×

Civil War ในสหรัฐอเมริกา: ย้อนประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกในอนาคต

15.04.2024
  • LOADING...

เมื่อเดือนมีนาคม โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกเป็นข่าวอีกครั้งจากคำปราศรัยหาเสียงของเขาที่เมืองเดย์ตัน มลรัฐโอไฮโอ เขาบอกว่าจะต้องมีการนองเลือด (Bloodbath) อีกครั้ง ถ้าหากเขาแพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ 

 

นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนกังวลว่า มันอาจเป็นการส่งสัญญาณของทรัมป์ให้ผู้สนับสนุนของเขาใช้ความรุนแรงให้มากกว่าเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 (หลังความพ่ายแพ้ของเขาต่อ โจ ไบเดน ในรอบแรก) และความรุนแรงในรอบนี้อาจจะลุกลามไปถึงการเกิดสงครามกลางเมือง หรือ Civil War แต่รายละเอียดของสงครามกลางเมืองที่ว่านี้อาจแตกต่างไปจากเนื้อหาในภาพยนตร์ Civil War ที่หลายคนได้รับชมกันไปแล้ว

 

ในอดีตสหรัฐฯ เคยมีสงครามกลางเมืองมาแล้ว เราย้อนไปดูกันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

Civil War เคยเกิดมาแล้วในยุคประธานาธิบดีลินคอล์น

 

มลรัฐทางภาคเหนือและทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกามีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างประเทศในเรื่องของการมีอยู่ของทาส (ที่ถูกจับตัวหรือล่อลวงมาจากทวีปแอฟริกา) โดยมลรัฐทางภาคเหนือมองว่ามนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน และการมีอยู่ของระบบทาสเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมหันต์ทางศีลธรรม ในขณะที่มลรัฐทางภาคใต้มองว่าการมีอยู่ของแรงงานผิวดำนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อระบบเศรษฐกิจของตัวเอง เพราะมลรัฐทางภาคใต้นั้นพึ่งพาการเกษตรอย่างการปลูกฝ้ายและยาสูบเป็นหลัก ชาวอเมริกันทางภาคใต้มองว่าคนเหนือสามารถเอาเรื่องศีลธรรมมาพูดได้ เพราะระบบเศรษฐกิจของตัวเองไม่ได้พึ่งพาแรงงานทาสอยู่แล้ว (มลรัฐทางภาคเหนือพึ่งพาอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก)

 

จุดแตกหักของสองฝ่ายเกิดขึ้นหลังจาก อับราฮัม ลินคอล์น ชนะการเลือกตั้งในปี 1860 โดยลินคอล์นเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านการค้าทาส (Abolitionist) ตัวยง และหาเสียงโดยการชูนโยบายจำกัดไม่ให้มีการค้าทาสในมลรัฐทางภาคตะวันตกที่เพิ่งมาร่วมเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งลินคอล์นสามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในมลรัฐทางภาคเหนือ แต่ไม่สามารถชนะที่มลรัฐทางภาคใต้ได้แม้แต่มลรัฐเดียว

 

11 มลรัฐทางภาคใต้ตัดสินใจแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา (United States of America) มาตั้งตนเป็นประเทศที่เรียกว่า Confederate States of America หลังชัยชนะของลินคอล์น เพราะพวกเขากลัวว่าลินคอล์นจะออกกฎหมายห้ามมีการค้าทาสในมลรัฐของพวกตน ซึ่งก็แน่นอนว่ารัฐบาลของลินคอล์นย่อมไม่ยินยอมและสั่งให้ทหารของรัฐบาลกลางและมลรัฐทางภาคเหนือบุกลงใต้เพื่อล้มรัฐบาลของ Confederate States 

 

ซึ่งในช่วงแรกของสงครามกลางเมือง ฝ่ายใต้ดูเหมือนว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่า เพราะพวกเขามีนายพลที่เข้มแข็งและเก่งกาจในเรื่องการวางกลยุทธ์ในสนามรบอย่างนายพลโรเบิร์ต อี ลี อย่างไรก็ตาม ไม่มีฝั่งไหนรบชนะอย่างเด็ดขาด และสงครามก็ดำเนินไปเรื่อยกินเวลาถึงกว่า 4 ปี จนในที่สุดฝ่ายใต้ก็อ่อนแอลงด้วยกำลังพลและทรัพยากรที่ด้อยกว่า จนนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายเหนือ และมีการประกาศเลิกทาสทั่วประเทศในที่สุด

 

แล้วอนาคตมีโอกาสเกิด Civil War อีกไหม?

 

ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกยุคปัจจุบันไม่เหมือนเดิม

 

ความขัดแย้งของชาวอเมริกันที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมและอนุรักษนิยมนั้นเข้มข้นขึ้นอย่างถึงขีดสุดนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาเล่นการเมืองในปี 2016 เพราะทรัมป์มีสไตล์การเล่นการเมืองแบบไม่ประนีประนอมใดๆ ทำให้ผู้สนับสนุนของเขามีความสุดโต่งแตกต่างไปจากฐานเสียงของพรรครีพับลิกันในรูปแบบเดิมๆ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 วันนั้นผู้สนับสนุนของทรัมป์แสดงออกถึงความต้องการที่จะใช้ความรุนแรงถึงแก่ชีวิตกับนักการเมืองที่มาขวางทางการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ ซึ่งแม้แต่ ไมค์ เพนซ์ อดีตรองประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็เคยถูกขู่ฆ่ามาแล้ว เพราะเพนซ์ไม่ยอมล้มพิธีรับรองผลการเลือกตั้งตามคำขอของทรัมป์

 

ความขัดแย้งและการพร้อมใช้ความรุนแรงของฐานเสียงของทรัมป์ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า สหรัฐอเมริกาอาจจะกำลังเดินเข้าสู่ Civil War อีกรอบ แต่อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะเกิด Civil War ได้จริงๆ นั้นคงน้อยมาก เพราะภูมิรัฐศาสตร์ของความขัดแย้งนั้นไม่เหมือนกับยุคของลินคอล์น เพราะปัจจุบันความขัดแย้งเป็นเรื่องของคนในเมือง (ที่มักจะมีแนวคิดแบบเสรีนิยมและลงคะแนนให้เดโมแครต) กับคนในเขตชนบท (ที่มักจะมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมและลงคะแนนให้รีพับลิกัน) ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในมลรัฐเดียวกันจะมีทั้งฐานเสียงของเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่เหมือนกับยุคของลินคอล์นที่เป็นความขัดแย้งข้ามมลรัฐที่มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าจะแยกประเทศกันตรงไหน 

 

และที่สำคัญคือ ในยุคปัจจุบันสำนึกความเป็นชาติของชาวอเมริกันนั้นเป็นปึกแผ่นและฝังรากหยั่งลึกไปแล้ว ไม่เหมือนในยุคก่อร่างสร้างประเทศที่ชาวอเมริกันยังมองว่าตัวเองเป็นคนของ Colony หรือมลรัฐ มากกว่าเป็นพลเมืองของชาติ ซึ่งนั่นก็ทำให้แนวคิดที่มลรัฐต่างๆ จะแยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่นั้นไม่เป็นที่นิยมเอาเสียเลย 

 

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า แม้แต่ในมลรัฐที่เคยเป็นประเทศอิสระมาก่อน และเป็นเขตของรีพับลิกันเข้มข้นอย่างเท็กซัส มีเพียงชาวอเมริกันในเท็กซัสแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับแนวคิดการแยกประเทศ

 

ภาพ: eurobanks via Shutterstock, Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising