×

สรุปหุ้นไทยปี 66 ติด Top 3 ดัชนีแย่สุดของโลก พร้อมรีวิว 5 หุ้นผลตอบแทน ‘ยอดเยี่ยม-ยอดแย่’ และมุมมองต่อการลงทุนปี 67

26.12.2023
  • LOADING...

ตลาดหุ้นไทยปี 2566 ภาพรวมอาจไม่ใช่ปีที่ดีนัก โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปมากถึง 1.95 แสนล้านบาท 

 

หุ้นไทยแย่สุด 1 ใน 3 ของโลก

 

ข้อมูลจาก Investing.com ในส่วนของ Major World Market Indices ซึ่งรวบรวมความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก ณ วันที่ 25 ธันวาคม สะท้อนว่าหุ้นไทยเป็น 1 ใน 3 ตลาดหุ้นหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในปีนี้

 

ตลาดที่ร่วงลงแรงที่สุดคือ Hang Seng ของฮ่องกง ติดลบไป 17.40% ถัดมาคือ SZSE Component หรือตลาดเซินเจิ้นของจีน ติดลบไป 15.97% และอันดับที่สามคือดัชนี SET ของไทย

 

จากต้นปีจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ดัชนี SET ดิ่งลงมา 15.57% จากสิ้นปี 2565 ระหว่างทางร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดของปีไว้ที่ 1,354.97 จุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี mai ติดลบไปมากถึง 29% โดยระหว่างปีลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 383.14 จุด 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยปีนี้ในมุมมองของ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มาจาก 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 

 

  1. พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน ปีนี้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยไม่ค่อยดีนัก หุ้นไทยไม่มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากนัก สัดส่วนหลักจะยังเป็นกลุ่มพลังงานและแบงก์ ซึ่งหุ้นกลุ่มพลังงานเหวี่ยงขึ้นและลงตามราคาน้ำมัน ส่วนกลุ่มแบงก์กำไรแทบจะไม่เติบโต

 

  1. การเมือง ก่อนหน้าการเลือกตั้งนักลงทุนคาดหวังไว้ค่อนข้างมาก แต่ด้วยผลการเลือกตั้งที่ออกมาและทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

  1. เศรษฐกิจจีนแย่ กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากจีน และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในไทยไปด้วย 

 

  1. สภาพคล่องถูกดูดออกไปจากตลาด จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหุ้นต่างประเทศที่ดีกว่าหุ้นไทยโดยเปรียบเทียบ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง 

 

“ที่ผ่านมาหุ้นไทยมักจะดีเมื่อเศรษฐกิจโลกดี และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ปีนี้หุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นวิ่งขึ้นมาได้ด้วยกลุ่มเทคโนโลยี และได้อานิสงส์จากเงินเฟ้อที่ลดลงแรง” จิติพลกล่าว

 

สำหรับหุ้นไทยปีหน้าจะเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาได้บ้างราว 50,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยดันดัชนีกลับไปสู่ระดับ 1,550-1,600 จุด เนื่องจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่น่าจะเห็นอย่างน้อย 1% 

 

5 หุ้นผลตอบแทน ‘ดีสุด-แย่สุด’ ปี 2566

 

หากมองไปยังหุ้นรายตัวของไทยปีนี้ ในมุมบวกยังคงมีหุ้นบางตัวที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในระดับ 80-100% ส่วนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่ในปีนี้ ราคาหุ้นติดลบไปมากกว่า 80% 

 

 

สำหรับหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงที่สุด 5 อันดับแรก ต่างเป็นหุ้นที่กำไร 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ทำได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งหมด 

 

ส่วนหุ้นที่ปรับตัวดิ่งลงแรงต่างเผชิญกับผลประกอบการที่ค่อนข้างย่ำแย่อย่างกรณีของ OTO และ KWI ขณะที่หุ้นอย่าง ALL และ JKN ต่างเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จนต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ส่วน SCAP มีผลประกอบการที่ลดลงต่อเนื่องในปีนี้

 

เหตุการณ์สำคัญของตลาดหุ้นปี 2566

 

ดัชนี SET ตั้งแต่ต้นปี 2566

 

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หุ้นไทยเผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็นแรงกดดันต่อภาพรวมตลาดอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงตั้งแต่การที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) และ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ผิดนัดชำระคืนหนี้หุ้นกู้ ไม่ว่าจะด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาด และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้การ Rollover หุ้นกู้ชุดเดิมทำได้ยากขึ้น 

 

ในปีนี้เรายังคงเห็นการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง หนึ่งในดีลที่ใหญ่ที่สุดของปีคงจะหนีไม่พ้นการควบรวมกันระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 

 

แต่ประเด็นที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดหายไปพอสมควรคือการฉ้อโกงและการตกแต่งบัญชีที่เกิดขึ้นกับ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้กว่า 9 พันล้านบาท และสร้างความเสียหายในวงกว้าง 

 

ไม่เพียงแค่นั้น ช่วงปลายไตรมาสแรกยังมีแรงกดดันจากวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เกิดความตกใจในตลาดอยู่เป็นระยะ

 

ความหวังของหุ้นไทยในปีนี้คือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และทำให้นโยบายกระตุ้นจากภาครัฐที่นักลงทุนคาดหวัง รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่หดหายไปมากขึ้น นำไปสู่มูลค่าการซื้อขายในตลาดที่เบาบางลงอย่างต่อเนื่อง จนต่ำสุดในรอบ 8 ปี โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ลดลงไปเหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท 

 

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ยังคงมีประเด็นให้ระทึกและสร้างแรงกดดันต่อตลาดอย่างต่อเนื่อง จากสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้จบลง 

 

ขณะที่ประเด็นร้อนในตลาดหุ้นไทยเองก็มีให้เห็นจากเรื่องของการตั้งคำถามในกลุ่มนักลงทุนว่า มีการทำ Naked Short Selling เกิดขึ้นในตลาดหรือไม่ ในส่วนนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นมาในตลาดหุ้นไทย และยิ่งซ้ำเติมให้ปริมาณการซื้อขายซบเซา

 

จากปัจจัยลบที่รุมเร้าตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง 11 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนธันวาคม รวมมูลค่าการขาย 1.95 แสนล้านบาท หากย้อนกลับไปในอดีต ครั้งล่าสุดที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องคือช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ถึงเดือนตุลาคม 2563 รวม 15 เดือน ซึ่งแรงขายของต่างชาติในช่วงนั้นก็ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญหุ้นไทยปี 2566

 

หุ้นไทยจะฟื้นตัวได้หรือไม่ในปี 2567

 

หลังจากผ่านปีที่ค่อนข้างย่ำแย่ไปแล้ว ในปีหน้าหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ระบุว่า เป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 2567 แต่ขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข ดังนี้

 

  1. รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้า และในปีถัดๆ ไป แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มดูสดใสขึ้น จากท่าทีล่าสุดของ Fed ที่ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสเกิด Recession ในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง

 

อีกตัวแปรหลักคือจีน หลังจากรัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ และมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน

 

ปีหน้าจึงเป็นปีที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี และกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะทยอยเร่งตัวขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3% ได้ไม่ยาก

 

  1. รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะยังมีความจำเป็น และเชื่อว่าตลาดทุนจะตอบรับเชิงบวกถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูง และส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง

 

  1. ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจด้วย

 

“ถ้าทำได้ทั้งสามเงื่อนไขนี้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ตลาดหุ้นโลกในปีหน้า ที่น่าสนใจคือตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกันแม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา”

 

สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า อนาคตของหุ้นไทยในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตามกันหลังจากนี้ ได้แก่

 

1. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะทำได้จริงหรือไม่ 

 

ในส่วนนี้จะส่งผลต่อ GDP ถึงประมาณ 0.5% หากนโยบายนี้ผ่านออกมาได้จะช่วยให้ GDP ไทยปีหน้าเติบโต 3.6% แต่หากไม่ได้ GDP จะเติบโตเหลือ 3.1% 

 

2. การเดินทางและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน 

 

ก่อนการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็น 10-15% ของ GDP ไทย โดยมาจากนักท่องเที่ยวจีนราว 20-25% แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากฝั่งการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนหันมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมทั้งการรณรงค์ให้เที่ยวในประเทศจีนกันเอง หากนักท่องเที่ยวจีนลดลงไป 1 ล้านคน จะกระทบต่อ GDP ราว 0.3% 

 

3. หุ้นกู้ครบกำหนดชำระ

 

ปี 2567 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระรวมกัน 1.06 ล้านล้านบาท เป็นหุ้นกู้ในระดับลงทุนได้ราว 80% ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์ โดยเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระมากที่สุด หากมีการผิดนัดชำระมากขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นต่อเนื่อง 

 

“ช่วงต้นปี 2567 จะเป็นจุดชี้วัด หาก 3 เรื่องนี้มีปัญหา หุ้นไทยจะ Underperform ตลาดหุ้นอื่นๆ ต่อเนื่อง อีกส่วนที่ต้องจับตาคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน โดยมีการประเมินว่าไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอตัวแรง”

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกจะใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปี 2566 หลังจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดพีคไปแล้ว แต่ยังเร็วไปที่จะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย ตอนนี้ข่าวดีอยู่ในราคาหุ้นไปพอสมควร 

 

ถัดไปในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ตลาดหุ้นทั่วโลกจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

 

  1. การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อใด 
  2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงถึงขั้น Recession หรือไม่ 

 

“สองปัจจัยนี้ อะไรที่เกิดก่อนตลาดจะให้น้ำหนักไปทางนั้น หาก Fed ลดดอกเบี้ยก่อนหน้าที่จะเริ่มมีสัญญาณของ Recession ตลาดจะไปทางบวก แต่ถ้า Fed ลงมือช้าแล้วเกิดสัญญาณ Recession ก่อน ตลาดจะไปในทิศทางลบทันที” 

 

สำหรับหุ้นไทย การ Underperform อย่างหนักน่าจะผ่านไปแล้ว หลังจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยถูกปรับลดคาดการณ์มาตลอดทั้งปี แม้โอกาสที่หุ้นไทยจะลงไปแรงๆ หลังจากนี้จะมีไม่มากแล้ว แต่การฟื้นตัวต้องรอดูว่ากำไรของบริษัทต่างๆ จะกลับมาเติบโตได้หรือไม่

 

“ตอนนี้ตลาดค่อนข้างจะแฟร์มากๆ หากตลาดไหนกำไรเติบโตดี เงินทุนก็พร้อมที่จะไหลเข้าไป อย่างที่เราเห็นได้จากหุ้นสหรัฐฯ”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising