×

ขาลงจริงหรือ อะไรคือเหตุผลที่คนทั่วโลกดื่มเบียร์กันน้อยลง

18.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • ปี 2016 คนทั้งโลกร่วมใจกันดื่มเบียร์น้อยลง 1.8% โดยไม่ได้นัดหมาย มีการบริโภคเครื่องดื่มแห่งพรายฟองชนิดนี้อยู่ที่ 185,000,000,000 ลิตร ต่ำลงกว่าปี 2014 ซึ่งเคยอยู่ที่ 189,060,000,000 ลิตร กระนั้นยังมากพอจะรินใส่โตเกียวโดมจนเต็มได้ 148 ครั้ง
  • เบียร์เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในประเทศกำลังพัฒนาที่มี GDP เพิ่มขึ้น แต่อัตราการดื่มก็จะลดลงอีกครั้ง โดยผู้ทำการวิจัยระบุว่าอาจมาจากการที่คนเห็นความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น และคนที่มีกำลังซื้อหันมาสนใจเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่าเบียร์ เช่น ไวน์ เพิ่มขึ้น
  • การใช้จ่ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวโยงกับความสุนทรีย์ของชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นก็จะพัฒนาไปใช้ของที่แพงขึ้น และเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ ก็อาจให้ความสนุกและเรื่องราวที่น่าสนใจกว่า

     ไม่รู้ว่าเป็นเทรนด์โลกที่ค่อยๆ หมุนเปลี่ยนไปหรือไร ที่ทำให้ผู้คนเริ่มหลงลืมรสอร่อยของน้ำเมาจนอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ของทั้งโลกหดตัวลง 1.4% เมื่อปี 2016 ซึ่งผู้เขียนเองแอบนึกในใจว่า “จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคนรอบตัวยังเสพสุขจากการดื่มด่ำน้ำเมากันเป็นว่าเล่น” และที่น่าสนใจกว่าคือมีผลรายงานออกมาบอกว่า “โลกกำลังดื่มเบียร์กันลดลงนะเธอ” มันใช่เหรอ แล้วอะไรเป็นสาเหตุกัน?

 

หมดยุคแล้วหรือ

     เชื่อไม่เชื่อ แต่ผลรายงานจาก IWSR บริษัทวิจัยที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ตัวเลขของการดื่มในแวดวงแอลกอฮอล์ระบุว่า ในปี 2016 มีการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากปีก่อนๆ โดยเหลืออยู่ที่ 250,000,000,000 ลิตร (เท่านั้น) ซึ่งน่าแปลกใจว่าเป็น 2 ปีซ้อนที่ระดับการดื่มน้ำเมาของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนที่หายไปนั้นคือ ‘เบียร์’

 

จีนครองแชมป์นักดื่ม

     ไม่รู้ว่าเป็นการหมุนของโลกที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างรสอร่อยของน้ำสีทองฟองฟูอย่างเบียร์ เอียงไปหาค็อกเทลแก้วสวยที่กำลังติดลมกันอยู่รอบด้านหรือไม่ เพราะสัดส่วนของการดื่มที่หายไป เห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะคนเลือกบริโภคเบียร์กันน้อยลง โดยเบียร์นั้นเป็นถึง 3 ใน 4 ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่คนบริโภค และในปี 2016 คนทั้งโลกร่วมใจกันดื่มเบียร์น้อยลง 1.8% โดยไม่ได้นัดหมาย มีการบริโภคเครื่องดื่มแห่งพรายฟองชนิดนี้อยู่ที่ 185,000,000,000 ลิตร ต่ำลงกว่าปี 2014 ที่เคยอยู่ที่ 189,060,000,000 ลิตร (มากพอจะรินใส่โตเกียวโดมจนเต็มได้ 148 ครั้ง)

     สิ่งที่น่าจับตามองคือ เมื่อปีก่อนแม้จำนวนประชากรโลกที่สามารถดื่มได้ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น 1% กระนั้นพวกเขากลับไม่เลือกที่จะดื่มเบียร์ และผลจากรายงานแสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่วัยดื่มบริโภคเบียร์กันน้อยลงถึง 3.2% โดยตัวเลขที่หายไปนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของ 3 ใน 5 ตลาดนักดื่มที่ใหญ่ที่สุดนั่นเอง ผลการรายงานชี้ว่า การเปลี่ยนของตลาดอย่างจีน บราซิล และรัสเซีย มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเลขการดื่มที่หายไปในปี 2016 อยู่ถึง 99.6%

    และนอกจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้เฟื่องฟู (เท่าฟองเบียร์) เท่าใดนัก รสนิยมเองก็ผันแปรตามไปด้วยเช่นกัน โดยในปี 2001 คนจีนดื่มเบียร์เยอะจนโค่นอเมริกา ขึ้นครองเป็นแชมป์ตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการบริโภคเบียร์ของคนทั่วโลกก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2013 แต่หลังจากนั้นก็ดิ่งลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

     และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอเบียร์จีนเริ่มเมินน้ำสุราสีทองที่มักมีราคาถูกและผลิตในประเทศ ก็เพราะพวกเขาเริ่มติดใจเครื่องดื่มระดับพรีเมียมที่มีราคาสูงขึ้น รวมไปถึงเบียร์นำเข้าที่เริ่มโหมเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

     อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจับตามองคือ นักดื่มรุ่นที่ผ่านอะไรมาพอตัวของจีนเองก็เริ่มหันไปลิ้มลองรสชาติของน้ำเมาชนิดอื่นๆ กันมากขึ้น โดยจากรายงานยังระบุอีกว่า คนวัย 30 ปีขึ้นไปเริ่มจิบไวน์กันมากขึ้น ​(มันเป็นเรื่องของวัยสินะ?) ในขณะที่วัย 40 ปีขึ้นไปนิยมดื่ม ไป๋จิ่ว เหล้าขาวประจำชาติของจีน

     นอกเหนือจากในจีนแล้ว รัสเซียและบราซิลที่เป็นเป็นตลาดใหญ่รองลงมาก็มีอัตราการดื่มในผู้ใหญ่ลดลง 7% เท่ากัน

 

เบียร์เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในประเทศกำลังพัฒนาที่มี GDP เพิ่มขึ้น แต่อัตราการดื่มก็จะลดลงอีกครั้ง โดยผู้ทำการวิจัยระบุว่าอาจมาจากการที่คนเห็นความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น และคนที่มีกำลังซื้อหันมาสนใจเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่าเบียร์ เช่น ไวน์ เพิ่มขึ้น

 

เหตุผลที่คนดื่มเบียร์น้อยลง

     สาเหตุที่ตลาดรอบโลกเปลี่ยนไปนั้นเป็นเพราะรูปแบบในการดื่มเบียร์ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย โดยในปี 2016 ลิซเบธ โคเลน (Liesbeth Colen) และโยฮัน สวินเนน (Johan Swinnen) จากมหาวิทยาลัยเลอเฟิน (University of Leuven) ได้ทำการศึกษาผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และภาวะการดื่มเบียร์จาก 80 ประเทศทั่วโลกในระหว่างปี 1961-2009 และพบว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มยอดฮิต โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มี GDP เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเติบโตจนมีรายได้โดยเฉลี่ยของแต่ละบุคคลต่อปีอยู่ที่ 898,000 บาท (27,000 เหรียญสหรัฐ) อัตราการดื่มเบียร์ก็จะลดลงอีกครั้ง โดยผู้ทำการวิจัยระบุว่า อาจมาจากการที่คนเริ่มเห็นอันตรายและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการดื่มมากขึ้น นอกเหนือจากนั้น คนที่มีกำลังซื้อยังเริ่มหันมาสนใจเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่าเบียร์ เช่น ไวน์ เพิ่มขึ้นด้วย

     ผู้ทำการศึกษาทั้งคู่ยังพบอีกว่า ปริมาณการดื่มเบียร์จะเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศนั้นๆ ได้รับอิทธิพลการใช้ชีวิตจากวัฒนธรรมอื่นมาผสม เช่น เมื่อคราฟต์เบียร์ต่างชาติเริ่มบุกหนัก เราก็อาจจะอยากลิ้มลองรสชาติฟองเบียร์นุ่มๆ รูปแบบใหม่ๆ บ้าง นั่นเป็นเรื่องปกติ

 

 

เบียร์ไทยยังครึกครื้น

     ย้อนกลับมามองของไทย เมื่อปี 2559 แม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้บรรยากาศการสังสรรค์ต้องหยุดลง บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเช่นกัน แต่นักดื่มเบียร์ก็ยังคงดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปี ซึ่งตลาดเบียร์ไทยมีมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยเบียร์ลีโอ ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 53-54%  รองลงมาคือเบียร์ช้าง 38-39% ต่อด้วยเบียร์สิงห์ 5-6% และเบียร์ไฮเนเก้น 4-5% แต่คนไทยจะดื่มเบียร์กันน้อยลงตามกระแสโลกด้วยไหม THE STANDARD ต่อสายถาม ผศ. ดร. เจริญ เจริญชัย อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ทำการศึกษาเรื่องสุราไทย

 

น้ำเมาแบบไหนชนะใจคนไทยที่สุด

     คนไทยดื่มเหล้าขาวกันเยอะที่สุด เพราะเป็นเครื่องดื่มราคาถูกที่สุด และให้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แรง ประชากรส่วนมากที่เป็นผู้ใช้แรงงานจะนิยมบริโภคสุราขาว เพราะถ้าดูจากยอดการผลิตและความต้องการในการผลิตแล้วจะเห็นได้ว่า ความต้องการของสุราชุมชนในตลาดยังมีอยู่มาก และเป็นตลาดใหญ่ เพราะผลิตในปริมาณมากและกำไรน้อย แต่ก็ยังถือว่าได้กำไร เพราะผู้บริโภคมีปริมาณมาก ดังนั้นสุราขาวจึงเป็นอันดับหนึ่ง ที่รองลงมาคือเบียร์ราคาถูกที่คนทั่วไปดื่มได้ เช่นเบียร์ตลาดล่างอย่าง ลีโอ เชียร์ ไทเกอร์

 

คนไทยจะดื่มเบียร์น้อยลงไหม

     คนไทยโดยทั่วไปไม่ได้ดื่มเบียร์น้อยลง แต่มีการบริโภคเบียร์ทางเลือกเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้คราฟต์เบียร์กำลังเข้ามาเติมในตลาดเบียร์ ทำให้ขยายตัวรวดเร็วมาก จนกลุ่มเบียร์ทางเลือกเองยังผลิตมาขายไม่ทัน และในตลาดยังมีพื้นที่ให้บรรดาคราฟต์เบียร์อีกมาก และคราฟต์เบียร์ต่างประเทศเองก็เข้ามาเยอะขึ้น ในส่วนของไทย ขณะนี้มีกว่า 10 แบรนด์ แต่ไปทำในต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลิตปริมาณน้อยในไทยได้ นั่นแปลว่าเบียร์ยังโตอยู่ และตลาดไทยก็ไม่ได้เล็กลง แต่ถ้ามองในมุมของทั่วโลก คนอาจมองว่าเบียร์มีแคลอรีเยอะจนควรเป็นห่วงสุขภาพ แต่ในไทยยังไม่ได้ถึงจุดนั้น

 

GDP ที่สูงขึ้นเกี่ยวอะไรกับการเลือกดื่มเบียร์

     การใช้จ่ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวโยงกับความสุนทรีย์ของชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นก็จะพัฒนาไปใช้ของที่แพงขึ้น ทีนี้เบียร์ตามโรงงานก็มีราคาไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าอยากพัฒนาขึ้น ผู้บริโภคก็จะหันไปหาคราฟต์เบียร์ที่มีรสชาติให้เลือกหลากหลายขึ้น ในหลายประเทศ คนหันไปดื่มไวน์เพราะอาจมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ เพราะไม่ได้มีแคลอรีสูงนักถ้าเทียบกับเบียร์ เพราะเบียร์ทำจากคาร์โบไฮเดรตกับน้ำตาล ส่วนไวน์ทำจากผลไม้และมีสารต้านอนุมูลอิสระจากองุ่นด้วย เสริมกับงานวิจัยที่ว่า การดื่มไวน์อย่างพอดีช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ดีต่อหัวใจ ลดความดันโลหิต ดังนั้นคนที่มีกำลังซื้อก็จะพัฒนาไปสู่การดื่มไวน์ หรือในกลุ่มที่เล็กลงมาก็จะหันไปหาซิงเกิลมอลต์วิสกี้ อันเป็นสิ่งที่แสดงฐานะทางสังคมด้วย

     รวมไปถึงเรื่องที่สามารถพูดคุยได้จากการดื่มที่มาพร้อมกัน คนที่ดื่มก็จะมานั่งถกกันถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งแตกต่างกับเบียร์ ซึ่งมีกลุ่มน้อย เพราะมักจะวิพากษ์กันว่ามีกลิ่นอะไร มีความขมมากน้อยแค่ไหน ซ่ามากหรือน้อย และกลิ่นของผลไม้นั้นชัดแค่ไหน ในขณะที่ไวน์นั้นสามารถไล่ไปได้ถึงแหล่งผลิต ดินฟ้าอากาศ ปีที่เก็บ การเก็บบ่ม ซึ่งมีอะไรให้คุยเล่นกันมากกว่า แถมยังมีเรื่องของการจับคู่กับอาหารอีกที่ถือเป็นเรื่องปกติในภัตตาคาร โรงแรมต่างๆ จะจัดไวน์แพริง โดยเฉพาะเชฟดัง หรือเชฟมิชลิน ที่จะเป็นคนช่วยเลือกไวน์มาด้วย กลายเป็นความสนุกสนานสุนทรีย์ของชีวิตไป เพราะไวน์เข้าไปอยู่กับอาหารได้

     และถ้าดูระดับนานาชาติแล้ว โดยทั่วไปคนก็ไม่จับคู่เบียร์กับอาหาร ยกเว้นในผับกับอาหารอย่างเบอร์เกอร์ เพราะนั่นไม่ใช่ธรรมชาติของเบียร์ และเครื่องดื่มแต่ละตัวก็มีธรรมชาติต่างกันไป เบียร์มักจะเกี่ยวโยงกับงานปาร์ตี้มากกว่า เราจะไม่ค่อยเห็นคนนั่งดื่มเบียร์แล้วถกถึงรสชาติของมัน ถ้ามีก็เฉพาะกลุ่มน้อยเท่านั้น

     ดังนั้นคนที่มีกำลังซื้อมาก ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้ใหญ่แล้วก็จะไม่ค่อยเข้าคลับที่เสียงดังเท่าไร แต่จะเลือกนั่งสบายๆ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาด้วยก็จะเป็นไวน์นั่นเอง จึงทำให้วงการที่ผลิตแต่ละอย่างเน้นลูกค้าตามกลุ่มที่ใช่ เช่น กลุ่มที่ทำไวน์ก็จัดแพริงกับอาหารที่ร้านอาหาร ส่วนกลุ่มเบียร์ก็ทำโปรโมชันตามผับที่มีอาหารกินง่ายกว่า แต่สุดท้ายก็แล้วแต่ว่าชอบอะไรมากกว่า

     โลกหมุนเร็วขึ้น อะไรๆ ก็ทยอยเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หลังจากดื่มด่ำกับรสชาติของน้ำเมาฟองฟูหลายทศวรรษมานาน อาจถึงเวลาที่เทรนด์นี้จะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เราเชื่อว่าท้ายที่สุดทุกอย่างก็มักหมุนกลับมาที่เดิม แต่ ณ โมเมนต์นี้ ดื่มด่ำกับความอร่อยให้เต็มอิ่ม แล้วก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพกันด้วย

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

FYI
  • จากการวัดของบริษัทวิจัยทางการตลาด ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นเนล (Euromonitor International) นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่บรรดานักดื่มพร้อมใจกันดื่มน้ำเมาน้อยลงทั่วโลก ถึงแม้ตัวเลขที่ลดลงจะไม่มาก โดยลดลง 0.7% หรือจาก 249,700,000,000 ลิตรในปี 2014 มาอยู่ที่ 248,000,000,000 ลิตรในปี 2015 ทั้งๆ ที่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่การเก็บตัวเลขครั้งแรกในปี 2001

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising