×

‘ปฏิรูปตำรวจ’ วาทกรรมฟุ้งฝันที่อาจเป็นจริงได้ หากไร้ซึ่งนายกฯ-การเมืองครอบงำ

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...
ปฏิรูปตำรวจ

จากเวทีหารือหัวข้อ ‘ปฏิรูปตำรวจ โดยตำรวจและประชาชน’ ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม โดยสมาคมตำรวจ ร่วมกับสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ และภาคประชาชน

 

คีย์เวิร์ดหลักที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะทำให้วาทกรรมที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยจนแทบจะเป็นเรื่องฟุ้งฝันประสบความสำเร็จได้คือ การที่ตำรวจต้องไร้ซึ่งการเมืองครอบงำ

 

โดยคำว่า ‘ไร้’ หรือไม่มีในที่นี้หมายถึงการปราศจากซึ่งอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายการเมือง เข้ามาบริหารจัดการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดทิศทาง ตัดสินความเป็นไปขององค์กรตำรวจที่มีฟันเฟืองมากกว่า 2 แสนชีวิต

 

ในเวทีหารือครั้งนี้ประกอบด้วยอดีตข้าราชการตำรวจ นักวิชาการ และภาคประชาชน

 

  • พล.ต.อ. วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน
  • พล.ต.อ. วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ
  • พล.ต.อ. ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
  • พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวน
  • พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • นพดล กรรณิกา คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย SUPER POLL 
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw 

 

ความเป็นมาก่อนการหารือร่วมกัน

 

เพราะที่ผ่านมาประชาชนขาดความศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และตำรวจ ผู้ซึ่งถือว่ามีบทบาทในการปฏิบัติตามกฎหมายและทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

 

แต่กลับถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจากกรณีที่ผู้บริหาร 2 คน ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์และการฟอกเงิน จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทั้ง 2 คนออกจากรั้ว ตร. ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

สมาคมตำรวจและภาคีเครือข่ายที่ตามสังเกตการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ตกตะกอนแล้วว่าเหตุทั้งหมดไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องการบริหารงานภายในองค์กร หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะมีแต่ทำให้องค์กรเสื่อมความศรัทธา

 

ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไของค์ประกอบของ ก.ตร. โดยต้องกำหนดให้ประธานมาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจเท่านั้น 

 

จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการ (ก.ตร.บช.) ให้มีขึ้นในกองบัญชาการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจภายในอำนาจของกองบัญชาการนั้นๆ โดย ก.ตร.บช. ประกอบด้วย 14 คน คือ

 

  1. ประธาน ก.ตร.บช. มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นๆ 
  2. ผู้บัญชาการเป็นรองประธาน ก.ตร.บช. 
  3. รองผู้บัญชาการเป็นกรรมการ 
  4. ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ 6 คน 

 

ทางคณะยังมีความเห็นว่า ต้องปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยให้จัดตั้งสำนักงาน ก.พ.ค.ตร. ขึ้น เพื่อรองรับการทำงานของ ก.พ.ค.ตร. แทน จากเดิมที่ใช้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน

 

ทั้งนี้ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเปรียบเสมือนศาลปกครองชั้นต้น จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องดังกล่าวมารองรับสนับสนุนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของ ก.ร.ตร. ให้มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการพิจารณาคดีวินัย การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เพื่อให้ตรงกับภารกิจหน้าที่ของ ก.ร.ตร. และให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ก.ร.ตร. ขึ้น โดยไม่ใช้บุคลากรของ ตร. เพื่อรองรับการทำงานของ ก.ร.ตร. แทน จากเดิมที่ใช้สำนักงานจเรตำรวจเป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน

 

และส่วนสุดท้ายคือ รื้อฟื้นแท่งงานสอบสวน เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลสายงานสอบสวนที่ขาดโอกาสในการเจริญก้าวหน้า ต้องให้พนักงานสอบสวนมีเส้นทางการเจริญเติบโตได้โดยการประเมิน สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าในสายงานของตัวเองได้ และสามารถได้รับการเลื่อนตำแหน่งจนถึงระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

ตำรวจเองก็หวังให้ปฏิรูปแล้วเปลี่ยนแปลง

 

นพดลกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยสำรวจเสียงของประชาชนเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจไปแล้ว ซึ่งอย่าลืมว่าเสียงของตำรวจเองก็สำคัญ จึงเกิดการสำรวจข้อมูลฝั่งของตำรวจเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจด้วย 

 

การสำรวจที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการสำรวจจากตำรวจทุกสายงานคือ ตำรวจในสถานีตำรวจ, สายงานป้องกัน, สายงานปราบปราม, สายงานด้านสืบสวนสอบสวน และสายงานด้านจราจร

 

นพดลระบุว่า SUPER POLL สำรวจ 3 ด้าน ด้านแรกคือเรื่องความรู้สึกของตำรวจ 

 

  • ร้อยละ 79.8 มองว่าตำรวจปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน ทั้งประชาชนในภูมิลำเนาและประชากรแฝง
  • ร้อยละ 72.6 มองว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานสอบสวน กฎหมายใหม่ที่ออกมาที่ทำให้ตำรวจต้องทำงานเชื่อมประสานกับศาล มีความซับซ้อนขึ้น รวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
  • ร้อยละ 67.5 รู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ตำรวจมีหนี้สิน
  • ร้อยละ 65.3 รู้สึกว่าประชาชนมีอคติต่อตำรวจ 
  • ร้อยละ 64.4 มองว่าประชาชนผู้เสียหายใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ สื่อโซเชียล กดดันให้ตำรวจทำงานเกินขอบเขตของกฎหมาย
  • ร้อยละ 59 มองว่าประชาชนคาดหวังต่อตำรวจสูงเกินหน้าที่ของตำรวจเอง
  • ร้อยละ 57 มองว่าการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม

 

คำตอบอื่นๆ อีกร้อยละ 24.8 ระบุว่า ระบบคุณธรรมไม่มีอยู่จริง, ผู้บังคับบัญชานำภาระงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการดูแล ไม่เกี่ยวกับงานตำรวจมามอบหมายให้ทำ

 

ด้านที่ 2 ความรู้สึกในการเป็นตำรวจ ความภูมิใจ และความรักในอาชีพ 

 

  • ร้อยละ 82.9 ระบุว่า ยังมีมากถึงมากที่สุด 
  • ร้อยละ 11.7 อยู่ที่ระดับปานกลาง 
  • ร้อยละ 5.4 น้อยถึงน้อยที่สุด

 

ด้านที่ 3 ได้สอบถามความคิดเห็นถึงเรื่องความหวังต่อการปฏิรูปองค์กรตำรวจ

 

  • ร้อยละ 96.5 ระบุว่า ปฏิรูปแล้วขอให้ตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
  • ร้อยละ 96.1 ขอให้ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง
  • ร้อยละ 93.4 ขอให้เพิ่มตำรวจสายตรวจ สายป้องกันและปราบปราม ดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ปฏิรูปแล้วต้องคืนตำรวจให้ประชาชน ไม่เอาตำรวจไปเดินตามนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล 
  • ร้อยละ 92.6 ขอให้ตำรวจที่เชี่ยวชาญเติบโตในหน่วยงานของตนเอง
  • ร้อยละ 90.5 ขอให้แก้ไขการคัดเลือกคนมาเป็นตำรวจให้มีทัศนคติที่ดีต่อหน้าที่ตำรวจ ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน 
  • ร้อยละ 80.9 ปฏิรูปแล้วต้องสามารถกู้คืนศักดิ์ศรีให้กับตำรวจได้อย่างแท้จริง

 

ของดีราคาถูกไม่มีในโลก

 

ด้าน พล.ต.อ. วินัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ภาพลักษณ์ของตำรวจตกต่ำถึงขีดสุด จากผลสำรวจจะเห็นว่า มีพี่น้องประชาชนถึงร้อยละ 93 หรือแม้แต่ตำรวจที่ทั้งรับราชการอยู่และเกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้เรียกร้องให้ต้องมีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ เพิ่มความศรัทธาว่าปฏิรูปแล้วองค์กรตำรวจจะต้องดีขึ้น

 

โดยกำหนดหลักการปฏิรูปไว้ 4 อย่าง

 

  1. ปฏิรูปตำรวจแล้วประชาชนได้อะไร
  2. พฤติกรรมตำรวจที่ไม่ถูกต้องต้องได้รับการแก้ไข
  3. แก้ไขความขาดแคลนของตำรวจ
  4. แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในส่วนที่ไม่ถูกต้อง

 

พล.ต.อ. วินัย กล่าวในส่วนการแก้ไขความขาดแคลนของตำรวจว่า งบประมาณ เครื่องมือ สวัสดิการ และเบี้ยเลี้ยงตามโรงพักขาดแคลน ตัวอย่างเช่น งบสืบสวนการติดตามจับกุมคนร้าย ขณะนี้ตำรวจมีไม่เพียงพอ สังคมเองต้องการให้จับกุมคนร้ายให้รวดเร็ว ซึ่งการเดินทางของตำรวจเพื่อลงพื้นที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ จากที่เคยของบไป 100% ตำรวจกลับได้งบเพียง 40% 

 

“ค่าน้ำมันรถยนต์ให้เดือนละ 3,000 บาท จักรยานยนต์ 1,000 บาทต่อเดือน สะท้อนว่างบประมาณสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ” พล.ต.อ. วินัย กล่าว

 

พล.ต.อ. วินัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตำรวจต้องทำคดีและดูแลค่าใช้จ่ายเอง ต้องเรียนตามตรงว่า ของดีราคาถูกไม่มีในโลก ท่านต้องลงทุน การที่คณะฯ มาเรียกร้องในครั้งนี้ เพื่อขอให้งบประมาณเพียงพอต่อการทำงานของตำรวจ ไม่ได้เรียกร้องมากเกินความจำเป็น แต่เป็นการเรียกร้องให้ตำรวจทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ให้มีความสามารถดูแลครอบครัวได้

 

ต้องปฏิรูปที่ใจของผู้มีอำนาจที่จะปฏิรูป

 

ด้าน พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวถึงการประเมินหลักนิติธรรมของประเทศไทยว่า ในปี 2566 คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 0.49 คะแนน จากเต็ม 1 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และลดลงมาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อคะแนนดัชนีดังกล่าวไม่ดี สะท้อนว่าการคอร์รัปชันในประเทศก็จะไม่ดีตามไปด้วย

 

ตามหลักสากลระบบบริหารงานตำรวจมี 3 แบบคือ รวมศูนย์อำนาจ, กระจายอำนาจ และผสมผสาน ประเทศไทยใช้แบบรวมศูนย์อำนาจมาเป็นร้อยปี มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ แต่ปัจจุบันประเทศอังกฤษเองได้เปลี่ยนเป็นแบบกระจายอำนาจไปแล้ว

 

พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. มีอำนาจในการเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า เป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมโยงการเมืองกับตำรวจ ซึ่งองค์กรตำรวจยังอยู่กับการเมืองมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงยุคปัจจุบัน 

 

“ตัวผมเองและประชาชนรวมทั้งข้าราชการตำรวจอยากเห็นพรรคการเมืองใดก็ตามประกาศว่าจะทำให้ตำรวจดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อการเมือง แต่เพื่อคนในประเทศนี้ เพื่ออาชญากรรมที่ลดลง” พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าว

 

พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวต่อว่า หลัก 3P ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของตำรวจ ประกอบด้วย Police ตำรวจ, People ประชาชน และ Political will เจตจำนงทางการเมือง ที่ผ่านมาตำรวจและประชาชนเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปมาต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏเรื่องเจตจำนงทางการเมืองให้เห็น

 

“ตำรวจถ้าทำงานอย่างมีความสุขบนพื้นฐานความพร้อม ประชาชนก็จะอยู่ดีมีสุข ถ้าตำรวจได้รับความเป็นธรรมเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การปฏิบัติต่อประชาชนก็จะได้รับความเป็นธรรม ประการสำคัญคือ ผู้นำที่มีอำนาจในการปฏิรูปตำรวจต้องมีภาวะผู้นำ เสียสละ ตัดสินใจเพื่อประโยชน์สาธารณะ สิ่งสำคัญที่สุดกว่านั้นคือ ต้องปฏิรูปที่ใจของผู้มีอำนาจที่จะปฏิรูป” พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าว

 

ตำรวจไม่ดีมีโอกาสเจริญเติบโตกว่า

 

พล.ต.อ. ศักดา กล่าวว่า จุดมุ่งหมายที่สำคัญเรื่องการปฏิรูปตำรวจคือการให้ความสำคัญกับสถานีตำรวจ การจะสัมผัสเข้าถึงใจของประชาชนได้คือการให้บริการ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย โรงพักได้รับการดูแลที่น้อยเกินไป

 

ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญเฉพาะ ตร. ฉะนั้นเวลาที่ผ่านมามีการปฏิรูป สิ่งที่ได้คือตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น มีตำแหน่งแจกจ่ายกัน มีการเจริญเติบโตโดยสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมา ส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้หลงลืมการดูแลการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพของโรงพัก

 

พล.ต.อ. ศักดา กล่าวต่อว่า ตัวตำรวจเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ภาพลักษณ์ในสายตาประชาชนและสื่อมวลชนด้วย ตำรวจไม่ดีมีมากพอสมควร แต่กลับไม่โดนลงโทษอะไรเลย หมายถึงคนที่ไปเก็บส่วย เดินสายหาเงิน ตำรวจพวกนี้กลับเจริญเติบโต ขณะที่ตำรวจที่ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่อย่างดี ไม่ได้รับการดูแลอย่างดี

 

“นายพลบางคนแทบไม่รู้จักงานสืบสวนสอบสวน แต่มาออกนโยบายแปลกๆ ให้โรงพัก โดยไม่ได้รู้จักสถานีตำรวจอย่างแท้จริง” พล.ต.อ. ศักดา กล่าว

 

ในส่วน พล.ต.อ. วุฑฒิชัย กล่าวถึงส่วนหนึ่งของเพลง มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ระบุว่า ตำรวจที่ดีเป็นอย่างไร คือต้องไม่ทำผิดกฎหมาย และย้อนถามกลับว่า ปัจจุบันตำรวจเป็นอย่างไร ประชาชนรู้สึกอุ่นใจหรือไม่

 

พนักงานสอบสวนเป็นงานกระบวนการยุติธรรม ต้องสั่งสมประสบการณ์ ในปี 2559 เกิดการทำลายแท่ง (การเติบโตในสายงาน) พนักงานสอบสวน มีการยกเลิกแท่งพนักงานสอบสวนที่เคยมีไว้ตั้งแต่ปี 2547 แทนที่พนักงานสอบสวนจะมีความเป็นมืออาชีพ กลายเป็นต้องไปวิ่งเต้นสายงานอื่นเพื่อการเติบโตของตัวเอง

 

ประชาชนเปลี่ยนไป ตำรวจต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนตาม

 

ด้าน พล.ต.อ. เอก กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจครั้งแรกเกิดสมัย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งการปฏิรูปครั้งที่ 2 สมัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมาถึงการปฏิรูปตำรวจครั้งที่ 3 ที่ประสบความสำเร็จคือยุคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ทั้งนี้ การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จ ตำรวจต้องเปลี่ยนแปลงก่อน ซึ่งเมื่อประชาชนมีความต้องการที่เปลี่ยนไป ตำรวจต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสังคม

 

ปัญหาที่ต้องนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจคือ

 

  1. เรื่องโครงสร้างการบริหารการรวมอำนาจ มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง 
  2. การบริหารงานบุคคล หัวใจคือต้องพัฒนาตำรวจ ที่ผ่านมาละเลยเรื่องคุณธรรม ซื้อขายตำแหน่ง มีเงินทุจริต
  3. การมีส่วนร่วมของประชาชนและกลไกในการตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ 

 

พล.ต.อ. เอก กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความคาดหวังของตำรวจและประชาชนสวนทางกัน ตำรวจเองก็มองว่าประชาชนมีความคาดหวังมากเกินไป ตำรวจก็มีข้อจำกัดในการทำงาน เพราะงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และเงินเดือนไม่เพียงพอ

 

ดังนั้นกรอบการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจต้องมองว่าประชาชนได้อะไร พฤติการณ์ของตำรวจที่ไม่เหมาะสมคืออะไร และการแก้ไขความขาดแคลน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายในการทำงาน

 

ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อให้การบริหารบุคคลเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีธรรมาภิบาล ต้องปรับโครงสร้าง ก.ตร. ประธานต้องมาจากการเลือกตั้ง, สัดส่วน ก.ตร. โดยตำแหน่งกับการเลือกตั้งเท่ากัน และ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกตั้งของ ก.ตร.

 

ประชาชนมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง

 

ยิ่งชีพกล่าวว่า กระแสที่ประชาชนออกมาเรียกร้องอยากให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจมีมานานแล้ว ตนเห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า ปัจจุบันใครเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ตำรวจก็พร้อมจะทำงานให้ และเมื่อตำรวจทำงานให้เพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง เช่น การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม การดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้าม ไม่ดำเนินคดีกับอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่มีอำนาจในการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีการปฏิรูปตำรวจ เพราะตัวพวกเขาคือคนได้ประโยชน์

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอหากต้องการจะแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพียง 10,000 รายชื่อ สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ แต่นอกเหนือจากการตอบรับจากประชาชน ตนก็อยากเห็นภาพจากตำรวจหรืออดีตตำรวจที่ชูธงการปฏิรูปองค์กรมาร่วมลงชื่อด้วยเช่นกัน

 

“ผมเชื่อว่าพลังจากภายในของตำรวจเอง รัฐบาลปฏิเสธได้ยาก ถ้าทุกท่านลงมือช่วยกันจริงก็น่าจะเป็นจริงได้ ฉะนั้นหวังว่ากระบวนการปฏิรูปองค์กรตำรวจนี้ จะเห็นว่าขับเคลื่อนในรัฐบาลชุดนี้ ถ้ารัฐบาลตอบรับหรือไม่ตอบรับ เราก็สามารถผลักดันในกระบวนการรัฐธรรมนูญและสมาชิกวุฒิสภาในอนาคต และหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป นอกจากการปฏิรูปกองทัพ การศึกษาการปฏิรูปตำรวจน่าจะเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง” ยิ่งชีพกล่าว

 

บันไดขั้นแรกแบบรูปธรรม?

 

ในตอนท้ายของการแถลง พล.ต.อ. วินัย กล่าวสรุปว่า การออกมาเรียกร้องให้ ตร. และตำรวจต้องปฏิรูปผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเข้มงวดกวดขันสิ่งเหล่านี้ เพราะเราได้สะท้อนไปแล้วว่าประชาชนต้องการหรือไม่ต้องการอะไร

 

ตนเองอยากเห็นสถานีตำรวจมีงบประมาณ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้สมบูรณ์ อยากเห็นหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นคนดี มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต ได้รับการแต่งตั้งจากผลงาน ไม่ใช่การฝากฝัง

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสถานีต้องเป็น Smart Police ทั้งร่างกายและจิตใจ เห็นทุกข์สุขพี่น้องประชาชนเหมือนทุกข์สุขของตัวเอง มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อน หลายสิ่งที่เรียกร้องคือขอให้เพียงพอต่อตำรวจ ไม่ได้เรียกร้องอะไรให้มากเกิน

 

เมื่อถามว่า สิ่งที่จะเป็นรูปธรรม บันไดขั้นแรกของการปฏิรูปตำรวจคือสิ่งใด พล.ต.อ. วินัย กล่าวว่า เรามีข้อมูลว่ากำลังพลของแต่ละโรงพักมีเท่าใด เราก็จะต้องไปเรียกร้องให้มีจำนวนกำลังพลเพียงพอ และเราจะไปเรียกร้องการดูแลงบประมาณในเรื่องสาธารณูปโภค วิงวอนไปถึงทุกส่วน ไปถึงรัฐบาล ฝ่ายค้าน ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง

 

“แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการปฏิรูปตำรวจคือ การที่ผู้มีอำนาจไม่ยอมปล่อยอำนาจ” พล.ต.อ. วินัย กล่าว

 

พล.ต.อ. เอก กล่าวเสริมว่า ตราบใดที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. เหมือนท่านยืนอยู่ 2 ขา คืออีกขาหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของฝั่งการเมือง อีกขาเป็นผู้บัญชาการข้าราชการตำรวจ ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการครอบงำของการเมืองในองค์กรตำรวจ

 

เมื่อถามว่า ประเด็นพนักงานสอบสวนที่จะปรับปรุงเรื่องการเติบโตทางหน้าที่จากการปฏิรูปครั้งนี้ จะมีมาตรการจัดการผู้ที่เคยล้มล้างระบอบที่มีมาอยู่ก่อนหน้านี้อย่างไร จะต้องมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง 

 

พล.ต.อ. วินัย ปัดตอบในคำถามดังกล่าว พร้อมระบุว่า ขอให้เรื่องนี้เป็นการพูดคุยกันนอกรอบการแถลง ขณะที่ พล.ต.อ. เอก กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แก้ไขเรื่องนี้

 

เมื่อถามว่า การปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในองค์กรหรือไม่ 

 

พล.ต.อ. วินัย ระบุว่า ตนได้พูดตั้งแต่แรกแล้วว่า เราต้องมีศรัทธาว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เมื่อถามย้ำว่า ท่านยอมรับหรือไม่ว่าในองค์กรตำรวจมีการคอร์รัปชัน นพดลกล่าวแทรกว่า ทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน แต่องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ถูกเพ่งเล็ง เพราะทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

 

ขณะที่ พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ระยะเร่งด่วนในการปฏิรูปที่ทำได้ทันที ผู้กำหนดนโยบายอย่างนายกรัฐมนตรี วันนี้ท่านทราบข้อมูลแล้วว่าตำรวจทำงานบนพื้นฐานความขาดแคลน ดังนั้นขอให้ท่านได้สำรวจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดขาดแคลนอะไรบ้าง การที่ตำรวจทำงานบนพื้นฐานความขาดแคลนจะนำมาซึ่งปัญหาคอร์รัปชัน

 

และขอให้ตัวตำรวจกลับมาทบทวนตัวเองว่าทำงานตอบโจทย์ประชาชนแล้วหรือไม่ เคารพในตัวกฎหมายกฎระเบียบหรือไม่ ก่อนจะอยากเปลี่ยนแปลง ส่วนในระยะยาว ส่วนของท้องถิ่นก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรตำรวจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

สุดท้ายนี้ การปฏิรูปตำรวจในปี 2567 จะเป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกหยิบยกมาสร้างกระแสตามวาระโอกาส หรือจะเป็นแผนการรื้อล้างองค์กรข้าราชการ 2 แสนคน ขึ้นอยู่กับคีย์เวิร์ดสำคัญอย่างคำว่า ‘อำนาจ’ 

 

ตัวผู้มีอำนาจควรจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่? การจัดสรรอำนาจแบบรวมศูนย์จะยังตอบโจทย์ประเทศไทยหรือเปล่า? อำนาจทางการเมืองมีผลต่อการปฏิรูปองค์กรนี้จริงแท้หรือ?

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising