×

วิเคราะห์ท่าที ‘สีจิ้นผิง’ เดินสายเยือนยุโรป คาดมุ่งรักษาสายสัมพันธ์และฟื้นสมดุลการค้า

10.05.2024
  • LOADING...

เว็บไซต์ข่าว Asia Nikkei เปิดเผยรายงานความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ที่ระบุว่า การเดินทางเยือนยุโรปและเข้าพบผู้นำคนสำคัญของประเทศต่างๆ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยท่าทีและสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน กำลังดำเนินการรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อนในระหว่างการเยือนยุโรป ซึ่งมีทั้งความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับยุโรป ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าและการแสดงจุดยืนของจีนเกี่ยวกับการแทรกแซงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ใช้การเยือนฝรั่งเศสเมื่อต้นสัปดาห์นี้เพื่อส่งสัญญาณความมุ่งมั่นที่จะเปิดการค้าและเรียกร้องให้มีการสงบศึก โดยอาศัยช่วงเวลาระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสเป็นจุดเริ่มต้น ขณะที่ในการเดินทางเยือนเซอร์เบีย ผู้นำจีนรายนี้ได้ส่งข้อความต่อต้านไปยังองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ก่อนที่จะปิดท้ายการเดินทางเยือนฮังการี ยุโรปตะวันตก ในช่วงวันพุธที่ผ่านมา (8 พฤษภาคม) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การเลือกจุดหมายสุดท้ายที่ฮังการีถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของจีนที่ยังคงต้องการสานสัมพันธ์ทางการค้ากับยุโรป โดยฮังการีถือเป็นประเทศที่บริษัทแบตเตอรี่ของจีนเข้าไปลงทุนหลายพันล้านยูโรเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่

 

Marc Julienne ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งฝรั่งเศส (Center for Asian Studies at the French Institute of International Relations) กล่าวว่า การเดินทางเยือนยุโรปครั้งนี้ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง อาจไม่ได้มีผลลัพธ์สำคัญใดๆ ที่เป็นรูปธรรมมากนัก โดยเฉพาะการพบกันกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยสนทนาอย่างตรงไปตรงมาในทุกเรื่องโดยไม่มีการหลบเลี่ยง ซึ่งรวมถึงหัวข้อที่ยากที่จะคุยที่สุดอย่าง ยูเครน การค้าที่ไม่สมดุล การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงตลาด 

 

Julienne ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นถือเป็นความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับการเยือนจีนของประธานาธิบดีมาครงในเดือนเมษายนปี 2023 ที่เจ้าตัวมุ่งเน้นแง่มุมด้านธุรกิจมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหลักที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสคือการคงอัตราภาษีนำเข้าคอนยัคฝรั่งเศส ซึ่ง Les Echos หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจชั้นนำของฝรั่งเศส เรียกข้อตกลงที่เกิดขึ้นว่าเป็นชัยชนะเล็กๆ โดยที่ผ่านมา ฝรั่งเศสกังวลว่าจีนจะขึ้นภาษีสุราหลังจากที่ฝรั่งเศสสนับสนุนคณะกรรมาธิการยุโรปในการสอบสวนรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกของจีนที่เข้ามาท่วมตลาดในภูมิภาคยุโรป 

 

ด้านหนังสือพิมพ์รายวัน Le Monde ชี้ให้เห็นว่าคอนยัคมีอยู่ทั่วไปในระหว่างการเยือน ตั้งแต่โต๊ะอาหารค่ำของรัฐไปจนถึงขวดที่มอบให้กับประธานาธิบดีจีนเป็นของขวัญ

 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีข้อตกลงความร่วมมืออื่นๆ เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินของฝรั่งเศส และบริษัทจัดการน้ำสุเอซ โดยรวมแล้วหลายฝ่ายต่างยอมรับ ‘การทูตคอนยัค’ ของประธานาธิบดีมาครงว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ขณะที่ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ผู้นำทั้งสองมีการพูดคุยกันอย่างระมัดระวัง โดย Les Echos มองว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังห่างไกลจากการแก้ไข

 

ยิ่งไปกว่านั้นต่อให้ประธานาธิบดีมาครงจะพยายามแสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการเชิญประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen ให้มาพบกับสีจิ้นผิงที่กรุงปารีส แต่ก็ไม่มีผลใดๆ มากนัก 

 

ขณะเดียวกัน ท่าทีของสีจิ้นผิงที่มีต่อแต่ละประเทศที่เดินทางเยือนก็มีความแตกต่างกันออกไป โดย Helena Legarda หัวหน้านักวิเคราะห์จากสถาบันจีนศึกษา Mercator Institute of China Studies กล่าวว่า ทัศนคติในกรุงเบลเกรดและกรุงบูดาเปสต์ค่อนข้างที่จะแตกต่างกันมาก โดยมีแนวโน้มว่าจะมีการตกลงความร่วมมือกันมากขึ้น รวมถึงในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว และมีการวางแนวทางภูมิรัฐศาสตร์ร่วมกัน 

 

Legarda อธิบายช่วงเวลาในการเยือนเซอร์เบียของสีจิ้นผิง ตรงกับวันครบรอบ 25 ปีที่ NATO ทิ้งระเบิดสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ซึ่งทำให้การเดินทางของสีจิ้นผิงในช่วงนี้จะค่อนข้างแข็งกร้าวและมีน้ำเสียงต่อต้าน NATO โดยสื่อท้องถิ่นรายงานอ้างอิงคำพูดของสีจิ้นผิงที่แปลจากภาษาอังกฤษระบุว่า สีจิ้นผิงได้กล่าวถึงเหตุระเบิดดังกล่าว ว่าเป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง และเป็นสิ่งที่จีนไม่ควรลืม 

 

ด้าน Julienne ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจไปกรุงเบลเกรดในวันครบรอบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งข้อความชัดเจนถึงประชาคมโลกว่า จีนมองการมีอยู่ของ NATO เป็นภัยคุกคาม 

 

เรียกได้ว่าท่าทีของสีจิ้นผิงเป็นสัญญาณต่อต้านที่ชัดเจนมากที่มีต่อสหรัฐฯ และ NATO

 

ในเชิงเศรษฐกิจ เซอร์เบียยังเปิดรับการบริจาคจากจีนอย่างมาก โดยประธานาธิบดีเซอร์เบีย Aleksandar Vučić ซึ่งไปต้อนรับทักทายสีที่สนามบินกรุงเบลเกรด กล่าวว่า จีนเป็น ‘หุ้นส่วนที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ สำหรับเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ผู้นำเซอร์เบียวางไว้ โดยเจ้าตัวกล่าวว่า เซอร์เบียและจีนขณะนี้มีการแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยรวมแล้วถึง 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนแสดงความเชื่อมั่นว่า มูลค่าทางการค้าระหว่างเซอร์เบียกับจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า หรือมากกว่านั้น ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า 

 

ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนเซอร์เบีย ผู้นำทั้งสองได้บรรลุข้อตกลงที่จะสนับสนุนการอ้างสิทธิในดินแดนของกันและกัน ซึ่งทาง Vučić สนับสนุนจุดยืนของจีนที่ว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่สีเองก็ให้การสนับสนุนความพยายามของเซอร์เบียในการรักษา ‘บูรณภาพแห่งดินแดน’ ของตนเหนือโคโซโว 

 

ยิ่งไปกว่านั้น สองฝ่ายยังตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเสรีโดยเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ได้มีการลงนามร่วมกันไปในช่วงเดือนที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจุดยืนของ สีจิ้นผิง ต่อประเทศต่างๆ จะมีรายละเอียดเล็กน้อยที่ต่างกัน แต่โดยรวมแล้วเป้าหมายสำคัญที่สุดของผู้นำจีนครั้งนี้คือการสานสัมพันธ์กับยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้นในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเศรษฐกิจการค้าจากสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางการจับตามองจากหลายฝ่าย สีจิ้นผิงได้ส่งจดหมายถึงบรรดาสื่อในฮังการียืนยันว่า จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฮังการีอย่างเต็มที่ รวมถึงทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอียู ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก พร้อมให้คำมั่นรับรองการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรป

 

Akane Yamanoi ผู้จัดการของ Mitsubishi UFJ Research and Consulting กล่าวในรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนบางรายตกลงที่จะจัดหาแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป เช่น BMW และ Mercedes โดยที่ฮังการีเป็นหนึ่งในจุดหมายลงทุนสำคัญที่จะมีบทบาทให้จีนเป็นส่วนหนึ่งของตลาด EV ยุโรปที่กำลังมีการเติบโต ซึ่ง BYD ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีนที่มีแผนจะสร้างโรงงานในยุโรปแห่งแรกในฮังการีด้วย

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าแม้ประเด็นอ่อนไหวบางประเด็นดูจะไม่ค่อยมีการพูดถึงและเน้นย้ำมากนัก เช่น ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ และข้อกล่าวหาว่าจีนจารกรรมในยุโรป แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ไม่ช้าก็เร็ว ประเด็นเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขในที่สุด 

 

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising