ใครว่าเราจะ ‘ดื่ม’ ด่ำงานศิลป์ไม่ได้กัน หลังจากที่โลดแล่นในแวดวงค็อกเทลมานาน Vesper ก็ได้เผยค็อกเทลปัจฉิมบทส่งท้าย The Art Book เมนูประจำร้านที่เป็นเหมือนหนังสือรวมผลงานศิลปะที่ผ่านการคิดค้นและสร้างสรรค์โดย โชติพงษ์ ลีนุตพงษ์ เจ้าของร้าน และปาล์ม-ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ และทีมงาน โดยพัฒนาสูตรค็อกเทลที่มีโจทย์คือแรงบันดาลใจจากภาพเขียนและผลงานศิลปะระดับโลก ซึ่งขณะนี้ได้เดินทางมาถึงบทสุดท้ายของการตีความงานศิลป์ออกมาเป็นรสชาติเครื่องดื่มที่ให้เสพงานศิลป์ผ่านรสชาติกันแล้ว
ผลลัพธ์ทางรสชาติของภาพ View of Collioure โดย อองรี มาติส
แต่ก่อนที่จะพาเหล่านักดื่มไปสัมผัสกับปฐมบทค็อกเทลคอลเล็กชันใหม่ เราแนะให้ไปชิม The Art Book The Finale ค็อกเทล 12 เมนูที่คงกลิ่นอายศิลปะแบบที่ไม่อิงกับไทม์ไลน์งานศิลป์แบบเดิมตรงที่ข้ามพรมแดนงานศิลป์บนผืนผ้าใบไปสู่ผลงานศิลปะแขนงอื่น ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และผลงานอีกหลายชิ้นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนทั้งในแวดวงศิลปะ การเมือง และสิ่งแวดล้อม จากผลงานมาสเตอร์พีซฟากตะวันออกอย่างผักกาดหยกไปจนถึงศิลปะเสียดสีการเมืองของอ้ายเว่ยเว่ย หรือจะเป็นเรื่องของการนำเสนอความตายไปจนถึงภาพวาดสีสันจัดจ้านเกินจริงก็มีเช่นกัน
Jadeite Cabbage หยกก้อนระดับมาสเตอร์พีซที่จัดแสดงอยู่ใน National Palace Museum ที่กรุงไทเป
The Art Book The Finale เป็นเซตค็อกเทลที่ไร้กรอบ ไร้แนว ไม่อิงตามไทม์ไลน์ยุคสมัยศิลปะ และมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละผลงานเมื่อผ่านการนำเสนอด้วยมุมมองศิลปะจากบาร์เทนเดอร์ก็ทำให้ผู้ดื่มได้ประสบการณ์และอะไรใหม่ๆ กลับไปเสมอ และเช่นเคย ค็อกเทลแทบทุกตัวยังคงความเป็นสปิริตฟอร์เวิร์ด แต่ดื่มง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
มีทั้ง Jadeite Cabbage หนึ่งในชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซที่จัดแสดงอยู่ใน National Palace Museum ที่ไทเป ก้อนหยกที่มีตำหนิผ่านการแกะสลักเป็นผักกาด ซึ่งทีมงาน Vesper ได้นำเสนอให้อยู่ในรูปแบบค็อกเทล แก้วนี้เบสด้วยเหล้าจินกับชาข้าว เติมสัมผัสสมุนไพรอ่อนๆ ด้วยใบเนียม แล้วเพิ่มเลเยอร์ของรสชาติด้วยเหล้าไวต์อเปอริทีฟกับเหล้าเชอร์รี ตกแต่งด้วยผักกาดที่ผ่านกระบวนการพิเศษจนได้รสชาติอูมามิโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
หรือจะลองเมนูที่ชื่อยาวเหยียดเสียจนเหมือนเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เชิงปรัชญาอย่าง The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living ผลงานศิลปะสุดอื้อฉาวของ เดเมียน เฮิร์สต์ ที่นำซากปลาฉลามทั้งตัวจัดโชว์ในตู้กระจกที่เต็มไปด้วยฟอร์มาลีน เมื่อมาเป็นค็อกเทลก็มาในสไตล์มาร์ตินี เบสด้วยจิน เตกีลา เหล้าส้ม และชาอู่หลง แต่งริมขอบแก้วด้วยเกลือที่ทำจากผิวส้มกับมะนาวแล้วนำไปคลุกถ่าน ก่อนเสิร์ฟดรอปบลูคูราเซานิดหน่อยให้มีสีสันใกล้เคียงผลงานเดิม
จำลองงาน The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living มาเป็นเครื่องดื่ม ว่าแต่รสจะเป็นอย่างไร
Ta Matete จับเอาภาพผู้หญิงนั่งที่มีสีสันฉูดฉาดและการตัดเส้นขอบของ พอล โกแกง มาตีความให้เป็นค็อกเทลสีเหลืองนวลรสกลมกล่อมจากไลต์รัม ขนุน ขมิ้น มะม่วง และช็อกโกแลตบิตเตอร์ ปิดทับด้วยแผ่นแก้วมังกรสีม่วงให้ดูเหมือนตัดขอบภาพอีกทีหนึ่ง
View of Collioure จากภาพสีชมพูจ๋าของ อองรี มาติส กลายมาเป็นสวีตมาร์ตินีที่ดื่มง่าย มีสีสันน่าจิบ ด้านล่างแผ่นไวต์ช็อกโกแลตที่วางบนปากแก้วคือจิน ไซเดอร์ กับเหล้าหวานฝรั่งเศส 3 ชนิด ผ่านการแช่ในแอปเปิ้ลแดงเพื่อลดความหวานลงแล้วนำไปซูวีด์กับขี้ผึ้ง แม้กรรมวิธีการทำค็อกเทลจะดูเหมือนการทำอาหาร แต่ไม่แน่ค็อกเทลแก้วนี้อาจกลายเป็นดริงก์โปรดของคุณก็เป็นได้
Coca Cola Vase สะท้อนผลงานของ อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีน
นอกจากนั้นยังมีค็อกเทลไร้สี Coca Cola Vase สะท้อนผลงานของ อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีนผู้นิยมเสียดสีระบบทุนนิยม อย่างเช่นผลงานชิ้นนี้ที่ตีความทุนนิยมด้วยการนำเสนอไหของราชวงศ์ฮั่นในฐานะตัวแทนทุนนิยมโบราณกับโลโก้โค้กอันเป็นตัวแทนทุนนิยมสมัยใหม่ บาร์เทนเดอร์จึงนำไอเดียมาออกแบบค็อกเทลให้มีรสชาติของโค้ก แต่กลับใสปิ๊งด้วยวิธีการทำให้ใส (Clarification) และเบสด้วยเหล้าไลต์รัมที่อินฟิวส์กับพริกเสฉวนแล้วตามด้วยโค้ก
ใครอยากรู้ว่ารสชาติงานศิลป์ตีความเป็นรสชาติเครื่องดื่มแล้วจะเป็นอย่างไร สามารถไปหาคำตอบกันได้ที่ร้าน Vesper ซอยคอนแวนต์ กรุงเทพฯ
อ่านเรื่อง เปิดประตูสู่โลกคู่ขนานของโมเดิร์นอาร์ตกับค็อกเทลที่ Vesper ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์