×

ยุสรา มาร์ดินี จากผู้ลี้ภัยซีเรีย สู่เงือกสาวโอลิมปิกเกมส์ และทูตสันถวไมตรีอายุน้อยที่สุดของ UNHCR

28.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ยุสรา มาร์ดินี และพี่สาวของเธอตัดสินใจอพยพออกจากซีเรียบ้านเกิด และเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหญ่ในฐานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ก่อนจะพยายามก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มากมายในชีวิต จนคว้าสิทธิ์เข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ได้สำเร็จ รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น UNHCR Goodwill Ambassador และได้รับฉายา ‘นางฟ้าของผู้ลี้ภัย’

สถานการณ์ปัญหาผู้ลี้ภัยโลกกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และเข้าสู่ขั้นวิกฤตอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และเมื่อปลายปี 2016 มีพลเมืองโลกกว่า 68.5 ล้านคน ที่พยายามหนีเอาชีวิตรอดจากสงครามและความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ความขัดแย้งทางศาสนา รวมถึงการเลือกปฏิบัติและผลักดันให้พวกเขากลายเป็นคนชายขอบของสังคมในรูปแบบต่างๆ เป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิด

 

 

จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ในทุกๆ 1 นาทีจะมีพลเมืองโลกอย่างน้อย 24 คนต้องถูกบังคับให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากปัญหาความรุนแรงต่างๆ และขณะนี้มีผู้ตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทั่วโลกมากกว่า 25.4 ล้านคน ราวครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้เป็นเพียงเด็กและผู้หญิง ซึ่งกว่า 57% ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดมาจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และซูดานใต้

 

THE STANDARD ได้จับมือกับ UNHCR เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงอันโหดร้ายของสงครามและความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ปัญหาผู้ลี้ภัยโลกน่าวิตกเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ รวมถึงพร้อมบอกเล่าเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

 

โดยเรื่องราวของยุสรา มาร์ดินี (Yusra Mardini) คือหนึ่งในนั้น เธอคือเงือกสาวชาวซีเรียที่ต้องอพยพลี้ภัยสงครามจากประเทศบ้านเกิด จนเธอได้รับฉายาว่า ‘นางฟ้าของผู้ลี้ภัย’ สาวน้อยวัย 20 ปีรายนี้ได้รับฉายานี้มาได้อย่างไร ไปทำความรู้จักเธอพร้อมๆ กัน

 

 

ในวันที่ต้องบอกลาบ้านเกิดและสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ เริ่มต้นขึ้น

ยุสราเติบโตขึ้นและอาศัยอยู่กับครอบครัวที่เมืองดาเรย์ยา ชานกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศซีเรีย บ้านพักของเธอถูกทำลายจากความรุนแรงช่วงสงครามกลางเมืองที่โหมกระพือขึ้นจากเหตุการณ์อาหรับสปริงในช่วงปี 2011 จากความหวาดกลัวภัยจากสงครามจึงทำให้พ่อกับแม่ของเธอมีความเห็นตรงกันที่จะให้ยุสรา ในวัยเพียง 17 ปี และซาราห์ พี่สาวของเธอ อพยพลี้ภัยไปยังต่างแดน การออกเดินทางไกลและสถานะผู้ลี้ภัยของเธอและพี่สาวจึงเริ่มต้นขึ้น

 

CNN

 

ทั้งคู่เดินทางออกจากซีเรียในปี 2015 ผ่านพรมแดนของเลบานอนและเดินทางต่อจนถึงตุรกี ประเทศที่สองพี่น้องมาร์ดินี รวมถึงผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ จะมุ่งหน้าสู่กรีซ ประเทศหน้าด่านที่เป็นประตูไปสู่ทวีปยุโรป พื้นที่ที่พวกเขาเฝ้าหวังจะแสวงหาความสุขและเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง

 

แต่การจะเดินทางไปถึงที่นั่นก็พบเจออุปสรรคไม่น้อย ยุสรา พี่สาว และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆอีก 18 คนจำเป็นต้องโดยสารเรือขนาดเล็กที่เดิมทีถูกออกแบบมาให้บรรทุกผู้โดยสารได้ครั้งละไม่เกิน 6-7 คนเท่านั้น เพื่อใช้เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่กรีซ

 

พอเรือแล่นออกไปได้สักระยะหนึ่งเครื่องยนต์เกิดขัดข้องและไม่สามารถเดินเครื่องต่อได้ จึงทำให้ยุสรา เงือกสาวชาวซีเรีย ซาราห์ อดีตไลฟ์การ์ด และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่พอจะสามารถว่ายน้ำได้ตัดสินใจกระโดดลงน้ำ พร้อมกับดันเรือให้เคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อช่วยชีวิตทุกคนที่อยู่บนเรือ โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง จนทั้งหมดเดินทางถึงเกาะเลสบอส (Lesbos) เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกรีซได้ในที่สุด

 

ก่อนที่สองพี่น้องมาร์ดินีจะมุ่งหน้าสู่เยอรมนี เพื่อเริ่มต้น Chapters บทใหม่ในชีวิตของพวกเธอ

 

 

ความพยายาม ความมุ่งมั่น กับโอกาสครั้งสำคัญที่เธอไขว่คว้า

ช่วงแรกยุสราและพี่สาว ผ่านช่วงเวลาฤดูหนาวครั้งแรกในยุโรปของพวกเธอ ภายในเต็นท์หลังหนึ่งกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียคนอื่นๆ อีก 6 คน

 

ในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศ ยุสราเริ่มต้นเรียนภาษาเยอรมัน และหมั่นฝึกซ้อมว่ายน้ำอย่างหนัก เพื่อให้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันว่ายน้ำในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

 

 

จากความพยายามขยันฝึกซ้อมและมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปให้ถึงฝันที่เธอตั้งใจไว้ จึงทำให้ยุสราได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 นักกีฬาที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ภายใต้ทีม Refugee Olympic Team (ROT) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

 

โดย ROT ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันใน 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ กรีฑา ว่ายน้ำ และยูโด ซึ่งนักกีฬาทั้ง 10 คน ล้วนแต่เป็นผู้เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายจากภัยของสงครามและความขัดแย้ง จนไม่สามารถทำให้พวกเขารับใช้ประเทศบ้านเกิดในนามทีมชาติได้

 

 

ถึงแม้ว่ายุสราและนักกีฬาจากทีม ROT คนอื่นๆ จะไม่มีใครสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ได้เลย แต่พวกเขาทั้ง 10 คนก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการกีฬาโลก รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาแทนพลเมืองโลกอีกกว่า 60 ล้านกว่าคน ที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากลำบากในชีวิต จนต้องอพยพลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดและยังคงไม่หยุดที่จะทำตามความฝันของตัวเอง

 

ทางด้านโทมัส บาช (Thomas Bach) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เปิดเผยว่า “ทางคณะผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ ต้องการที่จะส่งสัญญาณแห่งความหวังไปให้ผู้ลี้ภัยทุกคนทั่วโลก และหลังจากที่มหกรรมการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้จบลง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น พวกเราจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนตัวแทนนักกีฬาผู้ลี้ภัยต่อไป และช่วยทำให้ความฝันที่จะเป็นเลิศด้านกีฬาของพวกเขากลายเป็นความจริงขึ้นมา ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงที่พวกเขาจะต้องหนีภัยจากสงครามและความรุนแรงใดๆ ก็ตาม”

 

 

ยุสรากับบทบาทใหม่สู่การเป็น ‘ทูตสันถวไมตรีที่อายุน้อยที่สุดของ UNHCR’

จากการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ผ่านมาในฐานะเงือกสาวของตัวแทนนักกีฬาผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้คนรู้จักยุสราและสนใจเรื่องราวเส้นทางชีวิตของเธอเพิ่มมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 27 เมษายน ปี 2017 ที่ผ่านมา เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ‘ทูตสันถวไมตรีของ UNHCR (UNHCR Goodwill Ambassador)’ ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาทูตสันถวไมตรีทั้งหมด 22 คน

 

ยุสราสร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวชีวิตของตัวเธอเอง เพื่อรณรงค์และสนับสนุนผู้ลี้ภัยทั่วโลก จนเธอกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในประเด็นนี้ที่ได้ขึ้นไปกล่าวสปีชบนเวทีการประชุมระดับโลกอย่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA 72) ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งพบปะผู้นำคนสำคัญของโลกมากมาย รวมถึงพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยได้พยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยให้กระจายเป็นวงกว้างมากที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้

 

 

เงือกสาววัย 20 ปี ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อรับฟังและพยายามบรรเทาปัญหาของเพื่อนผู้ลี้ภัยในพื้นที่นั้นๆ หนึ่งในนั้นคือ เกาะซิซิลีของอิตาลี เธอเดินทางพร้อมกับ UNHCR เพื่อเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ Figlie del Divino Zelo Giardini Naxos องค์กรหน้าด่านที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพเป็นการชั่วคราว ที่จัดการดูแลโดยกลุ่มแม่ชีในประเทศ ซึ่งเปิดให้ความช่วยเหลือหญิงผู้ลี้ภัยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017

 

 

ที่นั่นยุสรามีโอกาสพูดคุยกับกิ๊ฟต์ (Gift) ผู้ลี้ภัยชาวไนจีเรียที่อายุไล่เลี่ยกัน และยังเป็นนักกีฬาเหมือนกับเธออีกด้วย กิ๊ฟต์เล่าว่าเธอฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะได้เป็นนักกรีฑาทีมชาติ แต่ก็ต้องหยุดซ้อมไป เพราะถูกบังคับให้เข้าสู่วงการค้ามนุษย์ “ตอนนี้เราอยากจะเริ่มต้นชีวิตของเราใหม่อีกครั้ง”

 

 

บ่อยครั้งที่ยุสราและใครหลายๆ คนถูกมองอย่างเหยียดหยามว่าเป็นเพียง ‘ภาระ’ ของประชาคมโลก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พวกเธอผ่านอะไรมาบ้างเพื่อที่จะมีชีวิตรอด

 

จากประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิตของเธอ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เธอได้รับฟัง ทำให้ยุสราตัดสินใจที่จะเดินหน้าช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จากความทุ่มเทและความพยายามของเธอทำให้สาวน้อยชาวซีเรียรายนี้ได้รับฉายาว่า ‘นางฟ้าของผู้ลี้ภัย’ โดยเธอหวังว่า “สงครามจะสิ้นสุดลง พวกเราทุกคนจะได้กลับบ้าน และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็จะยุติลงตามไปด้วย”

 

 

“ตั้งแต่การแข่งขันริโอเกมส์ ฉันก็ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องและคิดมาโดยตลอดว่า จะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อยู่ทั่วโลกได้ ฉันรู้ดีว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของฉันคือการว่ายน้ำ เวลาฉันว่ายน้ำ ฉันว่ายน้ำเพื่อผู้ลี้ภัยทุกคน ฉันว่ายน้ำเพื่อที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่า พวกเรามีความสามารถอะไร พวกเราคือคนที่เต็มไปด้วยแพชชัน ทักษะ และความสามารถต่างๆ มากมายแค่ไหน ฉันว่ายน้ำเพื่อที่จะต่อสู้เคียงข้างผู้ลี้ภัยทุกคน”

 

To Stand #WithRefugees

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising