×

สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ธรรมดาการ์เด้น สวนออร์แกนิกจากฝีมือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไม่ธรรมดา [Advertorial]

10.07.2019
  • LOADING...
Tammada Garden

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • โชคดีที่สมัยนี้มีช่องทางขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตจำนวนมากสามารถพบกับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โอม-อัครเดช ม่วงไม้ และแฟนสาว เม-บุษลักษณ์ บัตรมาก ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง จึงได้ช่วยกันสร้างแบรนด์ ‘ธรรมดาการ์เด้น’ ชื่อที่สื่อถึงความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ
  • ธรรมดาการ์เด้นมีพื้นที่ทั้งหมด 40 ไร่ แยกเป็นพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าวหอมปทุม 35 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 5 ไร่นั้นเป็นร่องสวนและพื้นที่เลี้ยงไก่ออร์แกนิกพันธุ์โรดไอส์แลนด์ รวมถึงปลูกผักออร์แกนิก 
  • การซื้อขายและทำการตลาดในระบบ ‘ผูกปิ่นโต’ ของสวนออร์แกนิกแห่งนี้เป็นโมเดลที่น่าสนใจมากสำหรับเกษตรกรอินทรีย์รายย่อย ซึ่งหากมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น นอกจากผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เกษตรกรอินทรีย์ผู้ช่วยให้เกิดระบบผลิตและบริโภคอาหารที่ยั่งยืนก็ยังสามารถมีรายได้ในระดับที่ ‘อยู่ได้’

เมื่อเมืองหลวงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจึงเริ่มบ่ายหน้า ‘กลับบ้าน’ ไปสู่อาชีพเกษตรกรที่บรรพบุรุษเคยถางทางเอาไว้ให้ ที่น่าสนใจคือเมื่อคนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตร เราเห็นทั้งการนำเอาความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ต่อยอดดำเนินกิจการ รวมถึงกระแส ‘ความยั่งยืน’ และ ‘รักษ์โลก’ ซึ่งกำลังมาแรง จึงได้เห็นการเกษตรในวิถีอินทรีย์ หรือ ‘ออร์แกนิก’ ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ดังเช่นเรื่องราวอันน่าสนใจของ ธรรมดาการ์เด้น สวนเกษตรอินทรีย์จากฝีมือเกษตรกรรุ่นใหม่อดีตโบรกเกอร์อย่าง โอม-อัครเดช ม่วงไม้ ซึ่ง THE STANDARD เดินทางไปพบกับเขาถึงที่ธรรมดาการ์เด้นในย่านคลอง 6 ปทุมธานี เราคุยกับเขาหลายเรื่อง ตั้งแต่แรงบันดาลใจในการผันตัวเปลี่ยนชีวิต ความภาคภูมิใจในฐานะเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อส่งต่อถึงผู้บริโภค และสร้างความยั่งยืนในสังคม  

 

Tammada Garden

 

“ความจริงที่บ้านผมทำนากันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่แล้วครับ จนมาถึงรุ่นคุณพ่อก็ทำอยู่ แต่ก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ตอนนั้นเรายังปลูกข้าวส่งโรงสี ระหว่างที่ผมทำงานประจำเกี่ยวกับหุ้นในระยะหลังๆ ก็เริ่มเบื่อ เพราะเครียดมาก คือมันไม่ใช่เงินของเรา แล้วพอขาดทุนเยอะลูกค้าก็เครียด เราก็เครียดตามไปด้วย เราคุยกับลูกค้าทั้งวันทั้งคืนจนความเครียดสะสม ผมเลยมองหาอาชีพเสริม และเกิดความคิดว่าอยากจะกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร”

 

โอมรู้ดีว่าความคิดที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันสำเร็จเป็นจริงได้เลยหากไม่เริ่มลงมือทำและเรียนรู้ โดยในช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้นเบนเข็มทิศชีวิตเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เขายังไม่บุ่มบ่ามลาออกจากงานประจำในทันที ในหนึ่งสัปดาห์นั้นชายหนุ่มให้เวลากับการทำงานประจำด้านหุ้น 5 วัน ส่วนเวลาอีก 2 วันที่เหลือก็เจียดมาทุ่มเทกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จำพวกผักสลัด เช่น กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ส่งขายตามร้านอาหาร 

 

“พอทำไปได้เกือบ 2 ปี ในที่สุดก็คิดว่าเริ่มพร้อมที่จะออกมาทำเกษตรเต็มตัว ที่ตัดสินใจแน่วแน่เพราะเมื่อได้ลองทำจริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข รู้สึกไม่เบื่อเลยที่ได้ทำ ผมชอบความรู้สึกที่ได้เห็นพืชที่เราลงแรงปลูกเติบโตขึ้นมา แล้วพอลาออกมาคราวนี้ตั้งใจว่าจะทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ก็บอกคุณพ่อว่าเราจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว และจะสีข้าวเองด้วย ระหว่างนั้นผมก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำออร์แกนิก โดยมีการไปลงคอร์สเรียนก่อน แล้วนำความรู้ที่ได้มาทดลองทำที่สวนของเรา”

 

Tammada Garden

โอม-อัครเดช ม่วงไม้

เจ้าของและผู้ก่อตั้งธรรมดาการ์เด้น

 

สาเหตุที่เลิกทำไฮโดรโปนิกส์และหันมาทำออร์แกนิกเต็มตัว โอมเล่าว่าเกิดจากช่วงนั้นเริ่มมีข่าวตรวจพบสารเคมีและสารพิษปนเปื้อนในผัก เมื่อต้องการที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อส่งต่อให้กับผู้บริโภค เขาจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยไปเข้าคอร์สเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องของการหมักปุ๋ย ทำน้ำหมัก เตรียมดิน ฯลฯ 

 

“ทำออร์แกนิกยากกว่าการทำเกษตรทั่วไปที่ใช้ยาและปุ๋ยเคมีไหม” เราส่งคำถามซื่อๆ ตามประสาคนที่อาจจะมีความสนใจทางด้านนี้อยู่บ้าง แต่ไม่เคยลงมือทำจริงสักที   

 

“ยากกว่าเยอะเลยครับ คือพอจะทำเกษตรอินทรีย์ เราต้องเปลี่ยนกระบวนการทุกอย่าง และต้องบอกก่อนนะครับว่าข้าวของเรายังเป็นแค่ข้าวปลอดสาร เพราะตามมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตรนั้นต้องเป็นพื้นที่ปลอดสารมาอย่างน้อย 5 ปีเพื่อเตรียมตัวเป็นออร์แกนิกจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องปลูกแนวกำบัง เช่น หญ้าเนเปียร์ ไทรเกาหลี ใช้เป็นม่านกำบังลมเพื่อกันพื้นที่อื่นที่อาจจะใช้สารเคมีพัดมาปนเปื้อน ซึ่งตอนนี้พื้นที่ของธรรมดาการ์เด้นเพิ่งจะปรับเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์ต่างๆ มาได้แค่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น แต่เรากำลังพยายามจะไปให้ถึงตรงนั้นอยู่ และที่บอกว่ายากอีกอย่างก็คือพอหันมาใช้วิถีออร์แกนิกแล้วผลผลิตลดเหลือครึ่งหนึ่งจากที่เคยทำมาเลยทีเดียว” 

 

Tammada Garden

พื้นที่ของสวนแบ่งเป็นนาข้าว 35 ไร่ และร่องสวน 5 ไร่

 

โอมเล่าว่าจากเมื่อก่อนที่เคยทำนาในพื้นที่ 35 ไร่ เคยได้ผลผลิตในแต่ละรอบมากถึงประมาณ 30 ตัน แต่เมื่อเลิกใช้ยาและสารเคมีมาตั้งใจทำนาข้าวอินทรีย์แล้ว ผลผลิตกลับลดลงเหลือแค่ประมาณ 15 ตัน ซ้ำร้ายหากบางทีเจอเข้ากับอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด ผลผลิตอาจลดลงเหลือเพียง 12 หรือ 10 ตันเท่านั้น ทว่าเมื่อผลผลิตน้อยลง แต่เป็นผลผลิตปลอดสารพิษและออร์แกนิก ก็สามารถที่จะขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินหน้าเปลี่ยนวีถีสู่เกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ เขาจำเป็นที่จะต้องหาตลาดใหม่และเลือกที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ธรรมดาการ์เด้นลงทุนซื้อเครื่องสีข้าวเองเพื่อสีและขายตรงให้กับลูกค้าโดยผ่านช่องทางต่างๆ 

 

“คือถ้าทำข้าวปลอดสารหรือออร์แกนิกแล้วเราไม่มีที่ขายก็ลำบากอีกเหมือนกันครับ เพราะถ้าเอาไปขายตามโรงสีทั่วไปมันจะขาดทุน เพราะว่าข้าวก็ได้น้อยลง และโรงสีก็ให้ราคาต่ำ คนที่ทำเกษตรปลอดสารหรือทำออร์แกนิกจริงๆ เขาจึงรวมกลุ่มกันครับ วิธีการขายก็อาจจะเข้ามาขายในห้างบ้าง หรือไม่ก็อาจจะขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางที่ทำแบรนด์ออร์แกนิก แต่เนื่องจากเราเป็นแค่สวนเล็กๆ ก็เลยพยายามหาวิธีที่จะขายให้ได้ยั่งยืนที่สุดครับ” 

 

Tammada Garden

ข้าวหอมปทุมปลอดสารพิษ

ที่กำลังจะได้รับมาตรฐานออร์แกนิกในอีกไม่นาน

ผลผลิตหลักของสวนเกษตรแห่งนี้ 

Photo: Tammada Garden / Facebook

 

โชคดีที่ปัจจุบันนี้มีช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตจำนวนมากสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเหมือนอย่างสมัยก่อน โอมและแฟนสาว เม-บุษลักษณ์ บัตรมาก ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งจึงได้ช่วยกันสร้างแบรนด์ โดยเลือกใช้ชื่อ ‘ธรรมดาการ์เด้น’ ซึ่งสื่อถึงความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ เมื่อทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ด้วยเรื่องราวและรายละเอียดที่ใส่ใจต่อผลผลิตและใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคจึงได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว โดยผลผลิตหลักๆ ของธรรมดาการ์เด้นนั้นมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ข้าวหอมปทุม ไข่ไก่ออร์แกนิก นอกจากนั้นก็มีผักใบชนิดต่างๆ  

 

ข้าวของเรายังเป็นข้าวปลอดสาร ส่วนไข่ไก่เป็นออร์แกนิก ผักที่ปลูกก็เป็นออร์แกนิก พื้นที่สวนทั้งหมดมี 40 ไร่ เราแยกเป็นพื้นสำหรับทำนา 35 ไร่ ทำร่องสวนและเลี้ยงไก่ 5 ไร่ ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์ของเรากินอาหารที่มาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามีไก่ประมาณร้อยกว่าตัว ซึ่งโดยปกติไก่ 100 ตัว หากให้อาหารเม็ดและเลี้ยงในโรงจะออกไข่ได้ถึง 90-100 ฟองต่อวัน แต่ไก่เรากินอาหารธรรมชาติและเลี้ยงในร่องสวนจะออกไข่ 30-40 ฟองต่อวัน ซึ่งบางทีขนาดฟองก็อาจจะไม่เท่ากันและสีก็ไม่เหมือนกัน หรือผักเองก็อาจจะมีรอยหนอนไชบาง แถมราคาก็ยังสูงกว่าผลผลิตที่ไม่ปลอดสารหรือใช้ยา นั่นก็เพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมีหรือยาคุม แต่ลูกค้าก็เข้าใจ เพราะมาจากธรรมชาติจริงๆ”

 

เราถามโอมด้วยความสงสัยว่าความตระหนักรู้ของผู้ผลิตและผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องออร์แกนิกในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

 

“คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าเกษตรปลอดสารกับออร์แกนิกต่างกันอย่างไร คือถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือมันเป็นคนละเกรดกัน อย่างคำว่า ‘ปลอดสาร’ คือใช้ปุ๋ยได้ แต่ใช้ยาไม่ได้ ออร์แกนิกคือใช้ยาไม่ได้ ใช้ปุ๋ยเคมีก็ไม่ได้ด้วย คือเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทีนี้มาตรฐานออร์แกนิกแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันอยู่ อย่างมาตรฐานออร์แกนิกของต่างประเทศอย่าง USDA หรือ Organic Japan ก็สูงกว่าของไทย อย่างที่ญี่ปุ่นเขาสูงมากเลยนะครับ ถึงขั้นไม่ให้ใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก ก็ต้องดูว่าเป็นมาตรฐานไหน” 

 

ที่น่าพูดถึงอีกอย่างคือการซื้อขายและทำการตลาดในระบบ ‘ผูกปิ่นโต’ ของสวนออร์แกนิกแห่งนี้ ซึ่งเป็นโมเดลที่น่าสนใจมากสำหรับเกษตรกรอินทรีย์รายย่อย ซึ่งหากมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น นอกจากผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เกษตรกรอินทรีย์ผู้ช่วยให้เกิดระบบผลิตและบริโภคอาหารที่ยั่งยืนก็ยังสามารถมีรายได้ในระดับที่ ‘อยู่ได้’

 

“อย่างข้าวนั้นเราขายให้กับลูกค้าโดยใช้ระบบผูกปิ่นโต คือทางแบรนด์จะให้ลูกค้ามัดจำถังไม้สักในราคา 1,000 บาท ซึ่งถังนี้ไว้ใส่ข้าวหลังจากสั่งข้าวกับเรา เมื่อครบ 24 ครั้งก็จะยกถังข้าวให้ลูกค้าไปเลยครับ ไอเดียนี้ผมได้มาจากซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งซึ่งคุณลุงที่เขาทำฟาร์มผักเล็กๆ เวลามีคนหรือร้านอาหารโทรมาสั่งผัก เขาก็จะปั่นจักรยานไปส่งให้ ลูกค้าและร้านอาหารก็จะได้ผักที่ตัดสดๆ จากแปลง เราก็คิดว่าน่าจะทำแบบนี้ได้ จึงคุยกับแฟนว่าเราน่าจะลองดูนะ กลายเป็นว่าตอนนี้เรามีลูกค้าเยอะมากที่มาสั่งผูกปิ่นโตข้าวและไข่ของเรา ซึ่งตอนนี้ที่มีอยู่ก็น่าจะประมาณ 50 ครอบครัวแล้ว เราก็คุยกันว่าเราน่าจะหยุดรับที่ 60 ครอบครัว เพราะมากกว่านี้ก็ดูแลลูกค้าไม่ไหว” 

 

Tammada Garden

ธรรมดาการ์เด้นเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่จะไม่สร้างขยะ

Credit: Tammada Garden / Facebook 

 

นอกจากผลผลิตที่มาจากธรรมชาติแล้ว อีกสิ่งที่ธรรมดาการ์เด้นให้ความใส่ใจยังเป็นเรื่องของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากธรรมชาติ เช่น ถังไม้สำหรับใส่ข้าว กระถางใยมะพร้าวสำหรับใส่ไข่ ส่วนผักก็ใส่ตะกร้าไม้สาน ซึ่งสามารถนำมาส่งคืนเมื่อรับของใหม่ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธรรมดาการ์เด้นอยากจะช่วยลดการสร้างขยะ ซึ่งตอบโจทย์ความมุ่งหวังของทางแบรนด์ที่มุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืนและธรรมชาติด้วย 

 

“ธรรมดาการ์เด้นพยายามลดการใช้ขยะทั้งหมด เราเน้นในเรื่องนี้มากครับ ซึ่งเราก็ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่เข้าใจ เพราะว่าลูกค้าบางบ้านก็ต้องลำบากยกถังออกมาให้เราเติมข้าวให้ ส่วนผักเราก็จะใส่ตะกร้าให้ ลูกค้าต้องเอาไปใส่ตู้เย็นเองแล้วเอาตะกร้ามาคืน ก็เลยอาจจะมีความลำบากอยู่สักหน่อย แต่ลูกค้าทุกบ้านก็เข้าใจดีครับ จริงๆ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ห่วงใยในเรื่องนี้นะ ถ้าเขามีทางเลือกที่จะช่วยลดขยะและช่วยรักษ์โลกได้ เขาก็ยินดีทำ เราก็แค่อำนวยความสะดวกให้เขาในส่วนนี้”

 

เราถามเขาถึงประเด็นในเรื่องที่ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสารพิษทางการเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในฐานะที่เป็นเกษตรกรอินทรีย์ เขากล่าวกับเราว่า “จริงๆ ผมก็เข้าใจนะครับ คือบริษัทปุ๋ยและยาเขาทำเป็นบริษัทแสวงหากำไร เอาจริงๆ มันขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วล่ะว่าจะช่วยเหลือหรือปกป้องได้แค่ไหน เพราะถ้ารัฐบาลตั้งใจอยากจะส่งเสริมเกษตรปลอดภัยหรือออร์แกนิกจริงๆ ผมว่าต้องมีคนตรวจเกษตรอินทรีย์เยอะกว่านี้ จะต้องให้ความรู้กับเกษตรกรได้เก่งกว่าคนขายปุ๋ยเคมี และจะต้องลงพื้นที่ได้ตลอดทุกวัน ต้องทำงานกันจริงจังกว่านี้ครับ” 

 

เมื่อถามถึงความรู้สึกดีๆ ในการเป็นเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคม โอมบอกกับเราว่า 

 

“ข้อดีของการทำออร์แกนิกและการจำหน่ายแบบผูกปิ่นโตกับลูกค้าแบบนี้ก็คือเราได้เห็นว่าลูกค้ามีความสุขที่ได้รับประทานข้าวและวัตถุดิบที่ปลอดภัยครับ คือด้วยความที่เราไปส่งข้าวให้กับลูกค้าด้วยตัวเอง เราจึงสนิทกับลูกค้าแทบทุกบ้านเลย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการซื้อขาย แต่เป็นเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ คืออย่างบางทีเรามีผลผลิตจากในสวนซึ่งเขาไม่ได้สั่ง อย่างกล้วยหรืออะไรที่เขาไม่ได้เราก็มักจะติดไปฝาก เพราะเราเองก็กินข้าวจากนาแปลงเดียวกัน เหมือนความสัมพันธ์แบบชุมชนชนบทสมัยก่อนที่เป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน”

 

นับเป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจที่ทำให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งวิถีออร์แกนิก ซึ่งนอกจากมอบผลผลิตที่เป็นอาหารปลอดภัยให้เรารับประทานแล้ว ยังเผื่อแผ่สายใยความสัมพันธ์ดีๆ ไปสู่ผู้คนในสังคมและรักษ์โลกอีกด้วย 

 

สำหรับใครที่สนใจเรื่องออร์แกนิก สามารถติดตามซีรีส์ชุดสุดสร้างสรรค์ที่ทั้งสนุกและสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องออร์แกนิก ‘Open Mind Project’ ซีรีส์ชุด 4 เรื่อง 4 รส 4 มุมมองโดย 4 ผู้กำกับ ภายใต้การผลิตของบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ประเดิมตอนแรกให้ได้ชมกันในตอน หาย (Lost) นำแสดงโดย ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล, แจนจัง เจตสุภา เครือแตง, นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต (นัท App War), ป๋อง-กพล ทองพลับ และนักแสดงอีกมากมาย กำกับการแสดงโดย ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์ ทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 8.00-8.30 น. ทางช่อง 3SD (หมายเลข 28) หรือทาง bit.ly/2Ntbb6c

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising