×

World Cup Diary Day 14: “ไปกันเถอะ” THE STANDARD พาสำรวจพิพิธภัณฑ์อวกาศมอสโก

02.07.2018
  • LOADING...

‘อวกาศ’ ได้ยินแล้วเรานึกถึงอะไรบ้าง ภาพยนตร์ Interstellar, Star Wars หรือ Star Trek แต่แน่นอนหากพูดถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอวกาศ ‘ยูริ กาการิน’ ต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง เพราะเขาคือมนุษย์คนแรกที่ได้รับโอกาสขึ้นไปสำรวจอวกาศในปี 1961 แต่นอกเหนือจากนั้นล่ะ เขาเป็นใคร ชุดที่เขาใส่คล้ายกับในหนัง Armageddon หรือเปล่า เขากินอาหารจากหลอดลักษณะคล้ายยาสีฟัน? ข้าวของของพวกเขาอยู่ที่ไหนหลังจากกาลเวลาผ่านไปกว่า 50 ปี แล้วสหรัฐฯ เดินทางไปถึงดวงจันทร์เป็นคนแรกจริงๆ หรือ

 

วันนี้ เนื่องจากทีมข่าว THE STANDARD ได้รับโอกาสพิเศษในการมาชมฟุตบอลโลก 2018 ถึงประเทศบ้านเกิดของผู้ที่ก้าวข้ามชั้นบรรยากาศไปสัมผัสอวกาศเป็นคนแรก จึงอดไม่ได้ที่จะไปสำรวจสถานที่ที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ของการเดินทางไปสู่อวกาศภายในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

 

 

ทีมงานได้เดินทางด้วยรถไฟใต้ดินสายสีส้มลงสถานี VDNKh มายังสถานที่ที่มีชื่อว่า Vystavka Dostizheniy Narodnogo Khozyaystva (VDNKh) ซึ่งมีความหมายว่า ศูนย์รวมการจัดแสดงความสำเร็จของเศรษฐกิจประเทศ (Exhibition of Achievements of National Economy)

 

VDNKh ก่อร่างสร้างฐานขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1939 ในยุคสมัยของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ ค.ศ. 1920-1953 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงรูปแบบการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของระบอบสังคมนิยม โดยในปัจจุบันยังเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการสำคัญต่างๆ ของประเทศ และยังทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของกรุงมอสโก

 

 

แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดเมื่อก้าวขึ้นมาจากรถไฟใต้ดิน คงหนีไม่พ้นประติมากรรมไทเทเนียมสูง 100 เมตรที่ตั้งอยู่หน้า VDNKh โดยอนุสาวรีย์มีลักษณ์เป็นการจำลองการปล่อยจรวดสู่อวกาศ ซึ่งเรามาทราบภายหลังว่านี่คือประติมากรรม ‘แด่ผู้พิชิตอวกาศ’ (To the Conquerors of Space) ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1964 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของการปล่อยจรวด Sputnik ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ก้าวขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อปี 1957

 

 

ซึ่งด้านล่างนี้เองที่เป็นพิพิธภัณฑ์อวกาศของมอสโก (Museum of Cosmonautics) ขนาดใหญ่ที่เก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเดินทางไปสู่อวกาศตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสหภาพโซเวียตในอดีต จนถึงสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน ค่าตั๋วเข้าชมคนละ 150 รูเบิล ซึ่งเป็นราคาพิเศษสำหรับแฟนบอลที่พก Fan ID มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ เทียบเป็นเงินไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 78 บาท ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราได้พบต้องบอกเลยว่าคุ้มค่า

 

 

ก้าวผ่านคนเก็บตั๋วเข้ามา สิ่งแรกที่จะได้พบเห็นคือการจัดแสดงยานในรูปแบบต่างๆ พร้อมคำอธิบาย และหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการแข่งขันไปสู่จักรวาล เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างยานอวกาศ พัฒนาการของยานอวกาศในยุคต่างๆ พร้อมทั้งประวัติและของใช้ส่วนตัวของ ยูริ กาการิน

 

ชุดอวกาศของยูริ กาการิน น้ำหนักทั้งหมด 20 กิโลกรัม

 

เหรียญเกียรติยศชั้นเลนินของ ยูริ กาการิน

 

ภายในพิพิธภัณฑ์มีบริเวณกว้าง และต้องใช้เวลาสำรวจหลายชั่วโมงจึงจะสามารถพูดได้ว่าชมครบทุกชิ้น แต่ในช่วงเวลาที่เรามีไม่มาก บวกกับไกด์ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ให้ความช่วยเหลือและแนะนำจุดที่น่าสนใจหลายจุด

 

นักบินอวกาศอยู่กินอย่างไร

 

 

นี่เป็นตัวอย่างของอาหารการกินภายในอวกาศมีทั้งอาหารกระป๋อง อาหารหลอดอย่างที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกัน แต่ในด้านขวาสุดตามภาพคือไฮไลต์ที่ไกด์พิพิธภัณฑ์ได้อธิบายให้เราฟังว่า ภายในซองเล็กๆ นั้นคือขนมปังทั้งหมด 30 แถว โดยแบ่งเป็นซองละ 10 แถวย่อเป็นขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถกินได้ภายในคำเดียว สาเหตุที่ขนมปังต้องมีลักษณะนี้เนื่องจากเป็นการป้องกันการกระจายตัวของเศษขนมปังไม่ให้เข้าไปในตาของนักบินหรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในยาน

 

 

แน่นอนว่าภายในอวกาศไม่สามารถใช้น้ำได้ จึงจำเป็นต้องใช้ผ้าเปียกทำความสะอาดตัวแทน นอกจากนั้นอุปกรณ์อาบน้ำต่างๆ จะมีความคล้ายกับที่เราใช้ในโลก อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ไกด์บอกเราว่ามนุษย์อวกาศจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านทันตแพทย์ โดยจะมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการทำฟันตลอดภายในอวกาศ

 

 

สหรัฐฯ ไปดวงจันทร์ก่อนจริงๆ นะ

 

 

เป็นประโยคที่เราได้ยินแล้วค่อนข้างตกใจ เพราะไม่อยากเชื่อว่าการสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวการสำรวจอวกาศของประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคู่แข่ง Space Race หรือแข่งขันการเดินทางไปยังอวกาศกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น จะมีเรื่องราวแบบนี้อยู่

 

 

ไกด์ได้ชี้ให้เราดูหลักฐานที่ทางสหรัฐฯ ได้ส่งให้กับทางสหภาพโซเวียตหลังจากปฏิบัติการเหยียบดวงจันทร์ประสบความสำเร็จ นั่นคือชิ้นส่วนจากดวงจันทร์ทั้งหมด 4 ชิ้นเล็ก

 

“แล้วจะเชื่อได้ยังไงล่ะว่านี่คือของจริง” ไกด์ถามขึ้นก่อนจะพูดสั้นๆ ว่า “ตามมา”

 

 

นี่คือหลักฐานที่โซเวียตเคยได้รับชิ้นส่วนของดวงจันทร์เช่นกันเมื่อปี ค.ศ. 1970 แต่เป็นการเก็บชิ้นส่วนจากหุ่นยนต์ที่ส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์ และเมื่อได้นำทั้งสองตัวอย่างมาเทียบกัน ปรากฏว่าเป็นความจริง สหรัฐฯ ​ได้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆ ตามคำบอกเล่าและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราได้พบเห็นในวันนี้

 

ภายในช่วงท้ายของพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่รวบรวมศิลปะต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการแข่งขันไปสู่อวกาศของสหภาพโซเวียต

 

 

ก่อนจะปิดท้ายพิพิธภัณฑ์ด้วยห้องรวมโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อหรือ Soviet ‘We Vote for Space!’ Propaganda ที่รวมเอาโฆษณาเกี่ยวกับความสำเร็จในการเดินทางไปสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียตในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มาไว้ในที่เดียวกันให้เห็นถึงผลกระทบทางการเมืองและสังคมของสหภาพโซเวียตในเวลานั้น

 

 

ตลอดเส้นทางของพิพิธภัณฑ์ เราได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ของการแข่งขันเพื่อยกระดับขีดความสามารถของมวลมนุษยชาติ ไม่ต่างกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่กำลังเดินหน้าไปอย่างเข้มข้น เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูกที่ได้มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับสำรวจประวัติศาสตร์ของการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมวลมนุษยชาติ

 

เหมือนกับทีมฟุตบอลต่างๆ ที่กล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ หรือไปในที่ที่ไม่มีใครเคยก้าวข้ามไป ซึ่งบทเรียนที่ได้จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราไม่ได้เพียงแค่เห็นความสำเร็จ แต่เราเห็นความพยายามหลังจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายกลายเป็นผู้ที่สามารถก้าวข้ามชั้นบรรยากาศไปสู่ความสำเร็จเป็นชาติแรกของโลก เหมือนกับประโยคดังที่ ยูริ กาการิน พูดไว้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 เมื่อเวลา 09.07 น. ตามเวลาท้องถิ่นของมอสโกว่า

 

‘Poyekhali!’ หรือที่แปลว่า “ไปกันเถอะ” ในช่วงเวลาที่ยานอวกาศของเขากำลังถูกยิงออกจากฐานขึ้นไปสู่วงโคจร

 

ก่อนจะกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้สัมผัสโลกมนุษย์ทั้งดวงด้วยตาเปล่าพร้อมกับ ประโยคที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ว่า “The Earth is blue. How wonderful. It is amazing.” หรือ “โลกเป็นสีน้ำเงิน ช่างสวยงามจริงๆ มหัศจรรย์มาก”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising