×

กางเกงช้างและปรากฏการณ์สินค้าจีนทะลักไทย กำลังบอกอะไร? เรื่องเก่าเล่าใหม่ที่อาจไม่เหมือนเดิม

10.02.2024
  • LOADING...
สินค้าจีน

สินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายในไทยนับวันยิ่งทะลักเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากจีนสามารถผลิตสินค้าได้ทีละเป็นจำนวนมาก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ ทำให้ตั้งราคาถูกและเข้ามาตัดราคา

 

จากรูปแบบการนำเข้าสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง กว่าจะผ่านขั้นตอนการขนส่ง กระจายสินค้า จนเกิดรายได้หมุนเวียนจากการขายสินค้าและเกิดการจ้างงาน และการเสียภาษีอย่างถูกต้อง วันนี้กลับเกิดเป็นคำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาคการผลิตของไทย สินค้าจีนทะลักเข้ามาขนาดนี้ได้อย่างไร ปัญหาอยู่ที่จุดไหน

 

สะท้อนภาพชัดอีก เมื่อกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า ‘จีน’ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ในปี 2556 ของไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออกไปจีน) โดยขาดดุลการค้าถึง 1,295,895 ล้านบาท (จำนวนนี้แยกเป็นการส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท และนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท)

 

ล่าสุด ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศและสิ่งที่กำลังเป็นกระแส อย่างเช่น กางเกงช้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่กำลังสะเทือนไปทั้งตลาดอาเซียน ซึ่งจากการหารือร่วมกันผู้ประกอบการ ภาคเอกชนต่างกังวลปัญหาช่องโหว่ของสินค้าราคาถูกจะเข้ามาทุ่มตลาดในไทย ทั้งจากสินค้าออนไลน์ และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ดังนั้นทางออกที่รัฐบาลต้องเร่งรัดคือการทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท

 

รวมไปถึงสกัดการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หากไม่มีมาตรการใดๆ จะทำให้สินค้านำเข้ามามีราคาถูก สินค้าไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs

 

“ต้องบอกว่ากระแสของกางเกงช้างเป็นหนึ่งในสินค้าที่สะท้อนภาพของปัญหาสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากได้ชัดขึ้น เมื่อสินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้”

 

ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

งัดมาตรการทุ่มตลาดสกัดสินค้าทะลัก

 

นอกจากนี้ เอกชนขอให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการเร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม

 

“จีนมีต้นทุนการผลิตต่ำ บวกกับการใช้อีคอมเมิร์ซในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่าสินค้าไทยเข้ามาขายในไทย เมื่อบวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ภาคการผลิตอ่อนแอ ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ก็พบว่าขณะนี้สินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด”

 

 

นอกจากนี้ สินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงพบสินค้าไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) แต่กลับมีการขายตามท้องตลาดในราคาถูก รัฐบาลต้องเร่งรัดวางมาตรการสกัดให้เข้มงวดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราอยากสะท้อนไปถึงรัฐบาลอย่างมากที่สุดในเวลานี้

 

อุตสาหกรรมเหล็กอาการหนัก 2 ยักษ์ใหญ่จีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทย

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สินค้าราคาถูกและสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามาไทยต่อเนื่อง ซึ่งมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและเป็นการนำเข้ามาทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายในลักษณะสำแดงเท็จโดยไม่เปิดตู้สินค้า เป็นสินค้าที่คุณภาพต่ำ ไม่มีมาตรฐานเพราะไม่ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

 

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเดียว แต่มีมากกว่า 20 อุตสาหกรรม เช่น อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ด้วยสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมกับจีนชะลอตัว ผู้ผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่จึงต้องมองหาตลาดมารองรับสต็อกสินค้า ทำให้ต้องส่งสินค้ามายังไทย”

 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังทรุด อาการค่อนข้างหนัก ซึ่งล่าสุดมีบริษัทรายใหญ่จากจีน 2 แห่งเข้ามาตั้งโรงงานในไทยอีกด้วย

 

 

ปัญหาดังกล่าวยังไม่รวมถึงปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ทั้งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบาย ผลกระทบจากสงครามและกระทบกับราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน การแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยทั้งสิ้น

 

ภาคเอกชนไทยปรับตัวเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ หากหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการที่เข้มงวดมากพอ ไทยอาจจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นไปเรื่อยๆ หรือไม่

 

ภาพ: Magnilion / Getty Images, Yongyuan Dai / Getty Images, Westend61 / Getty Images, Cravetiger / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising