×

เรื่องเงิน เรื่องใหญ่ ฉุด SMEs ติดหล่มวิกฤต

04.12.2020
  • LOADING...
เรื่องเงิน เรื่องใหญ่ ฉุด SMEs ติดหล่มวิกฤต

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น รากฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างธุรกิจ SMEs ที่คิดเป็นกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศและมีการจ้างงานสูงกว่า 13 ล้านคน ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีกจากวิกฤตโควิด-19 หลังเผชิญคลื่น Technology Disruption ไปก่อนหน้านี้

 

หากต้องการพา SMEs ไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตในวิกฤต จำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์และปัญหาที่ SMEs ไทยเผชิญอยู่เสียก่อน ทั้งในเชิงของโครงสร้างของปัญหาที่มีมาช้านาน และปัญหาที่ถูกเร่งด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจทุกภาคอุตสาหกรรม และทำความเข้าใจถึงบทบาทขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาของ SMEs ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเงินทุนและการแนะแนวการพัฒนาศักยภาพธุรกิจที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเริ่มดำเนินการได้เอง

 

เมื่อมองในภาพของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ SMEs นั้น พบว่าการเข้าไม่ถึงเงินทุนของสถาบันการเงินเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ (Access of Source of Funds), การขาดความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในด้านการบริหารจัดการเงินทุน (Cash Nanagement) และการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร โดยหากแบ่งย่อยลงไปตามประเภทของ SMEs จะพบว่าแต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน

 

  1. ME (Medium Enterprises) หมายถึงกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 50-500 ล้านบาท

 

สำหรับปัญหาของ ME คือ หลักประกันไม่เพียงพอสำหรับขอสินเชื่อให้ได้วงเงินตามที่ต้องการ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ต้องการวงเงินสูงมาก ซึ่งจากจำนวน ME ทั้งหมด 44,290 ราย ข้อมูลจาก Bluebik Analysis พบว่า มีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 12,401 ราย คิดเป็นประมาณ 28%

 

  1. SE (Small Enterprises) เป็นกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 1.8-50 หรือ 100 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจ) โดยจากจำนวน SE ทั้งหมด 415,722 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 216,496 ราย คิดเป็นประมาณ 52%

 

สำหรับปัญหาของกลุ่ม SE ต้องแตกออกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อย เนื่องจากเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกัน คือกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต (Regular & Strong) หมายถึงกลุ่มที่ยังมีอัตราการเติบโตมากกว่า 20% ในช่วง 3 ปีล่าสุด และกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตถดถอยในช่วง 3 ปี (Turnaround)

 

ในกลุ่ม Regular & Strong มีปัญหาใหญ่เรื่องเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ และยังมีต้นทุนการดำเนินงานสูง เนื่องจากไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่มีอำนาจมากพอต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงานที่มีจำนวนมากขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจ ส่วนกลุ่ม Turnaround เป็นกลุ่มที่มีปัญหาหลักในด้านสุขภาพทางการเงิน จากธุรกิจที่ไม่เติบโตและอาจมีการขาดทุนสะสม ซึ่งเกิดจากการขาดความเข้าใจถึงการวิเคราะห์สุขภาพทางการเงิน

 

  1. Micro เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท โดยจากจำนวนกลุ่ม Micro ทั้งหมด 2,645,084 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 1,247,188 ราย คิดเป็นประมาณ 47%

 

กลุ่ม Micro มีปัญหาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การมีรายรับเป็นเงินสด (Cash-Based) ทำให้ขาดข้อมูลเชิงบัญชีที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อจากสถาบันการเงิน การโดนดิสรัปต์ด้วย E-Commerce และการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการขาดความรู้และความเข้าใจการบันทึกบัญชีพื้นฐาน

 

  1. กลุ่มนอกระบบ เช่น กลุ่มร้านหาบเร่ แผงลอย โดยจากจำนวนกลุ่ม SMEs นอกระบบทั้งหมด 2,148,199 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 1,476,086 ราย คิดเป็นประมาณ 68%

 

ในกลุ่มนอกระบบ ปัญหาน่ากังวลที่สุดเป็นเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจมีปัญหาทางการเงินและไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากการอยู่นอกระบบส่งผลให้คุณสมบัติไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด เมื่อธุรกิจเจอปัญหาทางการเงินซ้ำๆ จึงต้องกู้ยืมเพิ่มและเกิดหนี้คงค้างจำนวนมาก จนติดอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบในที่สุด 

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ SMEs เติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรใน 2 ภาคส่วนสำคัญ ซึ่งมีบทบาทแตกต่างกัน

 

  1. องค์กรภาครัฐ

ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรภาครัฐได้ออกมาตรการและแนวทางช่วยเหลือ SMEs โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs เช่น

  • การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง
  • การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
  • มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน  
  • ลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน

 

นอกจากนี้ องค์กรภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น ร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และ ธปท. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชำระเงิน เช่น PromptPay หรือ QR Code ซึ่งช่วยลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการช่วยผู้ประกอบการพัฒนาทักษะและความรู้ในด้านต่างๆ เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เปิดคลินิกให้คำปรึกษาทางการเงินและแก้ไขหนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs ฐานราก

 

  1. สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์

บทบาทสำคัญของสถาบันการเงินเป็นการสนับสนุนการสร้าง Track Record เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการสนับสนุนการให้สินเชื่อโดยอาศัยจากข้อมูลที่ได้มาจาก Big Data (Information-Based Lending) มากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น

 

สำหรับธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมให้ SMEs ในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะการผลักดันให้ SMEs นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการให้บริการครบวงจร ตั้งแต่จับมือ Wongnai ทำ Merchant Application (POS) สำหรับร้านอาหาร ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลธุรกรรมการเงินสำหรับขอสินเชื่อ รวมถึงมีบริการระบบ Payroll จัดการเรื่องการจ่ายเงินให้พนักงาน อีกทั้งมี Trade Club แพลตฟอร์มอัปเดตข้อมูลและสร้างเครือข่ายพันธมิตรสำหรับธุรกิจส่งออก ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จับมือเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Shopee ปล่อยสินเชื่อด่วนให้กับธุรกิจออนไลน์ที่ขายผ่านแพลตฟอร์ม

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าองค์กรภาครัฐและเอกชนมีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือ SMEs เรื่องการให้การสนับสนุนทางการเงิน ให้ความรู้คำปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และการช่วยเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี

 

นอกจากมาตรการช่วยเหลือจากองค์กรอื่นๆ ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เตรียมความพร้อมปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลง วางแผนและบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้มีบันทึกข้อมูลทางการเงินเก็บไว้ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs รู้ตัวเร็วขึ้นเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางการเงิน รวมถึงเพื่อให้มีข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจในอนาคต

 

เมื่อมีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในระบบ สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันคือ การนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน

 

  1. หาเป้าหมายของธุรกิจ (Business Objective)

ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจต้องการอะไร เช่น ต้องการขยายฐานลูกค้า เพิ่มยอดใช้จ่ายของลูกค้า หรือลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

  1. ประเมินว่ามีข้อมูลอะไรที่พร้อมใช้

ข้อมูลในที่นี้หมายถึงข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจที่เก็บไว้ในระบบ รวมถึงตรวจดูว่าแหล่งข้อมูลดังกล่าวมาจากไหนบ้าง

  1. นำข้อมูลมาสร้าง Insight

เป็นการนำข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่มาวิเคราะห์ โดยอาจใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น AI หรือ Machine Learning เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

  1. เปลี่ยน Insight เป็น Impact

นำผลลัพธ์ของการวิเคราะห์ไปลงมือปฏิบัติการจริง เช่น ออกโปรโมชั่นสงเสริมการขาย หรือการเพิ่ม/ลดงบโฆษณา

 

แม้จากภาพรวมสถานการณ์และปัญหาที่ SMEs กำลังเผชิญอยู่นั้น ปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการถือเป็นปัญหาใหญ่ และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรภาครัฐและเอกชน แต่การพัฒนาศักยภาพของ SMEs ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากต้องการหลุดพันจากหล่มวิกฤต

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising