×

หลักนิติธรรมและการขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2019
  • LOADING...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างหนัก โดยล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดจากการจัดอันดับ 40 ประเทศในรายงาน โดยประชากร 1% ที่ร่ำรวยที่สุดบนยอดพีระมิด ครอบครองทรัพย์สินถึง 66.9% ของประเทศ ขณะที่ประชากรที่รวยที่สุด 10% ครองทรัพย์สินรวม 85.7%

 

 

ซึ่งความเหลื่อมล้ำในภาพรวมมีหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการจัดการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้หลักนิติธรรมและเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างคนในสังคมให้แคบลง

 

หลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ ‘หลักนิติธรรม’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะใช้ไปถึงปี พ.ศ. 2573 โดยถูกกำหนดไว้เป็นเป้าหมายลำดับที่ 16 จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN’s Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 ข้อ โดยนอกจากจะเป็นเป้าหมายในตัวเองแล้ว หลักนิติธรรมยังถือเป็นปัจจัยเอื้อที่จะทำให้เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหลือประสบความสำเร็จอีกด้วย

 

 

TIJ ผนึกกำลัง IGLP-Harvard เปิดโปรแกรมหลักสูตรด้านนิติธรรม

ด้วยความตระหนักในความสำคัญของหลักนิติธรรมต่อสังคมและการผลักดันในเชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบัน IGLP มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดเวทีสาธารณะนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้กับเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายจากหลากหลายภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลักสูตรด้านนิติธรรมหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในเอเชีย นั่นคือ ‘TIJ-IGLP Workshops on the Rule of Law and Policy for Scholars and Emerging Leaders’ ที่มีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกในเครือข่ายของสถาบัน IGLP แห่ง Harvard Law School มาเป็นผู้ให้ความรู้ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนระดับโลกมีครบทั้งด้านวิชาการ แนวคิด และวิธีการใหม่ๆ รวมถึงประสบการณ์จากเครือข่ายซึ่งหาได้ยากจากโปรแกรมอื่นๆ

 

โปรแกรมนี้ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรม และการกำหนดนโยบายโดยใช้หลักนิติธรรมเป็นตัวนำ เพื่อมุ่งยกระดับศักยภาพนักวิชาการและเสริมสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่จากหลายระดับ ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักนิติธรรมเพื่อหาทางออกในประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนงานวิจัยและกำหนดร่างนโยบาย ช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่การพัฒนาสังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยในปีนี้แนวคิดหลักคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เพื่อสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม

 

อีกหนึ่งจุดเด่นของหลักสูตรเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้คือ ‘Problem Labs’ การใช้กรณีศึกษาโดยนำโจทย์เชิงนโยบายที่มีความร่วมสมัย ให้ผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่และนักวิชาการจากแวดวงต่างๆ มาช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา เสนอแนวทางเพื่อผลักดันและกำกับนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ประกอบด้วย ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเข้าถึงความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การต่อต้านคอร์รัปชัน การส่งเสริมพลังสตรีในสังคม

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า “หลักนิติธรรม หากพูดกันในเชิงนิยาม จริงๆ แล้วมีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน ถกเถียงกันได้ไม่จบ แต่หากจะพูดโดยสรุป หลักนิติธรรมคงจะเปรียบได้กับธรรมะของกฎหมาย คือ กฎที่จะสร้างความมั่นใจกับประชาชนได้ว่ากฎหมายและการบังคับใช้จะเป็นไปเพื่อสังคมโดยรวม รวมถึงตัวระบบการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเองก็เป็นได้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจมีความเป็นธรรม

 

“TIJ ได้ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด และมองว่าไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายเท่านั้นที่จะมาพูดคุยกัน เพราะหลักนิติธรรมเป็นทั้งปัจจัยเอื้อและเป็นเป้าหมายที่ทำให้ปัจจัยอื่นประสบความสำเร็จ ถ้าสังคมไม่มีหลักนิติธรรม กระบวนการในการพัฒนาสิ่งอื่นๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเชิญผู้นำในด้านต่างๆ เข้าร่วมในงานครั้งนี้ด้วย นี่ก็เป็นที่มาที่เรามีโครงการนี้ร่วมกับสถาบัน IGLP แห่ง Harvard Law School ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่แล้ว ก็มาร่วมกันช่วยพัฒนาหลักสูตรต่อกันเป็นปีที่ 3”

 

 

ทางด้าน ดร.เดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการจากสถาบัน IGLP แห่ง Harvard Law School มองว่า หลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรระดับโลก เพราะได้มีการรวบรวมเอานักวิชาการชั้นนำผู้มีองค์ความรู้อันหลากหลายมาเป็นผู้จัดการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักวิชาการและผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อให้บุคลากรชั้นนำจากสองกลุ่มนี้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมในสังคม และช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

“เมื่อจบหลักสูตรไปแล้ว ผู้เข้าร่วมจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของหลักนิติธรรม และได้เข้าใจถึงการนำหลักนิติธรรมไปวางนโยบาย รวมถึงสามารถนำไปคิดภายใต้ทางเลือกหลายทางในการดำเนินนโยบายต่างๆ การที่นักวิชาการและนักบริหารได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองกันในเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นักวิชาการจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ากรอบนโยบายที่วางไปจะทำให้ผู้ปฏิบัติต้องพบกับปัญหาอะไร ขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักปฎิบัติ ก็จะสามารถมองเห็นหลักนิติธรรมในมุมการวางนโยบายของนักวิชาการด้วย”

 

 

ทางด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมบรรยายเผยว่า “เรื่องของหลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกหน่วยงาน
และทุกภาคส่วน แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้นำ และต้องทำให้แน่ใจว่าองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความโปร่งใส ทั้งด้านกฎหมาย รวมถึงการออกกฎระเบียบต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่แค่นั้นไม่เพียงพอ เพราะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และอื่นๆ ต้องทำงานร่วมกัน หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมมองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจแนวทางและ
ทิศทางการแก้ปัญหาในทางเดียวกัน”

 

สุดท้ายนี้ อาจกล่าวได้ว่าหลักนิติธรรมหรือพื้นฐานทางกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะต้องมีหลักให้ยึดไว้ให้แข็งแรงแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน แม้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยการทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ก็เพียงพอแล้วกับการเป็นก้าวแรกอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising