×

แม่น้ำสำคัญหลายสายทั่วโลกประสบปัญหาภัยแล้ง ระดับน้ำลดลงเป็นประวัติการณ์

22.08.2022
  • LOADING...
แม่น้ำ

ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำสำคัญหลายสายทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ระดับน้ำลดลงเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและแปรปรวนมากยิ่งขึ้น โดยมีกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญ

 

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ แต่ยังส่งผลเป็นห่วงโซ่กลับมายังมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำเหล่านี้ในการดำรงชีวิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดื่มกิน การชลประทาน และการเกษตร รวมถึงการขนส่งโลจิสติกส์และการใช้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกด้วย

 

นี่คือภาพรวมบางส่วนของแม่น้ำ 7 สาย จากหลายสายทั่วโลก ที่กำลังเผชิญหน้ากับแนวโน้มความแห้งเหือด ระดับน้ำลดต่ำลงอย่างมาก หลายพื้นที่มีคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม ยิ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่บริเวณนั้นเพิ่มสูงขึ้น และมีทีท่าว่าจะอยู่ยาวนานยิ่งขึ้นตามไปด้วย

 

#แม่น้ำโคโลราโด ที่ไหลผ่านหลายรัฐทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ระดับน้ำในอ่างกักเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง Lake Mead ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ใกล้เข้าสู่ระดับต่ำมากจนไม่สามารถปล่อยน้ำไหลผ่านเขื่อนได้ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ก่อนที่จะเห็นความชัดเจนอย่างมากเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยมีผู้คนราว 40 ล้านรายใน 7 รัฐ รวมถึงในเม็กซิโกพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำสายนี้ ส่งผลให้ทางการต้องวางแผนและเร่งจัดสรรวิธีการใช้น้ำอย่างรอบคอบใหม่อีกครั้ง

 

ในขณะที่ #แม่น้ำแยงซี ของจีน แม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย ก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก คลื่นความร้อนยังคงแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ของประเทศจีน ระดับน้ำที่ลดต่ำลงอย่างมากทำให้ทางการจีนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านภัยแล้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี และจีนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดในรอบ 60 ปี ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะชาวจีนราว 84 ล้านราย ที่อาศัยอยู่ในมณฑลเสฉวนและพึ่งพากระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต กระแสน้ำที่ไหลช้าลง เอื่อยลง ระดับน้ำลดลง ก็ยิ่งส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าลดน้อยลงไปด้วย

 

ส่วน #แม่น้ำไรน์ ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาแอลป์สวิส ไหลผ่านเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเลเหนือ เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญของการขนส่งสินค้าในยุโรป แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ลดลงจนทำให้บางจุดเห็นถึงสันดอน ก็ยิ่งทำให้การเดินทางผ่านแม่น้ำสายนี้ช้าลงและเต็มไปด้วยข้อจำกัด ปริมาณน้ำที่ลดลงส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าต้องลดปริมาณสินค้าที่จะขนส่งลง นั่นหมายความว่าต้นทุนในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางสายนี้ก็จะเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง

 

แม่น้ำที่ยาวที่สุดในอิตาลีอย่าง #แม่น้ำโป ก็กำลังมีแนวโน้มที่จะแห้งขอด หลังประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งปัญหาใหญ่คือผู้คนนับล้านรายพึ่งพาแม่น้ำโปในการดำรงชีวิต อาหารและผลผลิตทางการเกษตรของอิตาลีราว 30% พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ สินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มีชื่อเสียงของอิตาลี อาทิ พาร์เมซานชีส ก็ผลิตขึ้นในพื้นที่แถบนี้

 

ส่วนฝรั่งเศสที่กำลังเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมเป็นวงกว้าง ปะทุกลายเป็นวิกฤตไฟป่าที่ท้าทายระบบการจัดการภัยพิบัติของประเทศอยู่ในขณะนี้ ก็กำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งด้วยเช่นกัน #แม่น้ำลัวร์ หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของฝรั่งเศส มีระดับน้ำและกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามสภาพภูมิอากาศ พื้นที่รอบๆ บริเวณแม่น้ำมีสีน้ำตาลและดูแห้งแล้งมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ อย่างมาก

 

ขณะที่ #แม่น้ำดานูบ แม่น้ำที่ยาวที่สุดที่ไหลผ่านยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ทางน้ำในกว่า 10 ประเทศแถบยุโรป ก็ประสบปัญหาระดับน้ำลดลง หลายประเทศจึงจำเป็นต้องขุดลอกแม่น้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเรือบรรทุกสินค้าต่างๆ จะยังคงล่องผ่านแม่น้ำสายนี้ได้ และแม้จะไม่ได้วิกฤตเท่ากับแม่น้ำสายอื่นในยุโรป แต่ในบางประเทศ อาทิ ฮังการี ก็พึ่งพาแม่น้ำสายนี้เพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมาก ท่าเรือหลายท่าต้องปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากระดับน้ำที่ลดต่ำลง

 

ส่วน #แม่น้ำโขง แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในจีนและหลายประเทศย่านอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ก็กำลังประสบวิกฤตระดับน้ำลดลงอย่างมากตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เคยเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจนปรากฏสันดอนทรายโผล่กลางแม่น้ำ สภาพของแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเช่นนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตแม่น้ำโขงที่ระดับพื้นผิวน้ำลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงอย่างเลย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

 

นับเป็นอีกหนึ่งภาพใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเตือนจากธรรมชาติที่กำลังบ่งชี้ว่าวิกฤตเหล่านี้จะยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาที่ประชาคมโลกทุกภาคส่วนจะต้องหันมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หาทางรับมือและป้องกันวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ร่วมกัน

 

รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ล่าสุด: 22 สิงหาคม 2022

 

แม่น้ำ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising