×

ทำไมต้องสิงคโปร์ จุดนัดพบทรัมป์-คิมที่อาจพลิกโฉมหน้าการเมืองโลกไปตลอดกาล

11.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์แห่งการลงทุนและทำธุรกิจ กำลังจะจัดการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับคิมจองอึนในวันที่ 12 มิถุนายนนี้
  • เหตุผลที่สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมคือจุดยืนที่เป็นกลางบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ

หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า ‘สิงคโปร์’ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ซึ่งไม่พลิกโผไปจากที่ผู้สันทัดกรณีคาดหมายกันก่อนหน้านี้

 

แต่คำถามคือทำไมต้องสิงคโปร์? ทั้งที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือมีตัวเลือกมากมายในยุโรปและเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน จีน และมองโกเลีย หรือแม้แต่เขตปลอดทหาร (DMZ) บนชายแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถานที่พบปะกันครั้งแรกระหว่างคิมจองอึนและประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้

 

จุดยืนเป็นกลาง-ภูมิศาสตร์เหมาะ-การเมืองนิ่ง

ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศมองว่า สิงคโปร์เป็นจุดนัดหมายในอุดมคติระหว่างทรัมป์กับคิม เนื่องจากเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางในสายตาคนนอก ถึงแม้จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในอาเซียน แต่สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการติดต่อคบค้าสมาคมกับเกาหลีเหนือและมีสถานทูตเกาหลีเหนือประจำอยู่ที่นั่นด้วย

 

สิงคโปร์เป็นชอยส์อันดับต้นๆ มาแต่แรกแล้ว โดยทั้งไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และจอห์น เคลลี เสนาธิการทำเนียบขาว ต่างก็สนับสนุนตัวเลือกนี้อย่างแข็งขัน เพราะมองว่าสถานที่จัดซัมมิตจะมีผลต่อมุมมองเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาในสายตาชาวโลก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องจัดที่ประเทศเป็นกลาง ทั้งในแง่ระบอบการเมืองการปกครองและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือไม่ดูเป็นคอมมิวนิสต์มากเกินไปเหมือนกับจีนหรือรัสเซีย

 

นอกจากนี้สิงคโปร์ยังตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ มากนัก

 

แต่หากเลือกยุโรปเป็นจุดนัดพบ คิมจองอึนอาจถูกมองว่าเสียเปรียบในเชิงการต่อรอง เนื่องจากจัดในเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ

 

เดวิด เอเดลแมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศสิงคโปร์ให้ความเห็นกับสื่อต่างประเทศว่า “สิงคโปร์เป็นมหามิตรกับสหรัฐฯ ก็จริง แต่พวกเขาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นมิตรกับทุกประเทศเช่นกัน ดังนั้นจึงได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากทั่วโลก”

 

สิงคโปร์ปกครองโดยรัฐบาลจากพรรค People’s Action Party (PAP) มาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 ดังนั้นการเมืองจึงมีเสถียรภาพค่อนข้างสูง และที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยปรากฏเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองให้น่าวิตกแต่อย่างใด

 

ปลอดภัย-มีประสบการณ์จัดงานใหญ่

 

“ในประวัติศาสตร์ สิงคโปร์เป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางและมีความจริงใจต่อทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก และที่สำคัญคือสิงคโปร์มีประสบการณ์ในการจัดการประชุมระดับสูง” เอเดลแมนสำทับ

 

สิงคโปร์เคยจัดการประชุมสุดยอดมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงซัมมิตอาเซียนและการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งจีนและประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วของไต้หวันเมื่อปี 2015

 

นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Shangri-La Dialogue ซึ่งเป็นเวทีประชุมด้านความมั่นคงของโลกเป็นประจำทุกปี

 

ดังนั้นในแง่ความปลอดภัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก พื้นที่ไม่กว้างใหญ่ จึงสามารถวางกำลังรักษาความปลอดภัยได้ง่าย นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมียุทโธปกรณ์และฮาร์ดแวร์ทันสมัยจากสหรัฐฯ ประจำการที่ฐานทัพอย่างพร้อมสรรพ

 

นอกจากจุดยืนทางการเมืองและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แล้ว สิงคโปร์ยังเป็นดินแดนในอุดมคติสำหรับการลงทุนและดำเนินธุรกิจ มีฐานะเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ และเป็นประเทศเอเชียที่ลงทุนในสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 โดยปัจจุบันสิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น Facebook, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Walt Disney และ Chevron เป็นต้น ดังนั้นจึงสมศักดิ์ศรีผู้นำสหรัฐฯ หากเลือกที่นี่

 

เหตุที่ไม่เลือกจีนและเขตปลอดทหารในชายแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้

ทรัมป์เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ได้พิจารณาตัวเลือกมากมาย รวมทั้งจีนและเขตปลอดทหาร (DMZ) ในเกาหลีใต้ด้วย แต่นักวิเคราะห์มองว่าจีนเป็นประเทศพันธมิตรที่เหนียวแน่นของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลต่อเปียงยางมากเช่นกัน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

แฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการป้องกันแห่งศูนย์ Center for the National Interest ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า “ไม่มีทางเลยที่คุณจะจัดการประชุมแบบนี้ในจีน เพราะหน่วยข่าวกรองของจีนย่อมเก็บรายละเอียดทุกเม็ดของการสนทนาแน่”

 

แต่หากเปรียบเทียบระหว่างจีนกับเขต DMZ แล้ว เอียน เบรมเมอร์ ซีอีโอ Eurasia Group มองว่า “มันอาจเป็นการดีกว่าถ้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเลือกจีนแทนที่จะเป็นเขตปลอดทหารในเกาหลี ซึ่งเปรียบเหมือนการเดินไปคุยที่หน้าประตูบ้านของคิมจองอึน”

 

สำหรับมองโกเลียถูกตัดออกแต่แรก ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

 

ดังนั้นเมื่อตัดจีน เขตปลอดทหารในเกาหลี และมองโกเลียออกแล้ว สิงคโปร์จึงดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวคิมจองอึนเองด้วย

 

ทอม แพลนต์ นักกลยุทธ์ด้านนิวเคลียร์แห่งสถาบัน Royal United Services Institute ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า การประชุมที่สิงคโปร์จะทำให้คิมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในดินแดนที่เป็นมิตร ไม่ใช่ศัตรู และการเลือกสิงคโปร์ก็เป็นชอยส์ที่ปลอดภัย ซึ่งจีนก็ยอมรับได้

 

ความหวังในที่ประชุมซัมมิต

ผู้คนทั่วโลกต่างตั้งความหวังว่าการพบกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับคิมจองอึนจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยทรัมป์บอกเองว่า เขาและคิมจะพยายามทำให้ซัมมิตครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับสันติภาพของโลก

 

“เรากำลังเริ่มก้าวย่างใหม่ ผมคิดว่าเรามีโอกาสที่ดีมากในการทำสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะสิ่งดีๆ มากมายได้เกิดขึ้นแล้ว” ทรัมป์กล่าวขณะต้อนรับพลเมืองชาวอเมริกัน 3 คนที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากเกาหลีเหนือหลังถูกกักขังในข้อหาบ่อนทำลายและเป็นปรปักษ์ต่อรัฐ

 

“ผมคิดว่าเขา (คิมจองอึน) ต้องการนำพาประเทศก้าวเข้าสู่เวทีโลกที่แท้จริง ในอดีตที่ผ่านมาเรายังไม่เคยก้าวมาถึงจุดนี้ ไม่เคยมีความสัมพันธ์แบบนี้ ผมคิดว่าเราพัฒนามาไกลมาก” ทรัมป์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่าอย่าเพิ่งตั้งความหวังกับการประชุมรอบนี้มากเกินไป

 

โจชัว โพลลัก ผู้ช่วยนักวิจัยแห่งสถาบัน Middlebury Institute of International Studies ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ทัศนะว่า การที่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ประกอบกับความเคลือบแคลงว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรจริงหรือไม่ อาจสร้างความหวาดระแวงให้กับสองฝ่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยแบบเปิดใจต่อกัน

 

“แม้ว่าซัมมิตครั้งนี้อาจมีการออกแถลงการณ์ร่วมที่มาพร้อมผลลัพธ์ดีๆ บางอย่าง แต่ผมไม่คิดว่าจะเกิดข้อตกลงที่มีรายละเอียดลงลึก และผมก็ไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะมองสหรัฐฯ เป็นคู่เจรจาที่สำคัญที่สุดในเวลานี้”

 

ไม่ว่าการพูดคุยนัดแรกระหว่างทรัมป์กับคิมจะลงเอยอย่างไร แต่ย่อมถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญระหว่างสองฝ่ายในการพัฒนาความสัมพันธ์สู่ภาวะปกติ โดยสัญญาณบวกที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายในช่วงหลังอาจเป็นแรงส่งให้เกิดสันติภาพขึ้นในระยะยาว ขณะที่สิงคโปร์จะเป็นหลักชัยสำคัญของการทูตระหว่างสองประเทศที่กำลังพลิกโฉมไปจากเดิม      

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising