×

ผลศึกษาชี้ ภาวะความร้อนพุ่งในสิงคโปร์เสี่ยงทำเศรษฐกิจเสียหายกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์

04.04.2024
  • LOADING...
ภาวะความร้อน ใน สิงคโปร์ Singapore เสี่ยงทำ เศรษฐกิจ พัง

ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) เปิดเผยให้เห็นว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เนื่องจากภาวะความเครียดจากความร้อน หรือ Heat Stress อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แตะ 1,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2035 จากมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤตโควิดระบาดในปี 2018 โดยมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการที่ Heat Stress ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานลดลง 

 

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวได้ย้อนกลับไปดูผลในช่วงปี 2018 ที่พบว่า ภาวะความเครียดจากความร้อนส่งผลให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยลดลง 11.3% ในภาคเศรษฐกิจใหญ่ทั้ง 4 ภาคของสิงคโปร์ ได้แก่ บริการ การก่อสร้าง การผลิต และการเกษตร ซึ่งภาวะความเครียดจากความร้อนมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายมากขึ้นในอีกช่วงทศวรรษข้างหน้า 

 

การศึกษาครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ Project HeatSafe ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยผลผลิตที่ลดลงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2035 นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2,220 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว 

 

ขณะเดียวกัน การสูญเสียจะสูงขึ้นอย่างมากสำหรับคนงานที่ต้องสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น คนงานที่ทำงานกลางแจ้ง หรือทำงานกับไอร้อนต่างๆ เช่น เครื่องจักร

 

ทั้งนี้ มีการประมาณกันว่าทุกๆ วันที่มีอากาศร้อนประสิทธิภาพการทำงานของคนงานจะลดลงในช่วงเวลาทำงาน โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจว่าส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะสูญเสียรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 570 บาทต่อคนงานหนึ่งคน”

 

ขณะเดียวกัน รายงานยังพบว่าโครงการ Project HeatSafe เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งแรกในสิงคโปร์และภูมิภาคที่มุ่งประเมินผลกระทบของระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้นต่อผลผลิตและสุขภาพในระดับบุคคลและระดับเศรษฐกิจมหภาค

 

Natalia Borzino จาก Singapore-ETH Centre ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมมือของ Project HeatSafe กล่าวว่า ทางทีมใช้ปี 2018 เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดและเป็น ‘ปีปกติ’ สุดท้ายที่ทีมมีข้อมูล

 

ทั้งนี้ สิงคโปร์กำลังร้อนขึ้นเร็วเป็น 2 เท่าของส่วนอื่นๆ ของโลก โดยดัชนีรังสียูวีขณะนี้ขยับเพิ่มขึ้นแตะระดับ ‘สุดขีด’ เป็นครั้งที่ 2 ภายใน 4 วัน ซึ่งเป็นแถบที่สูงที่สุดในมาตรวัดรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ของสิงคโปร์

 

แน่นอนว่าสิงคโปร์และชาติสมาชิกอาเซียนไม่ใช่ภูมิภาคเดียวกันที่กำลังเผชิญผลลัพธ์ร้ายแรงจากภาวะความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางทีมนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าโลกได้ผ่านเกณฑ์ภาวะโลกร้อนที่สำคัญตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนว่า โลกได้เคลื่อนตัวออกจากภาวะโลกร้อนไปสู่ ‘ยุคแห่งความเดือดดาลของโลก’ (An Era of Global Boiling)

 

นอกเหนือจากส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับรู้และการออกแรงทางกายภาพแล้ว การวิจัยของ NUS ยังพบว่าการสัมผัสความร้อนจัดยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising