×

ทำอย่างไรไม่ให้ Toxic: วิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนสารเคมีในสมอง

12.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ใครมีเพื่อน Toxic มากๆ แล้วบอกเพื่อนว่า “เธอต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองสิ มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำตัวดีๆ ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น” ต้องรู้ไว้สักนิดว่ามันไม่ได้ ‘ง่าย’ ขนาดนั้น ที่เขาบอกว่าพูดง่ายทำยากนั้นเป็นเรื่องจริง
  • โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ Happiness Hypothesis บอกว่าสมองส่วนจิตใต้สำนึกนั้นเป็นเหมือน ‘ช้าง’ ตัวใหญ่ๆ ที่มักจะทำอะไรไปโดยอัตโนมัติ แล้วพอช้างตัวใหญ่ มันก็ย่อมมีพลังมาก ในขณะที่จิตสำนึกรู้ตัวนั้นเป็นเหมือนควาญช้างที่คอยควบคุมช้าง
  • พฤติกรรมดีๆ นั้นทำยาก เพราะต้องใช้เรี่ยวแรงพลังของควาญช้างมาคอยบังคับควบคุม แต่พฤติกรรมที่เราคุ้นเคยหรือสั่งสมมาจนตลอดชีวิตนี่สิเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะมันเป็นไปโดยกำลังของช้าง
  • ร่างกายของมนุษย์เราเป็นฮาร์ดแวร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จะไปเปลี่ยนที่ตัวเครื่องนั้นไม่ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนได้ ก็คือซอฟต์แวร์ในสมอง ซึ่งก็คือการเปลี่ยนระบบความคิดความเชื่อของเรา แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้อง ‘ฝึก’ ให้ร่างกายของเราคุ้นชินกับความคิดความเชื่อแบบใหม่

เวลาเราอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรสักอย่างที่คุ้นชินเป็นเวลานานๆ (เช่นในที่นี้ก็คือพฤติกรรมที่ ‘Toxic’ (คลิกอ่าน Toxic Thinking: วิธีคิดแบบ Toxic กับอาการเสพติดพิษร้ายในสมอง) ไม่ใช่ว่าเราจะลุกขึ้นมาแล้วสามารถเปลี่ยนได้ในทันทีนะครับ

 

ใครมีเพื่อน Toxic มากๆ แล้วบอกเพื่อนว่า “เธอต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองสิ มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำตัวดีๆ ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น” ต้องรู้ไว้สักนิดครับ ว่ามันไม่ได้ ‘ง่าย’ ขนาดนั้น ที่เขาบอกว่าพูดง่ายทำยากนั้นเป็นเรื่องจริง

 

และที่มัน ‘จริง’ ก็เกี่ยวเนื่องกับสารเคมีในสมองของเรานี่แหละครับ เพราะทุกการรับรู้ (รวมไปถึงการกระทำ) ของเรา มันจะทำให้สมองสร้างสารเคมีบางอย่างขึ้นมา เรียกว่าเป็นสารประเภท Neurochemical ซึ่งจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทหรือ Neuron ต่างๆ ให้มีปฏิกิริยาต่างๆ ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่แสดงออกมาอีกทีหนึ่ง

 

สมองกับร่างกายของเรามีเครือข่ายการสื่อสารที่ซับซ้อนมากนะครับ แถมการรับรู้ของเรายังแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือจิตสำนึกที่เรารู้ตัว กับจิตใต้สำนึกที่เราไม่รู้ตัวอีกต่างหาก

 

โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ Happiness Hypothesis บอกว่าสมองส่วนจิตใต้สำนึกนั้นเป็นเหมือน ‘ช้าง’ ตัวใหญ่ๆ ที่มักจะทำอะไรไปโดยอัตโนมัติ แล้วพอช้างตัวใหญ่ มันก็ย่อมมีพลังมาก ในขณะที่จิตสำนึกรู้ตัวนั้นเป็นเหมือนควาญช้างที่คอยควบคุมช้าง แต่เราก็คงรู้นะครับว่าควาญควบคุมช้างไม่ได้ตลอดเวลาหรอก แล้วที่สำคัญก็คือ กำลังวังชาของควาญช้างนั้นเมื่อเทียบกับช้างแล้วต้องบอกว่าน้อยนิดเอามากๆ ดังนั้น เผลอนิดเดียว จิตใต้สำนึกก็จะทำงานไปตามความคุ้นเคยของเรา

 

อย่างที่บอกกันว่า พฤติกรรมดีๆ นั้นทำยาก เพราะต้องใช้เรี่ยวแรงพลังของควาญช้างมาคอยบังคับควบคุม แต่พฤติกรรมที่เราคุ้นเคยหรือสั่งสมมาจนตลอดชีวิตนี่สิเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะมันเป็นไปโดยกำลังของช้าง

 

ความ Toxic ก็เหมือนกันครับ เขาบอกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ ‘ดำเนินไปได้เอง’ (Self-Perpetuating) ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูตอนที่แล้ว ที่ผมบอกว่า พฤติกรรม Toxic นั้นมันไปกระตุ้นศูนย์รางวัล (Reward Centers) ในสมองของเราจนทำให้เกิดอาการเสพติด ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมความ Toxic ถึงเกิดขึ้นได้เองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะมันไปกระตุ้นความรู้สึกดีเทียม (Pseudo Feel-Good Feelings) ให้เกิดขึ้นจากการทำงานของศูนย์รางวัลนั่นเอง

 

ตัว ‘ข้อมูล’ ที่เข้ามาหาเรา และกระตุ้นให้เรามีพฤติกรรมต่างๆ นั้นแบ่งออกเป็นสองแบบนะครับ แบบแรกคือข้อมูลแบบที่เป็นพื้นฐาน (ฝรั่งเรียกว่า Hard-Wired ประมาณว่าเชื่อมต่อเอาไว้แล้ว) คือเป็นข้อมูลที่จะไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกของเรา ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษา (Non-Verbal) แต่เราจะจับและรับรู้ได้ โดยที่ ‘จิต’ หรือ ‘ความคิด’ ของเรามักจะรับรู้ไม่ทัน ส่วนมากมักเป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมๆ กับวิวัฒนาการของเรา เช่นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด อย่างตอนที่เราต้องการอาหาร น้ำ ออกซิเจน ความต้องการทางเพศ ฯลฯ แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ข้อมูลแบบนี้ที่เข้าไปสู่สมอง จะไปกระตุ้นเรื่องเชิงอารมณ์ของเราด้วย แต่เป็นอารมณ์ประเภทที่ดิบๆ หน่อยนะครับ เช่น ความกลัว ความสุข ความเจ็บปวด รวมไปถึงแม้กระทั่งความเหงา ความเศร้า ความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนถูกทิ้ง ฯลฯ

 

ซึ่งก็แน่นอนว่าพอมีความรู้สึกพวกนี้เกิดขึ้น หลายคนก็อาจตอบโต้โดยใช้ ‘ช้าง’ ล้วนๆ จนเกิดเป็นพฤติกรรม Toxic ขึ้นมา

 

ข้อมูลอีกแบบหนึ่งคือข้อมูลแบบที่เราพอรู้ตัวอยู่บ้าง ฝรั่งเรียกว่าเป็น Soft-Wired Information ข้อมูลแบบนี้ก็ไหลเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเรานั่นแหละครับ แต่พูดแบบเปรียบเปรยได้ว่ามันมีการทำงานของ ‘ซอฟต์แวร์’ ที่อัปเกรดแล้วอยู่ข้างในอีกทีหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือตัวควาญช้างนั่นแหละครับ ทำให้เกิดการ ‘ตีความ’ อีกทีหนึ่ง ว่าเมื่อได้รับข้อมูลพวกนี้เข้ามาแล้ว มันมีนัยหรือความหมายตรงตามตัวอักษรแบบนั้นจริงๆ หรือ หรือว่าที่จริงมีความย้อนยอกอะไรบางอย่างซ่อนอยู่

 

ข้อมูลแบบนี้จะเป็นข้อมูลที่มาจากความคิด ซึ่งความคิดต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ และความคิดก็เกี่ยวโยงไปถึงระบบความเชื่อที่เราถูกเลี้ยงดูมาด้วย แต่แน่นอนว่ามันไม่สามารถแยกขาดออกจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลแบบแรกได้ ดังนั้น การ ‘ตีความ’ ที่เกิดขึ้น จึงอาจเป็นแบบไหนก็ได้ เช่น ตีความแล้วทำให้หายเคือง หายเศร้า หายโดดเดี่ยว ฯลฯ หรืออาจจะตีความแล้วทำให้เกิดความโกรธ เศร้า โดดเดี่ยว ฯลฯ ในแบบที่ ‘ซับซ้อน’ ข้ึนก็ได้อีกเหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง สุดท้ายก็อาจแปรออกมาเป็นพฤติกรรม Toxic ที่ซับซ้อนและเกิดขึ้นโดยรู้ตัว

 

ในข้อมูลสองแบบนี้ นักจิตวิทยาบอกว่าเราสามารถเปลี่ยน Soft-Wired Information ได้ แต่เปลี่ยน Hard-Wired Information ไม่ได้

 

มันเหมือนกับว่า ร่างกายของมนุษย์เราเป็นฮาร์ดแวร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จะไปเปลี่ยนที่ตัวเครื่องนั้นไม่ได้ เช่น เราเปลี่ยนร่างกายของเราให้ไม่ต้องการออกซิเจน อาหาร น้ำ หรือไม่มีความต้องการทางเพศ – ไม่ได้ รวมทั้งเปลี่ยนพัฒนาการในร่างกายที่จะอยู่รอดตามที่กระบวนการวิวัฒนาการได้สร้างเรามาก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนได้ ก็คือซอฟต์แวร์ในสมองของเราที่จะประมวลผลข้อมูลแบบ Soft-Wired ซึ่งก็คือการเปลี่ยนระบบความคิดความเชื่อของเรา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้อง ‘ฝึก’ ให้ร่างกายของเราคุ้นชินกับความคิดความเชื่อแบบใหม่ โดยต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เปลี่ยน เพื่อให้สารเคมีในสมองของเราค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบการหลั่งออกมากระตุ้นเซลล์ประสาท

 

เช่น เราเคยเกลียดนาย ก. แต่เราสามารถฝึกให้รู้สึกเฉยๆ กับนาย ก. ได้ เดิมทีเดียวพอเห็นหน้า นาย ก. ทีไร สารเคมีแห่งความเกลียดต่างๆ ก็จะประเดประดังหลั่งไหลขึ้นมาในหัวของเรา สั่งให้เราเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจาก นาย ก. สารเคมีเหล่านี้มักทำให้เราเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งเกลียด ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเครียด เป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราใช้จิตสำนึก (หรือควาญช้าง) ค่อยๆ ฝึกช้างไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่สารเคมีแห่งความเกลียดจะค่อยๆ ลดน้อยลง จนในที่สุดเราก็จะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อเห็นหน้า นาย ก. ไม่ร้องยี้เหมือนก่อนหน้า

 

วิธีการที่ทำได้มีหลายอย่าง เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์กับร่างกายของเรา คือต้องเอาให้รู้ให้ได้ว่า มีอะไรเข้ามากระตุ้นเราตอนไหน แล้วการกระตุ้นนั้นทำให้ร่างกายของเราตอบสนองออกไปโดยอัตโนมัติอย่างไร ถ้าเราฝึกให้ตัวเอง ‘ไว’ กับร่างกาย (ฝรั่งบอกว่าให้มีคอนเน็กชันกับร่างกายตัวเอง แต่ถ้าเป็นทางพุทธ ก็อาจคล้ายๆ กับการรู้ตัวทั่วพร้อม – ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย) เวลาร่างกายมีปฏิกิริยาอะไรบางอย่างออกไป เราก็จะพอรู้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แค่ ‘รู้ตัว’ นี่ ก็จะค่อยๆ ชะลอการหลั่งสารเคมีอันไม่พึงประสงค์ลงไปได้แล้วนะครับ แล้วถ้ายิ่งทำบ่อยๆ ก็จะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนการฝึกให้ตัวเองกินอาหารที่เคยไม่ชอบมาก่อน เช่น ไม่ชอบกินเผ็ด แต่ค่อยๆ กินอาหารเผ็ดเข้าไปทีละน้อยๆ ในที่สุดก็จะเริ่มคุ้นชิน และกินเผ็ดได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ถัดมาคือเรื่องของซอฟต์แวร์ล้วนๆ คือพอเราเริ่ม ‘รู้ตัว’ แล้วว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มักจะทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา ขั้นตอนต่อมาก็คือต้องตระหนักรู้ถึงความคิดและถ้อยคำที่เราใช้ พูดอีกอย่างก็คือ ก่อนหน้านี้ พอมีอะไรมากระตุ้น เราก็ไสช้างเข้าชนทันที (เลย Toxic ไงครับ) แต่พอเราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าช้างอยากจะทำอะไร ถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ บางทีเราอาจเปลี่ยนไม่ได้ (เช่น ความหิว อารมณ์โกรธ หรืออารมณ์เหงาเพราะรู้สึกถูกทอดทิ้ง) เนื่องจากเป็นสิ่งที่ติดค้างตกทอดมากับวิวัฒนาการ ถึงอย่างไร อารมณ์พวกนั้นก็จะเกิดขึ้น แต่พอเรา ‘เห็น’ มันแล้ว เราก็สามารถให้ควาญช้างเข้ามาทำงานได้

 

ควาญช้างนั้นแม้จะมีพลังน้อย แต่ก็เก่งนะครับ เพราะในบางเรื่องก็สามารถรั้งช้างเอาไว้ได้ เพื่อที่จะย้อนกลับมาใคร่ครวญดูก่อนว่าเรามี ‘รูปแบบความคิด Toxic’ (Toxic Thinking Pattern) อะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า (ย้อนกลับไปดูตอนที่แล้วนะครับ) แล้วเมื่อเรารู้ตัว ก็จะรู้ว่าควรมีปฏิกิริยาอย่างไรออกไป ควรเลือกใช้ถ้อยคำแบบไหน ถึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือถูกมองว่า Toxic

 

แล้วขั้นตอนที่ยากที่สุด ก็คือการที่เราต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับจิตใต้สำนึก (หรือช้าง) ของเราให้ได้ นั่นคือต้องทำให้จิตใต้สำนึกมาอยู่ข้างเดียวกับเรา

 

จิตใต้สำนึกของเราเป็นเหมือน ‘โกดัง’ เก็บทัศนคติทั้งหลายที่เราสั่งสมมาตลอดชีวิต ทั้งทัศนคติที่เกิดจากวิวัฒนาการและที่เกิดจากระบบความเชื่อ ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยรู้ตัว เพราะมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และเราก็จะไปฉุดรั้งมันให้เปลี่ยนทิศทางในทันทีไม่ได้หรอกครับ ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ฝึกตัวเองไปทีละน้อย

 

ความ Toxic ไม่ใช่เรื่องทางจิตใจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องทางร่างกายด้วย เพราะเราต้อง ‘เทรน’ สมองให้ค่อยๆ หลั่งสาร Toxic น้อยลง ซึ่งจริงๆ แล้ว โจนาธาน เฮดต์ บอกเอาไว้ว่ามีอยู่สามวิธีที่จะเปลี่ยนแปลง ‘ช้าง’ ของเราได้ นั่นก็คือการทำสมาธิภาวนาหรือ Meditation เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของสารเคมีในสมอง, การบำบัดการรับรู้ (Cognitive Therapy) และสุดท้ายคือการใช้ยาเข้าไปเปลี่ยนแปลง (แบบเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงที่ต้องใช้ยา) ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดและไม่เสียเงินเสียทองให้ต้องหงุดหงิด ก็คือการทำสมาธิภาวนานั่นแหละครับ

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ต่างก็คือการทำให้ความคิดและร่างกายของเราสงบลงนั่นเอง การทำให้ความคิดสงบ ก็คือการใช้ ‘ตรรกะ’ (Logic) มาควบคุม ส่วนการทำให้ร่างกายสงบ (เช่นทำให้ฮอร์โมนความโกรธหลั่งออกมาน้อยลง) ก็คือการควบคุมอารมณ์ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นเรื่องไก่เกิดก่อนไข่ นั่นคือไม่รู้ว่าเพราะเราฝึกให้ตัวเองสงบเย็น ฮอร์โมนความโกรธเลยหลั่งออกมาน้อย หรือเพราะฮอร์โมนหลั่งออกมาน้อย เราจึงสงบเย็น แต่โดยรวมๆ ก็คือ ถ้าเราเป็นคนเริ่มก่อน (หมายถึงเริ่ม ‘ผูกมิตร’ และ ‘ทำความรู้จัก’ กับจิตใต้สำนึกของตัวเอง) ก็เป็นไปได้ที่สารเคมีเหล่านั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบการหลั่ง แล้วเราก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่ Toxic น้อยลง

 

อ่านมาจนถึงตรงนี้ บางคนอาจรู้สึกว่าการลดความ Toxic เป็นเรื่องยากจังเลย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ ยากเหมือนชื่อหนังสือของชารอน เบกลีย์ (Sharon Begley) คือ Train Your Mind Change Your Brain เลย

 

แต่ถ้าอยากหาย Toxic ก็ต้องลองทำดูนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X