปพ้นจากแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าก็จะไม่ร้องขอสิ่งใด ข้าพเจ้าอาจตกต่ำ ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ข้าพเจ้าจะไม่มีวันร้องขอความเห็นใจจากใครเลย
ข้าพเจ้าวางจดหมายแผ่นแรกลงบนโต๊ะทำงาน จิตใจหนักอึ้งอย่างบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าเดินออกไปที่ระเบียงหน้าบ้าน จุดบุหรี่ขึ้นสูบ ใจหนึ่งข้าพเจ้าอยากตรงไปหากรมพระฯ ที่ตำหนักเสียแต่ตอนนั้น ทว่า การรู้ตัวดีว่าตนเองอาจเป็นเป้าติดตามของพวกทหารญี่ปุ่น ทำให้ข้าพเจ้ายับยั้งชั่งใจเสียได้ ข้าพเจ้าสูบบุหรี่จนหมดตัว และดำริที่จะอ่านจดหมายฉบับนั้นต่อ แต่แล้วรถยนต์ของมาเม็ตก็แล่นตรงเข้ามาจอดลงที่หน้าบ้านของข้าพเจ้า
(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561)
ติดตามอ่าน วายัง อมฤต ตอนก่อนหน้าได้ที่
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 1-2)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 3-4)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 5)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 6-7)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 8)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 9)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 10)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 11-12)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 13)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 14)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 15-16)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 17)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 18)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 19)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 20)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 21)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 22)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 23)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 24)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 25)