×

ปปง. เตือนผู้เสียหาย STARK ยื่นคำร้องเรียกค่าชดเชย ก่อนเส้นตาย 26 ก.พ. นี้

15.02.2024
  • LOADING...
หุ้น STARK

ปปง. สั่งอายัดทรัพย์สิน ‘ชนินทร์กับพวก’ ผู้ต้องหาโกงหุ้น STARK เพิ่มเติม 34 รายการ มูลค่า 2,541 ล้านบาท ยันไม่จบแค่นี้ ส่งหนังสือเรียก ‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ เข้าให้ปากคำ

 

เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ สั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 26 รายคดี ทรัพย์สิน 228 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,635 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน หรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการลักลอบหนีศุลกากร 

 

โดยมีรายคดีสำคัญ ประกอบด้วย รายคดี ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK กับพวก ความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง ประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ซึ่งชนินทร์เป็นประธานกรรมการบริษัทในขณะนั้น มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน 

 

โดยกรณีคดี STARK สำนักงาน ปปง. ได้เคยอายัดทรัพย์สินไว้แล้วก่อนหน้านี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 16 รายการ มูลค่า 354 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดในที่ประชุมวันที่ 13 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวเพิ่มเติมอีกจำนวน 34 รายการ เป็นที่ดินและเงินในบัญชีเงินฝาก มูลค่า 2,541 ล้านบาท 

 

เปิด 3 ประเด็นผู้เสียหายกังวล

 

ปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. กล่าวว่า จากการได้ร่วมพูดคุยหารือกับกลุ่มเสียหายกรณี STARK และกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด มีประเด็นที่ข้อกังวลใน 3 ประเด็น ดังนี้

 

  1. การดำเนินคดีอาญา ซึ่งข้อมูลที่ ปปง. ได้รับจะมีทั้งบุคคลที่ถูกฟ้องและไม่ถูกฟ้อง ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายมีความสงสัยว่า ปปง. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขอชี้แจงกระบวนการทางคดีอาญาเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้นในการดำเนินการโดย ปปง. ยังมีอำนาจในการตรวจสอบทั้งในส่วนของความเชื่อมโยงทางการเงินและพฤติการณ์แวดล้อมได้ ดังนั้นบุคคลที่ยังไม่ถูกฟ้องคดีอาญาก็ยังอยู่ในการกระบวนการตรวจสอบของ ปปง. และจะขยายผลต่อไป หลังจากยึดอายัดทรัพย์สินมา 2 ครั้ง มูลค่ารวมกันประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการยึดอายัดทรัพย์สินของคดีนี้ซึ่งจะยังทำการตรวจสอบเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

 

  1. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศมีการตรวจสอบครบ โดยมีการทำการยึดอายัดใน 2 ส่วนคือ ทรัพย์สินที่อายัดทรัพย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กับทรัพย์สินที่ไม่ได้ยึดอายัดโดยขอบข่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งกรณีนี้ ปปง. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้กฎหมาย ปปง. เร่งรัดในการดำเนินการ 

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของทรัพย์สินที่อายัดทรัพย์ไว้ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ก็ได้ประสานกับ ก.ล.ต. เพื่อทำการตรวจสอบว่ามีทรัพย์สินของกลุ่มผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสำคัญรวมอยู่ด้วยหรือไม่

 

  1. ส่วนทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกับผู้เกี่ยวข้องสำคัญ ตรวจสอบพบการทำธุรกรรมการเงินจำนวนมากหลายหมื่นธุรกรรม จึงเป็นความยุ่งยากซับซ้อน โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีทั้งบุคคลที่ทำธุรกรรมที่สุจริตและธุรกรรมที่ได้ประโยชน์ไปโดยไม่มีมูลหนี้ที่แท้จริง ซึ่งสำนักงาน ปปง. ไทยอยู่ระหว่างการติดตามทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ โดยขอความร่วมมือกับ ปปง. ต่างประเทศทั่วโลกที่ตรวจพบเส้นในการย้ายเงินออกไปต่างประเทศ

 

ส่งหนังสือเรียก ‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ เข้าให้ปากคำ

 

ส่วนกรณีของ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกอัยการสั่งฟ้อง สำนักงาน ปปง. ได้ทำหนังสือเชิญเข้ามาให้ปากคำ แต่ขณะนี้อยู่ในเรือนจำ ดังนั้น ปปง. จะประสานอีกครั้งว่าจะสอบปากคำในช่วงใด ส่วนรายการทรัพย์สินของวนรัชต์มีมูลค่าค่อนข้างมากซึ่งยังไม่พบว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกมา 

 

อย่างไรก็ดี ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สินที่วนรัชต์ได้มาทั้งก่อนกับระหว่างมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ทำการยึดอายัดทรัพย์สินของวนรัชต์ไว้แล้วซึ่งมีมูลค่าที่สูง ส่วนมูลค่ายังไม่ได้ประเมินหรือเปิดเผยได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีคำสั่งในการยึดอายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรมออกมาก่อน จึงจะสามารถเปิดเผยมูลค่าได้ เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล 

 

เตือนผู้เสียหายเร่งยื่นแบบส่งคำร้องค่าชดเชยภายใน 26 ก.พ. นี้ 

 

ปิยะกล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการในการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายคดี STARK ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายที่มีสิทธิ์ยื่นได้รับการชดเชยค่าเสียหาย ได้แก่

 

  1. กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้
  2. กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP)
  3. กลุ่มเสียหายจากหุ้นสามัญ 

 

โดยผู้เสียหายต้องเข้ายื่นแบบส่งคำร้องมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคดีชนินทร์กับพวกครั้งแรก ซึ่งกำลังจะครบกำหนดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK ล่าสุดมีผู้แทนผู้เสียหายเข้ามายื่นคำร้องกับสำนักงาน ปปง. ครบถ้วนทุกรายแล้ว รวมประมาณ 4,600 ราย หลังปิดครบกำหนด สำนักงาน ปปง. จะนำเอกสารคำร้องมาพิจารณาว่าผู้ที่ยื่นเอกสารอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาการชดใช้เงินคืนหรือไม่ โดยจะต้องรอให้คำพิพากษาออกมาถึงที่สิ้นสุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising