×

KKP Research ฟันธง เศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว GDP ติดลบ 2.4%

20.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (20 มกราคม) KKP Research เปิดเผยว่าปี 2563 คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -2.4% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -0.4% โดยประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันต้องจับตามองการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัว จนทำให้ยอดรวมขณะนี้ทะลุ 2 แสนคนทั่วโลกแล้ว และมาตรการควบคุมทั่วโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลของหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปต่างทยอยออกมาตรการเข้มทั้งด้านการควบคุมการเดินทางและการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรค แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ

 

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ด้านที่ส่งผลต่อการปรับประมาณการ GDP ของไทยในครั้งนี้ ได้แก่

  1. ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America คาดว่าครึ่งปีแรก 2563 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Global Recession) ขณะที่ทั้งปี 2563 คาดว่า GDP จะขยายตัว 0.3% จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.2% ก่อนหน้านี้ และ 3.2% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ปี 2563 จะหดตัว 0.8% (จาก +2.1% ในปี 2562) สหภาพยุโรปปี 2563 หดตัวที่ 1.7% (จาก +1.2% ในปี 2562)

    เศรษฐกิจจีน ปี 2563 คาดว่าจะโตเพียง 1.5% (จาก 6.1% ในปี 2562) ซึ่ง 3 กลุ่มประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าหลัก 3 อันดับแรกของประเทศไทย ดังนั้นอุปสงค์โลกที่ลดลงจากวิกฤตโควิด-19 และมาตรการรับมือต่างๆ ในต่างประเทศจะซ้ำเติมภาคการผลิตและส่งออกของเศรษฐกิจไทยไปด้วย แม้ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงแล้วก็ตาม

    2. การแพร่ระบาดในไทยเพิ่มขึ้น ทำให้มีการยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ และล่าสุดรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง และสถานที่อื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงมาก และในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ อาจมีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาและขยายพื้นที่การ ‘ปิดเมือง’ ขึ้นก็เป็นได้ จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

    3. ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะลดลงถึง 48% เหลือเพียง 20.7 ล้านคนในปีนี้ จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะลดลง 25% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยตัวเลขจริงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยล่าสุดติดลบถึง 80% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวน่าจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากมาตรการของประเทศต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นในการห้ามประชาชนเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี

    ทั้งนี้ความเสี่ยงในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของนโยบายด้านสาธารณสุขในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ KKP Research คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องดูแลด้านสภาพคล่องของตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และอาจรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เอกชน ในขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ และเตรียมพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

 

อ้างอิง: KKP Research

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising