×

UAE-อิสราเอล ฉากใหม่ของความสัมพันธ์ที่ไม่ใหม่: เมื่ออาหรับชาตินิยมเจือจาง ความเป็น ‘เรา’ ที่หายไปในปัญหาปาเลสไตน์

26.08.2020
  • LOADING...
สหรัฐ UAE ปรับความสัมพันธ์ ความรุนแรง

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • UAE กลายเป็นประเทศแรกในอ่าวอาหรับ (Gulf Arab States) และเป็นชาติอาหรับที่ 3 ที่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลต่อจากอียิปต์และจอร์แดน
  • อาจกล่าวได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ UAE สานสัมพันธ์กับอิสราเอล หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ UAE โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ UAE เผชิญวิกฤตทางการทูตครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 2006
  • ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสนใจและความเป็นเอกภาพในการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์ของอาหรับเริ่มเจือจาง และขาดความเป็นเอกภาพอย่างมาก โดยข้อตกลงที่ UAE ทำกับอิสราเอลล่าสุด แม้จะระบุเงื่อนไขให้อิสราเอลระงับการผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์ แต่ชาวปาเลสไตน์นอกจากจะไม่ยอมรับแล้วยังต่อต้านอีกด้วย เพราะมองว่าเป็นการทรยศและฉวยโอกาสเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าคำนึงถึงสิทธิของชาวปาเลสไตน์  

นับเป็นจุดหักเหสำคัญอีกครั้งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อาหรับ-อิสราเอล เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำแถลงการณ์ร่วมสหรัฐอเมริกา-อิสราเอล-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เผยแพร่ทางทวิตเตอร์ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มาจากการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ในวันที่ 13 สิงหาคม โดยมีเนื้อหาสำคัญคืออิสราเอลกับ UAE ตกลงจะปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเต็มรูปแบบ 

 

แถลงการณ์ระบุว่าอิสราเอลยอมทำตามคำร้องขอของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่ง UAE ก็สนับสนุนด้วย คือยอมระงับการผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์ที่ระบุในแผนสันติภาพของทรัมป์ หรือ ‘Trump’s Vision for Peace’ หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century) 

 

ในข้อตกลง UAE และอิสราเอลจะสร้างความร่วมมือทวิภาคี โดยคณะผู้แทนของทั้งสองประเทศจะประชุมร่วมกันในไม่ช้าเพื่อลงนามในข้อตกลงหลายด้าน ทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว การเปิดเส้นทางการบินระหว่างกัน ความมั่นคง โทรคมนาคม และประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเตรียมเปิดสถานทูตระหว่างกันด้วย 

 

แถลงการณ์ระบุว่า “เป็นความก้าวหน้าทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ที่จะปูทางสู่สันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และประจักษ์ชัดว่าเป็นการทูตที่กล้าหาญ เป็นวิสัยทัศน์ของ 3 ผู้นำ และเป็นความกล้าหาญของ UAE กับอิสราเอลในการกำหนดเส้นทางใหม่ วิถีใหม่ที่จะปลดล็อกศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของภูมิภาคนี้” 

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่า “เป็นความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงเมื่อเพื่อนของเราทั้งสอง อิสราเอลและ UAE ได้ทำข้อตกลงสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์กัน” 

 

ทรัมป์ยังหวังว่าประเทศมุสลิมอื่นๆ ในภูมิภาคจะเดินตาม UAE ในขณะที่อิสราเอลชี้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ เขาหวังว่าประเทศอาหรับและมุสลิมอื่นจะมาร่วมทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลเพิ่มขึ้นอีก มูฮัมหมัด บิน ซาเยด มกุฎราชกุมารและผู้ปกครอง UAE ทวีตข้อความว่าได้บรรลุข้อตกลงกับอิสราเอล โดยอิสราเอลจะหยุดการผนวกดินแดนปาเลสไตน์ไว้ก่อน พระองค์ทรงยืนยันว่าจะสร้างความร่วมมือกับอิสราเอลในมิติต่างๆ 

 

ความคลุมเครือประการหนึ่งในการตีความข้อตกลงนี้ และเป็นเรื่องสำคัญคือการใช้คำว่า ‘Suspend’ หรือการระงับการผนวกดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่ง UAE บอกอิสราเอลจะหยุดการผนวกปาเลสไตน์ไว้ก่อน ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันเรื่องนี้ไม่อยู่บนโต๊ะเพื่อพิจารณาแล้วอย่างน้อยก็ระยะเวลาหนึ่ง (off the table) แต่เนทันยาฮูบอกเรื่องนี้ยังอยู่บนโต๊ะพิจารณา (on the table) เป็นการพูดกันต่างเวลาและต่างสถานที่กัน

 

 

UAE ถูกมองเป็นผู้ ‘ทรยศที่แทงข้างหลัง’

ปาเลสไตน์มองการตัดสินของ UAE ว่าเป็นการ “ทรยศ แทงข้างหลัง…ข้อตกลงนี้ไม่ได้ช่วยอะไรปาเลสไตน์เลย แต่เป็นการสนับสนุนเรื่องเล่าของไซออนิสต์ต่างหาก ข้อตกลงนี้ยิ่งส่งเสริมให้อิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์ต่อไป โดยปฏิเสธสิทธิของชาวปาเลสไตน์ หรือแม้กระทั้งการปล่อยให้การก่ออาชญากรรมต่อชาวปาเลสไตน์ดำเนินต่อไป”

 

ชาวปาเลสไตน์หลายกลุ่มองค์กรพากันออกมากล่าวโจมตีการตัดสินใจของ UAE ที่ไปทำข้อตกลงกับอิสราเอลว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อชาวปาเลสไตน์ เป็นการเพิกเฉยต่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองและกองกำลังต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล ประณามข้อตกลงดังกล่าวพร้อมกับชี้ว่าเป็น “การทรยศ แทงข้างหลัง” 

 

กลุ่มฟะตะห์ (Fatah) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสำคัญของปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ ประณาม UAE ว่า “กำลังหยามเกียรติของชาติ ศาสนา และความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรมของตัวเอง 

 

ฮานาน อัชราวี หนึ่งในคณะผู้บริหารขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) มองว่า “UAE ได้เปิดเผยตัวเองออกมาแล้ว หลังจากที่มีข้อตกลงลับ (กับอิสราเอลมาก่อนหน้านี้)” เธอยังบอกอีกว่า “เป็นรางวัลสำหรับอิสราเอลที่ปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบธรรมต่อชาวปาเลสไตน์มาอย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่เริ่มเข้าไปยึดครอง (ปาเลสไตน์)” 

 

UAE – อิสราเอล ความสัมพันธ์จากไม่ปกติสู่ความพยายามทำให้ปกติ

ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ UAE กลายเป็นประเทศแรกในอ่าวอาหรับ (Gulf Arab States) และเป็นชาติอาหรับที่ 3 ที่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลต่อจากอียิปต์และจอร์แดนในปี 1979 และ 1994 ตามลำดับ 

 

ที่ผ่านมา UAE มีจุดยืนเหมือนกับประเทศมุสลิมอื่นๆ คือสนับสนุนเอกราชสำหรับปาเลสไตน์ จึงไม่มีการสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ UAE มีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีสถานทูตระหว่างกัน แต่กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2005 เมื่อ UAE แสดงท่าทีปรับความสัมพันธ์ปกติกับอิสราเอล หรือหลังจากที่อิสราเอลถอนกำลังออกจากกาซา (Gaza) ปรากฏว่า UAE พยายามใช้โอกาสนี้ผูกมิตรกับอิสราเอล โดยการชักนำให้บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าอิสราเอล เพื่อเป็นการตอบรับสำหรับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเจรจาสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 

 

อาจกล่าวได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ UAE สานสัมพันธ์กับอิสราเอล หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ UAE โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ UAE เผชิญวิกฤตทางการทูตครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 2006 และการที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่งสัญญาณว่าจะสกัดข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ UAE และจะเดินหน้าขัดขวางบริษัท Dubai Ports World ไม่ให้ได้สัมปทานบริหารท่าเรือ 6 แห่งในสหรัฐฯ รวมถึงท่าเรือที่ นิวยอร์ก นวร์ก บอลทิมอร์ และไมอามี DPW เป็นรัฐวิสาหกิจของ UAE ซึ่งบริหารท่าเรือที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลก

 

แม้ว่า UAE จะถอนตัวจากการประมูล แต่ท่าทีต่อต้านจากสภาคองเกรสก็ทำให้ UAE ตระหนักได้ถึงปัญหาที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของตน ดังนั้น UAE จึงเร่งทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับวอชิงตัน โดยเฉพาะต่อกลุ่มที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ UAE พยายามทำให้สหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า UAE “ไม่เพียงเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ เชื่อถือได้เท่านั้น แต่ยังมีผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับสหรัฐฯ” ซึ่งหมายรวมไปถึงผลประโยชน์ของอิสราเอลด้วย ดังนั้น การหาช่องทางการสถาปนาการทูตกับอิสราเอลและกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ยิวในวอชิงตันจึงเป็นวาระสำคัญสำหรับ UAE เรื่อยมา  

 

หลังจากปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องบริษัท DPW ทำให้ UAE กังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะอาจทำให้สหรัฐฯ ไม่จัดส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารให้ UAE และตัดความร่วมมือด้านข่าวกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับอิหร่านที่กำลังขยายอิทธิพลอย่างมากในตะวันออกกลาง นอกจากนั้น ยังกังวลว่าจะทำให้การลงทุนจากสหรัฐฯ หายไป ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตระหว่างกัน 

 

ด้วยเหตุนี้ UAE จึงจำเป็นต้องปรับท่าทีและนโยบายต่อสหรัฐฯ ด้วยการหาทางสานสัมพันธ์กับอิสราเอลที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับชาติอาหรับ และให้อาหรับยอมรับการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล ช่องทางหนึ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในทางอ้อม คือผ่านการทำงานร่วมกันภายใต้หน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) โดย UAE ได้ขอให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทางการเมืองและการเจรจาทางการทูตเพื่อให้ UAE ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (United Nations’ International Renewable Energy Agency: IRENA) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอาบูดาบี มีสมาชิกกว่า 161 ประเทศ รวมอิสราเอล ซึ่งในการผลักดันประเด็นนี้ UAE พยายามวิ่งเต้นกับกลุ่มล็อบบี้ยิสต์หรือชุมชนยิวในสหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกขัดขวางอีกเหมือนกับกรณี DPW 

 

เมื่อมีการตั้ง IRENA ขึ้นมาโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาบูดาบี และมีการจัดประชุมที่นั่นประจำ รัฐสมาชิกของ UN ทั้งหมดจึงต้องไปเข้าร่วมประชุมที่นั่น และได้รับการต้อนรับอย่างดี รวมถึงตัวแทนจากประเทศอิสราเอล กลุ่มอเมริกันยิวในสหรัฐฯ สนับสนุนความริเริ่มดังกล่าวโดยหวังจะเปิดช่องทางเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและองค์กรวิชาชีพต่างๆ ของอิสราเอลได้เข้าถึงการประชุมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในประเทศอาหรับอย่าง UAE 

 

นับตั้งแต่ IRENA ถูกก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการที่กรุงอาบูดาบีในปี 2008 คณะผู้แทนทางการทูตและรัฐมนตรีของอิสราเอลหลายคนได้เดินทางไปร่วมประชุมที่ UAE หลายครั้งกับหน่วยงานในสังกัดของ UN ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าในการประชุมหลายครั้ง ทางการอิสราเอลได้ถือโอกาสใช้สถานที่จัดประชุมนอกรอบกับผู้แทน UAE เพื่อหารือประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ในเวลาเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องทางการทูตอย่างลับๆ ระหว่างกัน

 

 

ไม่นานความสัมพันธ์ UAE กับสหรัฐฯ ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปลายปี 2009 UAE ได้ลงนามร่วมกับสหรัฐฯ ในข้อตกลง 123 เพื่อความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนเพื่อสันติ (123 Agreement for Peace Civilian Nuclear Energy Cooperation) ข้อตกลงนี้ทำให้ UAE ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนานิวเคลียร์จากสหรัฐอเมริกา โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี 2020 ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลง 123 APCE ทางการ UAE ได้ยืนยันต่อหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศของอิสราเอล ว่าโครงการนิวเคลียร์พลเรือนของ UAE จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และจะเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า UAE กับอิสราเอลมีความเกี่ยวข้องและมีการติดต่อสัมพันธ์กันก่อนแล้ว

 

อิสราเอลไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านโครงการนิวเคลียร์ UAE แต่อย่างใด ทั้งที่ในประวัติศาสตร์โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายกับ UAE ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน และวันนี้อิสราเอลกับสหรัฐฯ ก็มีความวิตกกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้แต่กลุ่มองค์กรอเมริกันยิวในสหรัฐฯ ก็ไม่ได้คัดค้านนิวเคลียร์ของ UAE เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรกิจการสาธารณะอเมริกา-อิสราเอล (AIPAC), คณะกรรมการชาวอเมริกันเชื้อสายยิว (American Jewish Committee), กลุ่มต่อต้านการหมิ่นประมาท (Anti-Defamation League) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรของชาวยิวในสหรัฐอเมริกา 

 

ยิ่งไปกว่านั้น มีกระแสข่าวลือถึงความเป็นไปได้ว่าอิสราเอลกับ UAE ได้แอบหารือกันเพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างกันว่าด้วยเรื่อง ‘การสื่อสารในภาวะวิกฤต’ (Crisis Communications) ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามที่สำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของอิหร่าน ซึ่งทั้งสองมองว่าเป็นภัยคุกคามร่วม จึงเป็นเหตุให้ UAE และอิสราเอล รวมถึงกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้นแต่อาจไม่เปิดเผย นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวด้วยว่าอิสราเอลได้สร้างช่องทางการสื่อสารในภาวะวิกฤตกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับโดยเปิดสายตรงสายด่วนทางทหารกับหลายประเทศ (Direct Military Hotline) แม้กระแสข่าวดังกล่าวจะยังคลุมเครือและไม่ยืนยัน แต่ในรายงานของสำนักข่าว Defense News ปี 2009 ระบุว่า อิสราเอลได้สร้างความร่วมมือในมิติความมั่นคงกับ UAE ตั้งแต่ในช่วงปี 2006 โดยอิสราเอลได้ยอมให้ UAE เข้าถึงข้อมูลโครงการดาวเทียม EROS B และภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดคมชัดสูงจากดาวเทียมดังกล่าวของอิสราเอล รวมทั้งดาวเทียมรุ่นก่อนหน้า EROS A อย่างไรก็ตาม UAE ได้ปฏิเสธว่าข้อมูลของ Defense News ไม่เป็นความจริง 

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวรายงานว่าที่ผ่านมาอิสราเอลได้ส่งออกเทคโนโลยีการสื่อสาร อุปกรณ์ความมั่นคงที่ใช้ในพลเรือนให้กับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเพื่อใช้ในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย

 

ในมิติทางการค้า อิสราเอลกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับก็มีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันมาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่อิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากกาซาในปี 2005 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้อาหรับหลายประเทศได้เสนอยกเลิกคว่ำบาตรสินค้าอิสราเอล อิสราเอลจึงใช้โอกาสนั้นตั้งสำนักงานการค้าขึ้นในโอมาน คูเวต กาตาร์ และดูไบ ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอ่าวอาหรับในขณะนั้นจึงกำลังเดินหน้าสู่ระดับปกติ แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงจากการที่อิสราเอลถล่มโจมตีกาซาอย่างหนักในปี 2008 ทำให้สำนักงานการค้าของอิสราเอลในโอมาน คูเวต และกาตาร์ ถูกปิดอย่างเป็นทางการ 

 

แต่กรณีของดูไบกลับไม่ถูกปิดและยังทำการต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาปิดตัวลงในปี  2010 หลังจากที่เหตุการณ์ลอบสังหาร มาห์มูด อัล มาบฮูห์ (Mahmoud al Mabhouh) ในดูไบ เขาคือสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มฮามาสที่รับผิดชอบงานด้านการขนส่งและจัดหาอาวุธ โดยทางการดูไบเชื่อว่าเป็นฝีมือของหน่วยสืบราชการลับมอสสาด (Mossad) ของอิสราเอล ซึ่งเข้ามาก่อเหตุได้เพราะใช้หนังสือเดินทางปลอม จากเหตุการณ์นี้ทำให้การค้าระหว่าง UAE กับอิสราเอลที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2006-2009 และมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องยุติลง 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นทางการระหว่างกัน แต่บริษัทเอกชนอิสราเอลก็ยังส่งออกเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในงานความมั่นคงพลเรือน เทคโนโลยีการชลประทานและน้ำให้กับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับผ่านบริษัทของตนในยุโรป นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีการซื้อขายในตลาดเพชรของดูไบ และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผ่านนักธุรกิจที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอื่นๆ 

 

UAE ยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทหารระหว่างประเทศที่จัดขึ้นที่ประเทศกรีซในเดือนเมษายน 2019 และที่สหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคมปี 2020 โดยทั้งสองครั้งมีกองทัพอากาศอิสราเอลเข้าร่วมด้วย 

 

อิสราเอลกับ UAE ยังมีการเชื่อมสัมพันธ์กันในแง่ของการแข่งขันกีฬาอีกด้วย โดยในปี 2017 อิสราเอลได้ส่งนักกีฬาของตัวเองเข้าร่วมในการแข่งขันแกรนด์สแลมของสหพันธ์ยูโดนานาชาติซึ่งจัดที่อาบูดาบี รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอิสราเอลได้ร่วมเดินทางเข้าเชียร์นักกีฬาของตัวเองด้วย ผลปรากฏว่าอิสราเอลได้เหรียญทอง ทำให้เพลงชาติของอิสราเอลซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวยิวกลับสู่บ้านเกิด (หรือดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง) ดังกระหึ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ UAE 

 

ดังนั้น จากที่กล่าวมา ระหว่าง UAE กับอิสราเอล แม้จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ แต่ก็ทำให้เห็นว่า UAE มีความพิเศษกว่ารัฐอ่าวอาหรับอื่นในแง่การเชื่อมโยงกับอิสราเอล จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดกลุ่มปาเลสไตน์จึงมอง UAE ว่าเป็นผู้ทรยศ แทงข้างหลัง และเพิ่งจะเปิดเผยความสัมพันธ์ที่เก็บซ่อนมานาน ทั้งนี้ คงไม่ต้องแปลกใจแล้วว่าเหตุใดในงานแถลงเปิดข้อเสนอแผนสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ของทรัมป์ เมื่อเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา UAE ถึงส่งทูตไปร่วมในงานแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู ที่วอชิงตัน แผนข้อตกลงนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ข้อตกลงแห่งศตรวรรษ’ ที่ทรัมป์เสนอขึ้นมาโดยไม่ได้มีการหารือกับทางปาเลสไตน์ และมีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมติสหประชาชาติ จนทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

 

อาหรับชาตินิยม ความเจือจางและการหายไปของความเป็น ‘เรา’

เกิดสงครามและการปะทะกันขึ้นหลายครั้งระหว่างอาหรับ-กับอิสราเอลในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญในปี 1948, 1967 และ 1973 แม้อาหรับจะเป็นฝ่ายที่แพ้สงคราม เพราะอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก แต่ก็แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมีความเป็นอาหรับนิยมที่ให้ความสำคัญกับปัญหาปาเลสไตน์อย่างเข้มข้น โดยไม่แบ่งแยกนิกายหรือสำนักคิดทางศาสนา ดังจะเห็นได้ว่ามีทั้งชาติหรือกลุ่มที่เป็นซุนนีและชีอะห์ร่วมต่อสู้กับอิสราเอล 

 

แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสนใจและความเป็นเอกภาพในการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์ของอาหรับเริ่มเจือจางและขาดความเป็นเอกภาพอย่างมาก บางประเทศถอดใจและปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างเป็นปกติ เช่น อียิปต์ จอร์แดน และล่าสุด UAE บางประเทศไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นทางการหรือไม่เปิดเผย ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่ได้ออกมาวิจารณ์นโยบายของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยืนยันต่อสู้เพื่อช่วยปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลอย่างแข็งขัน เช่น ตุรกี ซีเรีย อิหร่าน (เปอร์เซีย) ตูนิเซีย และกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน เป็นต้น

 

อียิปต์เป็นอาหรับประเทศแรกที่ทำข้อตกลงสันติภาพและปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 1979 ทั้งที่ก่อนหน้านี้คือหัวขบวนนำอาหรับต่อสู้กับอิสราเอล แม้แต่ในสงครามครั้งสุดท้าย ปี 1973 อันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) เปิดศึกกับอิสราเอลอย่างดุเดือด แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้เข้ามาช่วยเหลืออิสราเอล ผลจากสงครามครั้งนั้นทำให้นโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของอันวาร์ ซาดัต เริ่มเปลี่ยนไป 

 

ซาดัตเป็นผู้นำอียิปต์ที่ต้องการแหลมไซนายคืนจากอิสราเอล (Sinai Peninsula) สงครามปี 1973 ก็มุ่งหวังเช่นนั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้ซาดัตเองต้องทบทวนแนวทางใหม่ โดยเฉพาะการปรับนโยบายเข้าหาสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันก็รื้อเปลี่ยนแนวทางสังคมนิยมในอียิปต์ที่มีอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยของกามาล อับดุล นัสเซอร์ และออกห่างจากโซเวียตมากขึ้น ที่สำคัญคือการปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลเพื่อต่อรองให้ได้แหลมไซนายคืน อีกทั้งการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และอิสราเอล จะทำให้อียิปต์ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นทั้งในแง่การเมือง การทหาร และในด้านเศรษฐกิจการเงินด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ อัลวาร์ ซาดัต จึงได้เดินทางไปเยือนเยรูซาเลมในปี 1977 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของผู้นำอาหรับที่เดินทางเยือนอิสราเอล โดยมีเป้าหมายเพื่อประนีประนอมกับอิสราเอล และยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ซาดัตได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอลในเวลานั้น คือ เมนาเฮม เบกิน (Menachem Begin) ซึ่งมีท่าทีตอบรับที่ดีต่อการมาเยือนของผู้นำอียิปต์ ต่อมาในปี 1978 ผู้นำทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในการเจรจาลับที่สหรัฐฯ โดยมีประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เป็นเจ้าภาพ

 

ในการพบกันครั้งนี้ มีการเจรจาประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ โดยอียิปต์ อิสราเอล และจอร์แดนตกลงกันว่าจะให้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการตนเองของปาเลสไตน์ที่มาจากการเลือกตั้งในเวสต์แบงก์และกาซา กำหนดกรอบเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ข้อตกลงนี้ถูกต่อต้านอย่างมากมายในโลกอาหรับ และถูกปฏิเสธโดย UN เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเลย ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิการกลับคืนถิ่นของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ การปกครองตนเอง (Self-Determination) และรัฐเอกราชปาเลสไตน์

 

แม้จะมีเสียงต่อต้านมากมาย แต่อียิปต์ก็เดินหน้าและบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลในปี 1979 โดยอิสราเอลยอมถอนทหารออกจากแหลมไซนาย ภายใต้เงื่อนไขที่อียิปต์รับรองว่าจะให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดทหารให้มากที่สุด อียิปต์ยังยอมให้อิสราเอลใช้เส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอซได้ (Suez Canal) ข้อตกลงนี้ทำให้อียิปต์เป็นอาหรับชาติแรกที่ยอมรับรัฐอิสราเอล และปรับความสัมพันธ์ในระดับปกติ ข้อตกลงนี้ยังทำให้อันวาร์ ซาดัต และ เมนาเฮม เบกิน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน 

 

ซาดัตถูกวิจารณ์และต่อต้านหนักในโลกอาหรับ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ไม่เชื่อถือในความจริงใจของข้อตกลงดังกล่าว โดยไม่ให้ค่าและบอกว่า “พวกเขาอยากลงนามอะไรร่วมกันก็ทำกันไป แต่สันติภาพจอมปลอมไม่อาจยุติปัญหาได้” นอกจากนี้ อียิปต์ยังถูกระงับความเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับไประยะหนึ่ง และสำนักงานใหญ่ของสันนิบาตอาหรับก็ถูกย้ายจากกรุงไคโรไปยังกรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย

 

จากข้อตกลงดังกล่าวทำให้อียิปต์ได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทหารอย่างมากมายจากสหรัฐอเมริกา โดยตั้งแต่ปี 1978-2000 สหรัฐฯ ได้สนับสนุนกองทัพอียิปต์เป็นเงินรวม 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากนั้นก็ให้เงินสนับสนุนรายปีอีกปีละ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ในกรณีของจอร์แดนซึ่งเป็นประเทศอาหรับรายที่ 2 ที่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลในปี 1994 มีเหตุผลและบริบทที่ต่างไปจากอียิปต์ จอร์แดนเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับอิสราเอลทางตะวันออกและเขตเวสต์แบงก์ ได้รับสิทธิในการดูแลเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกหลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 ซึ่งทำให้เกิดเส้นพักรบ (Armistice Border) ที่แยกเยรูซาเลมเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก แต่ต่อมาแนวเขตดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนเมื่ออิสราเอลเข้ายึดเยรูซาเลมตะวันออกหลังสงคราม 6 วันอาหรับ-อิสราเอล อิสราเอลยังได้ยึดฉนวนกาซา คาบสมุทรไซนาย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนหรือเขตเวสต์แบงก์ รวมไปถึงที่ราบสูงโกลันของซีเรียด้วย จอร์แดนจึงเป็นอาหรับอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหากับอิสราเอลมาตลอดทั้งเรื่องสิทธิชาวปาเลสไตน์ เรื่องพรมแดน และข้อพิพาทเหนือแม่น้ำจอร์แดน 

 

แม้จอร์แดนจะไม่มีความสัมพันธ์กับอิสราเอล แต่อย่างไรก็ตามในปี 1987 ปรากฏว่าผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศมีความพยายามอย่างลับๆ ที่จะจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลในขณะนั้นคือ ชิมอน เปเรส ได้ผลักดันเรื่องนี้ผ่านการเจรจากับกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน โดยในตอนนั้นอิสราเอลตกลงจะคืนเวสต์แบงก์ให้จอร์แดน ซึ่งทำให้เกิดความหวังมากว่าเวสต์แบงก์จะถูกปลดปล่อย ต่อมาทั้งสองได้ลงนามข้อตกลงเพื่อกำหนดกรอบการประชุมสันติภาพตะวันออกกลางร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดข้อเสนอต่างๆ ก็ตกไป เพราะนายกรัฐมนตรียิตซัค ชามียร์ ของอิสราเอลไม่เห็นด้วย ต่อมาในปี 1988 จอร์แดนได้ยุติการอ้างสิทธิเหนือดินแดนเวสต์แบงก์ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับ PLO ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาในปี 1993 อิสราเอลได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Accords) กับ PLO

 

ไม่นานหลังบรรลุข้อตกลงออสโลกับ PLO อิสราเอลก็ใช้โอกาสนี้หาทางเจรจากับจอร์แดน เพื่อทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน ยิตซัค ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลขณะนั้นซึ่งมีแนวคิดประนีประนอมกับอาหรับ จึงส่งสัญญาณถึงกษัตริย์ฮุสเซน ว่าภายหลังจากที่มีการทำข้อตกลงออสโล จอร์แดนอาจตกขบวนหรือถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาค ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้จอร์แดนมีปัญหากับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเนื่องจากไปสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ที่บุกยึดคูเวต เมื่อเป็นเช่นนี้กษัตริย์จอร์แดนจึงปรึกษาฮุสนี มุบาร็อก ผู้นำอียิปต์ และฮาฟิส อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย เพราะต่างมีพรมแดนติดอิสราเอล มุบาร็อกสนับสนุนให้ทำข้อตกลงกับอิสราเอล แต่อัสซาดเสนอให้เจรจาแต่อย่าไปทำข้อตกลงด้วย ในเวลาเดียวกัน บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็โน้มน้าวกดดันให้กษัตริย์ฮุสเซนเริ่มกระบวนการเจรจา และลงนามข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล โดยสหรัฐฯ สัญญาว่าจะยกเลิกหนี้ให้กับจอร์แดน ซี่งในขณะนั้นจอร์แดนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากจากรายได้ของประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะการถูกตัดงบสนับสนุนจากกลุ่มประเทศในแถบอ่าวอาหรับ และเงินจากแรงงานจอร์แดนที่ทำงานในกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นผลมาจากที่จอร์แดนเลือกข้างผิดไปสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ดังที่กล่าวมา

 

ในที่สุดจอร์แดนก็ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการสันติภาพตามที่สหรัฐฯ เสนอ โดยในเดือนกรกฎาคม 1994 กษัตริย์ฮุสเซน, ราบิน และประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ลงนามร่วมกันในคำประกาศวอชิงตัน (Washington Declaration) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สาระสำคัญคือจอร์แดนกับอิสราเอลตกลงยุติความเป็นศัตรูต่อกัน และจะเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ต่อมาไม่นานในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน จอร์แดนและอิสราเอลได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน โดยมีประธานาธิบดีคลินตันร่วมสังเกตการณ์ในพิธี 

 

ข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างกัน ความร่วมมือในด้านต่างๆ การเคารพในอธิปไตยระหว่างกัน การสร้างกลไกการจัดการเรื่องพรมแดนและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกันในรูปของคณะกรรมการร่วม ในประเด็นที่เกี่ยวกับปาเลสไตน์ อิสราเอลยอมรับบทบาทพิเศษของจอร์แดนต่อศาสนสถานสำคัญของมุสลิมในเยรูซาเลม หรือมัสยิดอัลอักซอ และสัญญาว่าจะให้จอร์แดนมีส่วนในกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับสถานะสุดท้ายของเยรูซาเลม ในส่วนปัญหาผู้ลี้ภัย จอร์แดนและอิสราเอลตกลงร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือ โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ประกอบไปด้วย อิสราเอล จอร์แดน อียิปต์ และปาเลสไตน์ ขึ้นเพื่อทำงานร่วมกันในการหาทางแก้ไข้ 

 

กรณีของจอร์แดนที่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลไม่ถูกต่อต้านเหมือนกรณีของอียิปต์ เพราะบริบทของสถานการณ์ในตะวันออกกลางขณะนั้นเอื้ออำนวยมาก หลังมีการบรรลุข้อตกลงออสโลระหว่างอิสราเอลกับ PLO 

 

จะเห็นได้ว่าทั้งอียิปต์ จอร์แดน และอาจรวมถึง UAE ต่างตัดสินใจทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลด้วยเหตุผลและบริบทที่แตกต่างกัน กล่าวคืออียิปต์เป็นเพราะผู้นำต้องการหันหาสหรัฐฯ และแนวเศรษฐกิจแบบเปิดมากกว่าจะอยู่ในกรอบสังคมนิยมเหมือนเดิม รวมทั้งต้องการแหลมไซนายคืน กรณีจอร์แดนเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจและบริบทการเมืองในภูมิภาคที่เปลี่ยนไป ส่วน UAE เป็นเพราะปัจจัยด้านความมั่นคงเป็นหลัก จากการที่อิหร่านขยายอิทธิพลมากขึ้นในตะวันออกกลาง จึงถูกมองเป็นภัยร่วมกันของทั้ง UAE และอิสราเอล รวมถึงประเทศอ่าวอาหรับอื่นๆ ที่ดำเนินความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างไม่เป็นทางการ และมีแนวโน้มจะเดินตามรอย UAE ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาห์เรนและโอมาน ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังยืนยันไม่สถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลจนกว่าปาเลสไตน์ได้รับอิสรภาพ

 

อย่างไรก็ตาม การทำข้อตกลงของทั้ง 3 กรณีที่มีจุดร่วมกันคือ 1) การที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการผลักดัน 2) ทั้ง 3 ประเทศต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และพึ่งพิงสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล 3) ทั้ง 3 ประเทศได้รับการสนับสนุนทั้งทางทหารและการเงินจากสหรัฐฯ เป็นการตอบแทนหลังจากที่ทำข้อตกลงกับอิสราเอล และที่สำคัญ 4) ทุกกรณีที่ทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลจะมีวาระปัญหาปาเลสไตน์เป็นเงื่อนไขรวมอยู่ด้วย เพื่อให้ดูมีความชอบธรรมในการตัดสิน และเพื่อประโยชน์ของปาเลสไตน์ แต่ชาวปาเลสไตน์นอกจากจะไม่ยอมรับแล้วยังต่อต้านอีกด้วย เพราะมองว่าเป็นการทรยศและฉวยโอกาสเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าคำนึงถึงสิทธิของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะต่อกรณีของอียิปต์และ UAE 

 

อาจกล่าวได้ว่าการที่ประเทศอาหรับทยอยปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มีนัยสำคัญคือการเมืองแห่งอัตลักษณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป เมื่อปัญหาปาเลสไตน์กับผลประโยชน์ของชาติอาหรับหรือความเป็นอาหรับชาตินิยม (Arab Nationalism) ไม่สอดคล้องกัน ต่างจากในอดีตที่ความเป็นอาหรับเข้มข้นและผู้นำอาหรับหลายคนใช้ปัญหาปาเลสไตน์เพื่อสร้างภาวะผู้นำหรือความนิยมในสังคมอาหรับร่วมกันทำสงครามต่อสู้กับอิสราเอลเพื่อปลดปล่อยอาหรับปาเลสไตน์ แต่มาวันนี้ความเป็นอาหรับชาตินิยมและความรู้สึก ‘We feeling’ หรือความเป็นพวกเดียวกันระหว่างชาติอาหรับหลายประเทศกับปาเลสไตน์ได้เจือจางลงไปมาก คงเหลือแต่ความคิดแบบ ‘ชาตินิยม’ ที่เน้นผลประโยชน์ของชาติจากการสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และอิสราเอล 

 

แม้ในทุกกรณีที่ชาติอาหรับมีการทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จอร์แดน หรือ UAE จะมีเงื่อนไขที่ดูจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวปาเลสไตน์หรือมีข้อผูกมัดที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ แต่หากพิจารณาจากพัฒนาการของปัญหาปาเลสไตน์หลังจากที่ประเทศเหล่านี้ทำข้อตกลงกับอิสราเอลแล้ว จะพบว่าปัญหาหลายอย่างไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งเงื่อนไขไว้ในข้อตกลงระหว่างกัน อีกทั้งสถานการณ์ยังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ กล่าวโดยสรุปคือที่ตกลงกันไว้ไม่ได้เป็นไปตามตกลงเลย แต่อียิปต์กับจอร์แดนก็ยังคงรักษาข้อตกลงกับอิสราเอล และได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้มาเรื่อยๆ โดยไม่มีการพิจารณาทบทวนเพื่อทวงถามถึงสิทธิของชาวปาเลสไตน์ มีเพียงในสมัยของประธานาธิบดีมุรซีของอียิปต์ ที่เคยประกาศจะทบทวนข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล แต่สุดท้ายก็ต้องถูกนายพลซีซีรัฐประหารโค่นอำนาจลงเสียก่อน 

 

กรณีของ UAE ซึ่งกำลังเป็นประเทศล่าสุดที่จะทำข้อตกลงกับอิสราเอล รวมทั้งบาห์เรนและโอมานที่คาดว่าจะเดินตาม UAE โดยแสดงออกว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของชาวปาเลสไตน์ จึงเกิดคำถามว่าเหตุใด UAE จึงเชื่อมั่นว่าข้อตกลงกับอิสราเอลจะดีต่อชาวปาเลสไตน์ทั้งที่ชาวปาเลสไตน์ไม่ยอมรับ และจากประวัติศาสตร์ก็เห็นชัดว่าหลังจากอียิปต์กับจอร์แดนทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของปาเลสไตน์ดีขึ้นเลย ในอีกด้านหนึ่งอียิปต์รู้ดีว่าอิสราเอลไม่ได้ทำตามที่ตกลงกับอียิปต์ไว้เกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ แต่นอกจากอียิปต์จะไม่ทักท้วง UAE แล้ว ยังแสดงความชื่นชมอีกด้วย ทั้งที่ข้อตกลงสันติภาพที่ผ่านๆ มาพิสูจน์ชัดว่าเป็นแค่สะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับอิสราเอลเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลดีต่อปาเลสไตน์เลย ในอีกมุมหนึ่งกลับเห็นภาพประเทศมุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับยังคงยืนยันไม่ยอมรับรัฐอิสราเอลและประณาม UAE รวมถึงชาติอาหรับที่เพิกเฉยต่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นตุรกี อิหร่าน ปากีสถาน โมร็อกโก ตูนิเซีย ฯลฯ  

 

อาจกล่าวได้ว่าวันนี้โลกอาหรับมีนโยบายที่เปลี่ยนไปมากต่ออิสราเอล ความเป็นอาหรับยุคนี้เจือจางมาก ถูกแทนที่ด้วยความคิดแบบชาตินิยมของกลุ่มผู้นำและชนชั้นปกครอง ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับอาหรับปาเลสไตน์ก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

 

ภาพ: Getty, ShutterStock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising