×

10 คลื่นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงบและไหลเชี่ยวใต้ตลาดการเงิน

05.07.2021
  • LOADING...
ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

ตลาดการเงินช่วงนี้แม้จะมีเรื่องไม่คาดฝันอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่า ‘สงบผิดปกติ’

 

ไม่ใช่แค่ดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องแทบทุกวัน Economic Policy Uncertainty Index เดือนล่าสุดก็ร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบปี


ทั้งที่เรื่องเด่นในตลาดเปลี่ยนไปมาแต่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์กลับน้อย จนนักลงทุนหลายท่านสงสัยว่านี่คือภาวะ ‘คลื่นลมสงบ’ เพราะทุกคนอยากเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือมี ‘คลื่นใต้น้ำ’ อะไรที่ต้องระวังอีกในอนาคต

 

ผมจึงนำสถานการณ์ล่าสุดของ ‘10 คลื่นความเสี่ยง’ ที่เคยป่วนตลาด แชร์มุมมองว่าต้องระวังแค่ไหน และมองว่าจะส่งผลกระทบกับตลาดอย่างไรต่อจากนี้ โดยเรียงจากเรื่องที่มีโอกาสเกิดน้อยไปมาก

 

1. Gulf Tensions – ร่วมคว่ำบาตรอิหร่าน ย้อนกลับไปปี 2018 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงเวลานั้น ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ (JCPOA) ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูง ปัจจุบันประเด็นถูกตีกลับ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสหรัฐฯ​กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ถ้าจะน่ากลัว ฝั่งอิหร่านอาจต้องแสดงท่าทีต่อต้านสหรัฐฯ ก่อน

 

2. North Korea Conflict – มนุษย์จรวด คิมจองอึน เคยเป็นประเด็นหน้าหนึ่งพักใหญ่ในอดีต ปัจจุบันการเจรจาตัวต่อตัวระหว่างผู้นำแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ หันไปใช้นโยบายทางการทูตร่วมกับกลุ่มพันธมิตร โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายระยะสั้นลดลง ผลกระทบกับตลาดก็น้อยตามไปด้วย

 

3. Climate Policy Gridlock – ไม่เชื่อเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาที่กลับตัว 180 องศาเช่นกัน ล่าสุดสหรัฐฯ ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระแห่งชาติ ยุโรปผลักดันการลงทุนผ่าน Green Deal ขณะที่จีนก็สัญญาว่าจะไปสู่สังคม Carbon Neutral ก่อนปี 2060 มีโอกาสกลับมาเป็นความเสี่ยงยาก แต่ถ้าพลิก อาจส่งผลกระทบกับตลาดหนักที่สุด เนื่องจากทั่วโลกเริ่มมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาดไปแล้ว

 

4. Terror Attacks – การก่อการร้าย ปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นประปรายในสหรัฐฯ กรณีรุนแรงล่าสุดคือการบุกรัฐสภาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถ้าเกิดซ้ำจะส่งผลลบด้านการเมือง แต่คาดว่าจะสร้างความเสี่ยงก็ต่อเมื่ออยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ดังนั้นคาดว่าจะไม่กระทบตลาด จนกว่าจะเข้าใกล้ Midterm ของสหรัฐฯ ปลายปี 2022

 

5. European Fragmentation – การแตกตัวของยุโรป เงียบลงอย่างมากจากที่เคยแตกแยกยาวนานหลายปี ตอนนี้ประเทศในยุโรปกลับรวมตัวกันได้เพราะวิกฤตโควิด แต่ประมาทไม่ได้ มีโอกาสกลับไปขัดแย้งอีกได้เสมอถ้าการเมืองในประเทศไหนเปลี่ยนขั้ว ต้องจับตาตั้งแต่การเลือกตั้งเยอรมนีเดือนกันยายนปีนี้ ไปจนถึงการเลือกตั้งในฝรั่งเศสช่วงเมษายน ปี 2022

 

6. EM Political Crisis – การเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่ ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ตลาดจับตามาก เพราะหลายประเทศใน Emerging Markets ไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ดีตามที่ประชาชนหวัง เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ทำให้การลงทุนกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่แจกจ่ายวัคซีนได้ดี


7. Cyberattacks – ภัยไซเบอร์ ปัจจุบันยังคงมีความพยายามเจาะเข้าระบบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ประเด็นดังกล่าวมีความถี่สูง สามารถส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีความขัดข้อง โดยประเทศหลักที่มักโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายยังคงเป็นรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ

 

8. COVID-19 Resurgence – ไวรัสกลับมาและกระทบการเมือง ถือเป็นประเด็นที่น่ากลัวในสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากตลาดเชื่อว่าควบคุมการระบาดได้แล้ว นอกจากนี้อาจลามไปเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ เช่นการที่สหรัฐฯ กล่าวหาจีนเรื่องต้นกำเนิดไวรัส หรือการกล่าวหากันว่าเป็นแหล่งสร้างความเสี่ยง ในกรณีเริ่มมีการเปิดการเดินทางในอนาคต


9. U.S.-China Competition – มุมมองการเมืองของสหรัฐฯ และจีนที่แตกต่าง เป็นประเด็นที่ตลาดเชื่อว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องแน่นอน ความเสี่ยงหลักคาดว่าจะเกิดจากความขัดแย้งด้านเขตแดนระหว่างประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ กับจีน ประชาธิปไตยในฮ่องกง สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

 

10. Global Technology Decoupling – แตกสายเทคโนโลยี แม้ความขัดแย้งปัจจุบันจะเกิดขึ้นบ่อยระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลกจากประเด็น Critical Technology, Critical Infrastructure และ Sensitive Data อนาคตจึงมีโอกาสสูงที่ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อาจต้องแตกการผลิตและบริการไปตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ กดดันการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องในระยะยาว

 

สังเกตจากแนวโน้มทั้งหมดจะเห็นว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เคยเป็นปัญหาพร้อมกัน ในปัจจุบันกว่าครึ่งได้กลับตัวและลดความเสี่ยงลงอย่างมาก เบื้องต้นจึงสามารถสรุปได้ว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นคลื่นลมที่สงบลงจริง VIX Index ที่ลดลงไม่ได้แค่เกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากในช่วงนี้

 

มองตรงๆ ทวีปยุโรปกลายเป็นจุดที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์น้อยที่สุดในระยะสั้น โอกาสการลงทุนจะอยู่ในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงแต่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติน้อย


อย่างไรก็ดีเป็นธรรมชาติที่ความขัดแย้งไม่ได้หมดไป ต่อจากนี้ผมเชื่อว่าประเด็นที่ต้องระวังจะมารวมกันที่กลุ่มเทคโนโลยีใหญ่ทั้งในสหรัฐฯ และจีน การเมืองของประเทศเกิดใหม่ที่อ่อนแอจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด ความเสี่ยงจะตกอยู่กับประเทศที่หวังพึ่งต่างชาติหรือรอกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ย้อนกลับ

 

อย่าชะล่าใจ เพราะแม้คลื่นลงจะสงบ แต่ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็อาจถูกคลื่นใต้น้ำพัดออกจากฝั่งไปเรื่อยๆ ได้ครับ

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising