×

ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยงพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งเวียดนามและอินเดีย

12.03.2024
  • LOADING...

สินค้าจากจีนที่ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า (Garment) และข้าวของเครื่องใช้ วันนี้ยังมีสินค้าประเภทผักและผลไม้เข้ามาทุ่มตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง หากปัญหานี้ยังกลืนกินภาคการผลิตของไทยไปเรื่อยๆ และนำไปสู่อาการสายเกินแก้

 

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมก็คือ นอกจากสินค้าจากต่างประเทศจะทะลักเข้ามาในไทยและอาเซียนแล้ว ภาคการส่งออกไทยเองก็เริ่มหมดแรงและกำลังจะแบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว 

 

ล่าสุด ในการประชุมภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ต่างกังวลว่า สินค้าประเภท ‘ผักและผลไม้’ ทะลักเข้ามายังไทยมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขเดือนมกราคมของการนำเข้าสินค้าได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,275.20 ล้านบาท ขยายตัวถึง 8.45 หากเทียบปีก่อน ซึ่งการที่ผักและผลไม้มีการนำเข้ามาจำนวนมาก นอกจากจะต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพแล้ว ยังซ้ำเติมการทะลักของสินค้ามากขึ้นไปอีก 

 

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอาเซียนเผชิญต้นทุนการผลิตของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งจากค่าไฟฟ้า ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และต้นทุนด้านโลจิสติกส์

 

ทำให้สินค้าไทยในปัจจุบันเริ่มที่จะแข่งขันได้ยากยิ่งขึ้นในตลาดอาเซียน ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนปี 2566 ที่ลดลงกว่าร้อยละ 7.12 เมื่อเทียบกับปี 2565

 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและสินค้าไม่มีมาตรฐานที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมากถึงร้อยละ 65.8 ด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

“ยังกระทบยอดขายสินค้าของไทยลดลงตั้งแต่ร้อยละ 10-30 หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาในประเทศได้”

 

ภาครัฐควรเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานและใช้การสำแดงเท็จนำเข้าผ่านด่านศุลกากร ควบคู่ไปกับการตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดทั้ง มอก. และ อย. รวมทั้งจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์ e-Commerce Platform

 

“พร้อมทั้งเร่งทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท และออกมาตรการป้องกันการสำแดงราคาเท็จ ตลอดจนทบทวนเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone Warehouse) เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมในการขายสินค้าในประเทศ”

 

ส่งออกเริ่มแบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แนะรัฐเร่งปรับโครงสร้าง  

 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ภาคส่งออกที่พัฒนามาค่อนข้างมากและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปี กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ 

 

โดยปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มอ่อนแรงใน 3 ประเด็น คือ

 

  • ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว  

 

  • ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ สมาร์ทโฟน, เซมิคอนดักเตอร์ และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

  • สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นคือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด) 

 

‘ข้าวไทย’ มีแนวโน้มสูญเสียอันดับให้คู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย

 

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก  

 

“สินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าว มีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

ภาพ: ​​Pavel Tochinsky / Getty Images 

 

ในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศคู่แข่งเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น เวียดนาม ได้กลายเป็นฐานการส่งออกสมาร์ทโฟน แผงวงจรไฟฟ้า และโซลาร์เซลล์ ในตลาดโลกมากขึ้น หรือมาเลเซีย ที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง

 

“ยิ่งไปกว่านั้น อีกด้านหนึ่งเศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิดจีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่า และส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง

 

KKP Research มองเศรษฐกิจไทยทรุด เหตุสินค้าจีนทุ่มตลาด เนื่องจาก

 

  • ความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง จากการที่ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก หรือรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า EV, เฟอร์นิเจอร์, กระดาษ และยางรถยนต์

 

  • มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น เพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-Routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในภาพรวมเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาร์เซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยน้อยมาก
     ดังนั้นหากแนวโน้ม Re-Routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่นๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศไม่เพิ่มขึ้น แม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม

 

  • จีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และเข้ามาเจาะตลาดในไทยโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่นๆ

 

ปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่ง การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น

 

กระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ

 

  1. ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า

 

  1. แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต

 

  1. ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม KKP Research แนะนำทางออกว่า ผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-Side Structural Reform Policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงาน รองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ พร้อมประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising