×

ตลาดเงินโลกป่วนหนัก ผวาเศรษฐกิจทรุดฉุดดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนเฉียดระดับ 36 บาท ด้านราคาน้ำมันร่วงกว่า 10%

06.07.2022
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6 กรกฎาคม) ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวที่บริเวณใกล้ๆ 36 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากฝั่งยุโรปอย่างดัชนี PMI ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้นได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวลงหนักกว่า -10% 

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้น นักลงทุนก็พากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.11% นำโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ อย่างกลุ่มพลังงาน BP -7.0%, Total Energies -6.4% และกลุ่มการเงิน Santander -3.2%, HSBC -3.0%

 

ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงไปกว่า -2.0% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นจนปิดตลาดที่ +0.16% หนุนโดยแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นเทคฯ ใหญ่ เช่น Alphabet (Google) +4.2%, Amazon +3.6% ซึ่งแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Innovation (ARK Innovation ETF +9.1%) นั้นมาจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า Fed อาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยยังคงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.82% ทั้งนี้ เรามองว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ISM Services PMI, ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม และอัตราการว่างงาน และรอประเมินทิศทางนโยบายการเงิน Fed จากรายงานการประชุม Fed ล่าสุด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed  

 

โดยเรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทรงตัวหรือปรับตัวลดลงได้ หากตลาดเชื่อว่า Fed จะไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและเริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ Fed (Terminal Rate) กลับกัน หากตลาดมองว่า Fed ยังมีแนวโน้มเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาได้ แต่การปรับตัวขึ้นก็อาจถูกชะลอด้วยแรงซื้อพันธบัตรเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

  

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์นั้น หลักๆ แล้วมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงการอ่อนค่าลงหนักของสกุลเงินฝั่งยุโรปจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย ทำให้เรามองว่าหากตลาดยังคงกังวลภาพเศรษฐกิจถดถอยอยู่ เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสได้แรงหนุนต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่าลงได้ 

 

ทั้งนี้ จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุม Fed ปลายเดือนนี้ หาก Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ยังมีอยู่ หากทางการจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยก็เริ่มเจอการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจยิ่งกดดันค่าเงินบาทผ่านแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงเทขายหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและธีมการเปิดเมือง (Reopening Theme)

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่าความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้อาจทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน 

 

นอกจากนี้เราประเมินว่าผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์ไว้พอสมควรแล้ว ทำให้ภาพ Panic Buy เงินดอลลาร์จากผู้นำเข้าอาจไม่ได้เกิดขึ้น และมองว่าผู้นำเข้าอาจรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทกลับมาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.05 บาทต่อดอลลาร์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising