×

เรารู้อะไรบ้างในเหตุโจมตีโรงพยาบาลกาซา ความรุนแรงที่จุดชนวนโลกอาหรับประท้วงเดือด

19.10.2023
  • LOADING...
โรงพยาบาลกาซา

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนทั่วโลก เมื่อมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายระเบิดโจมตีโรงพยาบาลอัลอาห์ลี (Al Ahli) ในฉนวนกาซา ทั้งที่โรงพยาบาลควรเป็นสถานที่ปลอดภัยในยามสงคราม จนเป็นเหตุให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเกือบ 500 คน เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เครื่องบินของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา จะลงจอดที่กรุงเทลอาวีฟของอิสราเอล ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างกลุ่มฮามาสและกองกำลังอิสราเอลที่ขยับจุดเดือดของสงครามให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่หวาดวิตกของคนทั้งโลก

 

ขณะเดียวกันภาพความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ที่กอดกันร่ำไห้ต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ยังได้จุดกระแสความโกรธแค้นให้ปะทุหนัก แม้ตอนนี้จะยังไม่มีฝ่ายใดที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบชัดเจน แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า ประชาชนในหลายประเทศตะวันออกกลางที่ไม่พอใจอิสราเอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกโกรธแค้นเป็นอย่างมาก จนพร้อมใจกันออกมาเดินขบวนประท้วงใหญ่ ก่อนที่สถานการณ์จะขยายวงกลายเป็นเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่อีกด้วย

 

📍 ใครเป็นฝ่ายโจมตีโรงพยาบาลกันแน่

 

ตอบได้ว่า ‘ยังไม่แน่ชัด’ เพราะทั้งฝ่ายอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายคือผู้ก่อเหตุตัวจริง

 

โดยวานนี้ (18 ตุลาคม) กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสระบุว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล พร้อมประณามว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม ขณะที่อิสราเอลปฏิเสธว่ากองทัพของตนไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงพยาบาลในกาซา และชี้ว่าระเบิดนั้นเกิดจากการยิงจรวดโดยกลุ่มญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (Palestinian Islamic Jihad: PIJ) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย 

 

แต่ก็กลายเป็นว่าในท้ายที่สุด กลุ่ม PIJ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่าทางกลุ่มไม่ได้เปิดปฏิบัติการใดๆ ทั้งภายในหรือรอบๆ ฉนวนกาซาในเวลาดังกล่าว

 

ด้านไบเดน ซึ่งอยู่ขณะเดินทางเยือนอิสราเอลในเวลานั้น กล่าวว่า จากข้อมูลที่เขาได้รับมา เชื่อได้ว่าเหตุระเบิดโรงพยาบาลเป็นผลมาจากการยิงจรวดที่ผิดพลาดโดย ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของอิสราเอล อันเป็นชาติพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ และไบเดนเองก็ออกโรงหนุนอิสราเอลมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเหตุความขัดแย้ง 

 

ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมจะไม่พูดอะไรแบบนั้นหากผมไม่เชื่อมั่นในแหล่งที่มาของข้อมูล กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ก่อเหตุจะเป็นอิสราเอล”

 

ขณะเดียวกันไบเดนยังได้ให้คำมั่นด้วยว่าเขาจะให้การสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก พร้อมยืนยันว่า สหรัฐฯ ยืนหยัดในหลักการปกป้องชีวิตพลเรือนในระหว่างเหตุความขัดแย้ง และตัวเขาเองก็รู้สึกเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในโลกตะวันพยายามเรียกร้องให้มีการเปิดฉากสอบสวนที่มาที่ไปให้กระจ่าง โดยยังไม่สรุปว่าผู้ใดที่ก่อเหตุกันแน่ ส่วนโลกอาหรับสถานการณ์ค่อนข้างดุเดือด โดยหลายประเทศกล่าวโจมตีชัดเจนว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายที่ก่อให้เกิดความรุนแรงครั้งนี้

 

📍 เสียหายแค่ไหน

 

โรงพยาบาลอัลอาห์ลีอยู่คู่กับดินแดนแห่งนี้มายาวนาน โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1882 และทางโรงพยาบาลนิยามตัวเองว่าเป็น ‘พื้นที่แห่งความสงบสุขท่ามกลางดินแดนที่มีปัญหามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก’ 

 

โรงพยาบาลอัลอาห์ลีถือเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ให้บริการผู้ป่วยทั้งหมดราว 80 เตียงด้วยกัน มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่เมืองกาซาซิตี้ ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา

 

ถึงแม้ว่าจำนวนเตียงที่ให้บริการจะมีแค่เพียง 80 เตียง แต่ในความเป็นจริงแล้วปริมาณคนที่อัดแน่นอยู่ในโรงพยาบาล ณ วันเกิดเหตุมีสูงกว่านั้นมาก เพราะนอกเหนือจากแพทย์และคนไข้ประจำแล้ว ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

และที่วิตกคือ ปัจจุบันโรงพยาบาลในฉนวนกาซาไม่ได้มีไว้เพียงให้บริการผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสถานที่พักพิงของประชาชนที่แสวงหาพื้นที่หลบภัย เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียการโจมตีก็ไม่น่ารุกล้ำเข้ามาถึงในเขตโรงพยาบาล

 

ดร.ฟาเดล นาอิม หัวหน้าแผนกศัลยกรรมกระดูก กล่าวว่า ช่วงเช้าของวันเกิดเหตุมีประชาชนประมาณ 1,000 คนที่อยู่ในเขตโรงพยาบาล ก่อนที่ในช่วงสายจะมีผู้คนทยอยเดินทางมาสมทบอีก เนื่องจากกองทัพอิสราเอลได้ประกาศเตือนประชาชนในย่านไซตูน (Zeitoun) ให้อพยพออกจากบ้านของพวกเขา

 

ด้าน ดร.อิบราฮิม อัล-นากา กล่าวว่า มีผู้คนกว่า 3,000 ชีวิตที่ได้มาขออาศัยอยู่ในเขตโรงพยาบาล ณ เวลาที่เกิดเหตุโจมตีขึ้น

 

นอกเหนือจากจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 471 คนแล้ว ภาพข่าวและวิดีโอจากสื่อแหล่งต่างๆ ยังเผยให้เห็นรถยนต์ประมาณ 20 คันที่ถูกทำลาย รวมถึงอาคารที่พังถล่มลงมา เศษกระจกที่แตกกระจาย รวมถึงคราบเลือดของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตกระจายอยู่ตามผนังและพื้นด้วย

 

📍 ก่อนโจมตีมีสัญญาณอะไรหรือไม่

 

ในช่วงที่ผ่านมาอิสราเอลได้แจ้งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา (ซึ่งรวมถึงเมืองกาซาซิตี้อันเป็นจุดเกิดเหตุ) ให้ทิ้งบ้านเรือนของตัวเองและอพยพไปทางใต้ ‘เพื่อความปลอดภัยในชีวิต’ ก่อนที่จะมีการเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ 

 

โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในวันอังคารที่เกิดเหตุนั้น กองทัพอิสราเอลได้โพสต์ข้อความบน X หรือ twitter เพื่อแจ้งให้ชาวเมืองที่อยู่ในย่านไซตูนให้อพยพลงใต้โดยเฉพาะ

 

โรงพยาบาลเฉพาะทางคูเวตในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ว่า ทางโรงพยาบาลได้รับคำเตือนจากอิสราเอลให้อพยพถึง 2 ครั้ง แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ย้ายออกไปไหน

 

📍 โลกอาหรับประท้วงเดือด

 

การโจมตีที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจที่จุดกระแสความโกรธแค้นให้ปะทุขึ้นในโลกอาหรับและกลุ่มผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ โดยวานนี้ (18 ตุลาคม) รัฐบาลจากหลายชาติได้ออกมากล่าวโทษอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องดังกล่าว ขณะที่ประชาชนในตะวันออกกลางได้มารวมตัวประท้วง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำที่รุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์

 

กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดนกล่าวโทษอิสราเอลสำหรับเหตุระเบิดโจมตีโรงพยาบาล พร้อมประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอด 4 ฝ่ายที่ตนเองจะเป็นเจ้าภาพที่กรุงอัมมาน โดยก่อนหน้านี้ผู้นำจอร์แดนเตรียมที่จะหารือประเด็นวิกฤตการณ์ในฉนวนกาซาร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลอดจนผู้นำอียิปต์และปาเลสไตน์ ขณะที่อียิปต์ก็ได้กล่าวโทษอิสราเอลด้วยเช่น

 

ในเลบานอน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ออกมาประณามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการโจมตีอย่างร้ายแรงของอิสราเอล และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาประท้วง ส่วนรัฐบาลเลบานอนประกาศวันไว้ทุกข์ทั่วประเทศ เพื่อไว้อาลัยต่อเหยื่อที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล

 

ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มีการประท้วงเดือดในหลายพื้นที่ โดยในเลบานอนนั้นกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่พยายามขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ หลังจากที่เหตุประท้วงใกล้กับสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเบรุตลุกลามกลายเป็นเหตุรุนแรง โดยหนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่า “อเมริกาคือปีศาจ ปีศาจที่แท้จริง เพราะพวกเขาสนับสนุนอิสราเอล และทั่วทั้งโลกก็ทำราวกับว่าตาบอด คุณไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือ”

 

สถานการณ์ประท้วงในอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศคู่ขัดแย้งของอิสราเอลและผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน โดยผู้ประท้วงหลายคนได้ถือป้ายข้อความที่มีการโจมตีสหรัฐฯ เช่น ‘อเมริกาไปตายเสีย’ คู่กับป้ายที่เขียนว่า ‘อิสราเอลไปตายเสีย’

 

อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่า “เลือดทุกหยดของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกสังหารในสงครามครั้งนี้ กำลังนำระบอบไซออนิสต์ (อิสราเอล) เข้าใกล้ความหายนะ” 

 

ในอิรัก ผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ประมาณ 300 คนได้ออกมาประท้วงใกล้กับเขตที่ตั้งของสถานทูตสหรัฐฯ โดยผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า “ชาวอเมริกันต้องรู้ว่าการสนับสนุนอิสราเอลจะนำมาซึ่งความพ่ายแพ้และความหายนะ” พร้อมกับโบกธงชาติปาเลสไตน์

 

ส่วนในกรุงอัมมานของจอร์แดน ตำรวจปราบจลาจลได้พยายามขับไล่ผู้ประท้วงหลายพันคนที่วางแผนจะเดินขบวนเข้าสถานทูตอิสราเอล ที่ขณะนี้มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา โดยมีเจ้าหน้าที่หลายคนที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะปะทะเข้ากับผู้ประท้วง ซึ่งมีการจุดไฟเผาทรัพย์สินใกล้กับสถานทูตด้วย

 

“ต้องไม่มีสถานทูตไซออนิสต์บนดินแดนอาหรับ!” ผู้ประท้วงตะโกน

 

ส่วนกรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซีย ผู้ประท้วงร่วมกันเผาธงชาติอิสราเอลและธงชาติอเมริกา รวมทั้งเรียกร้องให้ขับไล่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และฝรั่งเศสให้พ้นดินแดน เนื่องจากไม่พอใจที่ทั้งสองชาติให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่

 

“พวกเขา (ชาวปาเลสไตน์) ไม่มีอาหารหรือน้ำ อีกทั้งยังถูกทิ้งระเบิดใส่ นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่สงคราม นี่คืออาชญากรรม เราต้องหาวิธีแก้ปัญหา” ผู้ประท้วงกล่าว

 

ภาพ: Mohammad Abu Elsebah / Picture Alliance via Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising