×

ThaiBMA คาดทั้งปีนี้ออกหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน ต่ำกว่าปี 65 เหตุดอกเบี้ยสูง-ความเชื่อมั่นหดจากปัญหา STARK-JKN ฉุดตลาดหุ้นกู้ปี 67 ชะลอตัวต่อ

24.11.2023
  • LOADING...
ThaiBMA

ThaiBMA เล็งชงสำนักงาน ก.ล.ต. ออกเกณฑ์คุมความเสี่ยงของหุ้น High Yield Bond สั่งกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินต้องห้ามของผู้ออกคล้ายกับหลักเกณฑ์ที่ในต่างประเทศใช้ เพื่อป้องกันการไซฟ่อนเงิน

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในทั้งปี 2566 คาดว่าจะออกมาที่ระดับประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่ ThaiBMA เคยคาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดนับจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน เอกชนมีการออกหุ้นกู้ 9.3 แสนล้านบาท ขณะที่ยอมรับว่ามูลค่าการออกหุ้นภาคเอกชนในทั้งปี 2566 จะมีมูลค่าลดลงจากทั้งปี 2565 ที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้รวมประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับ All Time High 

 

“จากดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นกับ Sentiment ของตลาดหุ้นกู้ที่ไม่ดี ก็มีผลกระทบต่อตลาดรวมของการออกหุ้นกู้ในปีนี้อยู่แล้ว ช่วงปีที่ผ่านมานักลงทุนหุ้นกู้ถูกผลกระทบจากปัญหาของทั้ง STARK และ JKN ที่เกิดการ Default ทำให้หุ้นกู้ที่เรตติ้งต่ำๆ จะถูกกระทบเยอะหน่อย เพราะนักลงทุนมีความกังวล ส่วนหุ้นกู้ตัวเรตติ้งสูงๆ ก็ยังไปได้อยู่ แต่ขึ้นกับผู้ออกว่าจะออกหุ้นกู้หรือไม่ ซึ่งจะตัดสินใจดูจากอัตราดอกเบี้ยเพราะเป็นต้นทุนทางการเงินเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้ถือว่าอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นมามากพอสมควร”

 

สำหรับแนวโน้มการออกหุ้นเอกชนในทั้งปี 2567 ประเมินว่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นชะลอตัวจากปี 2566 เล็กน้อย หรือมีมูลค่าการออกหุ้นรวมต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งถือเป็นภาระต่อต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้กลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ที่มีเครดิตเรตติ้งที่สูงไม่ต้องการออกหุ้นกู้แม้ว่าจะมีหุ้นกู้เดิมที่ครบอายุ เพราะไม่ต้องการเพิ่มภาระต้นทุนทางการเงิน รวมถึงมีการกักตุนสภาพคล่องไว้แล้วล่วงหน้าก่อนหน้านี้ อีกทั้งสามารถใช้ช่องทางแหล่งอื่นๆ มาทดแทนในการจัดหาแหล่งเงินทุนได้ และส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องภายในหรือกระแสเงินสดภายในที่สูงเพียงพอรองรับกับแผนการใช้เงินของบริษัทด้วย 

 

นอกจากนี้ ภาพรวมของภาวะตลาดหุ้นกู้เอกชนที่มี Sentiment ไม่เอื้ออำนวยต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้ซัพพลายจากผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มนี้หายไป 

 

ขณะที่ฝั่งดีมานด์ของนักลงทุนก็จะหายไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความระมัดระวังการลงทุนเพิ่มมากขึ้นหรือบางรายมีการชะลอการลงทุนไปเลย เพราะมีปัญหาความไม่เชื่อมั่น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากกรณีปัญหาของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่มีกลุ่มนักลงทุนผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth: HNW) ที่ลงทุนหุ้นกู้ของ STARK จำนวนมากถึงประมาณ 4,500 รายที่ถูกกระทบ และ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ที่มีกลุ่มนักลงทุนผู้ลงทุน High Net Worth จำนวนเกือบ 3,000 ราย ได้รับผลกระทบ 

 

“แนวโน้มการออกหุ้นกู้โดยเฉพาะประเภท High Yield Bond ในปีหน้ามองว่าน่าจะลดลงไปเยอะจากปีนี้ แต่คิดว่าคงไม่ได้หายไปแบบทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีบางบริษัทที่ยังออกมาขายได้บ้าง แต่นักลงทุนที่จะมาซื้อจะมีการคัดเลือกลงทุนใน High Yield Bond เป็นแบบรายบริษัท” 

 

อริยายังกล่าวต่อว่า แผนในปี 2567 ต้องการผลักดันการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขหรือข้อตกลง (High Yield Covenant) เพิ่มเติม เพื่อควบคุมความเสี่ยงของหุ้น High Yield Bond ที่เป็นการควบคุมในลักษณะ Ongoing โดยเฉพาะสำหรับหุ้นกู้ประเภท High Yield Bond เพื่อให้เกิดการมอนิเตอร์บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ประเภทนี้ให้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะมีการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินต้องห้ามของผู้ออกขาย High Yield Bond คล้ายกับหลักเกณฑ์ที่ในต่างประเทศใช้ เพื่อป้องกันการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเงื่อนไขว่าบริษัทผู้ออกหุ้น High Yield Bond ที่มีแผนจะซื้อกิจการบริษัทภายนอก จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการชี้แจงพิสูจน์ข้อมูลได้ว่า หากซื้อกิจการนั้นแล้วจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของบริษัทบางประเภทที่สะท้อนถึงความสามารถในการจ่ายชำระคืนหนี้ในอนาคต หรือไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทจนส่งผลให้ไม่สามารถคืนหนี้ในอนาคตได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะยังสามารถจ่ายหนี้ High Yield Bond คืนได้ในตลอดช่วงเวลาของอายุหุ้นกู้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising