×

บทเรียน 2 ปีของการขาย ‘เมนูแพลนต์เบส’ ทำให้ Sizzler รู้แล้วว่าต้องทำให้ ‘แซ่บ’ เพื่อถูกปากคนไทย

14.10.2021
  • LOADING...
Sizzler

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว Sizzler กลายเป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่รายแรกๆ ของไทยที่บุกเข้าสู่ตลาด ‘แพลนต์เบส’ หรือโปรตีนทำจากพืช โดยมีเป้าหมายเพื่อโจทย์ Positioning ของแบรนด์คือ การเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ แม้ว่าวันนั้นผู้บริโภคคนไทยจะยังไม่รู้จักอาหารทางเลือกชนิดนี้มากนักก็ตาม 

 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะถูกปากคนไทยต้องทำให้รสชาติจัดจ้านนิดหนึ่ง จะทำเป็นเมนูสไตล์ตะวันตกอย่างเดียวไม่ได้ ขณะเดียวกันแพลนต์เบสต้องกินร้อนๆ ถึงจะอร่อย” กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป และ นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Sizzler กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ที่ผ่านมาเมนูแพลนต์เบสของ Sizzler จะเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน ครั้งละ 2-3 เมนู ซึ่งล่าสุดสิ่งที่ Sizzler ได้เรียนรู้ได้ออกมาเป็น เมนูออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นเมนูแบบไทยๆ ที่มีรสชาติจัดจ้านเพื่อทำให้ ‘แซ่บ’ ถูกปากคนไทย นอกจากนี้ยังมีอีกเมนูคือ สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา

 

เมนูแพลนต์เบสนั้น Sizzler เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติ กลุ่มผู้รับประทานอาหารวีแกน หรือกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเป็นครั้งคราว หรือ Flexitarian หรือแม้แต่ผู้บริโภคทั่วไป ดังนั้นนอกจากการปรับรสชาติให้ถูกปากแล้ว การที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้จึงต้องทำ ‘ราคา’ ที่เหมาะสมด้วย

 

ช่วงแรกที่วางขายเมนูแพลนต์เบสนั้น Sizzler เปิดตัวอยู่ที่ 459 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง หลังจากนั้นจึงทยอยทำลาย ‘กำแพงราคา’ ลงเรื่อยมาจนล่าสุดเมนูลาบทอดราคาอยู่ที่ 299 บาท ส่วน สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ ราคา 399 บาท 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเร่ง ทำให้พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้อาหารแพลนต์เบส (Plant-based Food) เป็นอีกหนึ่งประเภทอาหารที่ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทาน 

 

เรื่องนี้สะท้อนได้จากข้อมูลของ Plant-based Meat Market Outlook 2025 ที่ประเมินว่า การเติบโตของอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ในขณะที่ประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคอาหารแพลนต์เบสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปี 2562 ตลาดแพลนต์เบสมีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% 

 

การเติบโตที่เกิดขึ้นทำให้วันนี้ไม่ได้มีเพียง Sizzler เท่านั้นที่บุกตลาดแพลนต์เบส แต่เชนยักษ์ใหญ่ในไทยรายอื่นๆ ต่างก็ขยับมาสู่ตลาดนี้เช่นกันไม่ว่าจะเป็น Starbucks หรือ KFC ที่หันมาเพิ่มเมนูโปรตีนทางเลือกแล้ว เช่นเดียวกัน CPF ที่ปั้นแบรนด์ Meat Zero พร้อมตั้งเป้าจะเป็นผู้นำตลาดเนื้อทางเลือกอันดับ 1 ของเอเชีย และจะขึ้นแท่น Top 3 ผู้นำเนื้อทางเลือกของโลกได้ภายในเวลา 3-5 ปี

 

แม้จะมีคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น “แต่การที่ Sizzler มาก่อนใครเพื่อนก็ทำให้ผู้บริโภครู้ว่า เรามีเมนูแพลนต์เบสในวงที่กว้างกว่า” ผู้บริหาร Sizzler กล่าว โดยการเปิดตัวเมนูครั้งล่าสุดนั้น Sizzler ประเมินว่าจะช่วยให้ยอดขายของเมนูแพลนต์เบสเพิ่มขึ้น 30% แม้วันนี้สัดส่วนในภาพรวมจะยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เยอะมาก แต่ภายใน 3 ปีสัดส่วนเมนูแพลนต์เบสอาจเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 10% ด้วยกัน 

 

 

ทว่าการจะเพิ่มสัดส่วนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน Sizzler ยอมรับว่า ความท้าทายในการทำเมนูแพลนต์เบสคือ “ต้องเรียนรู้วิธีการปรุงและปรับไปเรื่อยๆ พยายามหาเมนูที่คนทั่วไปกินแล้วอร่อยด้วย ไม่ใช่อร่อยสำหรับกลุ่มผู้บริโภควีแกนอย่างเดียว” แต่ขณะเดียวกันผู้บริหาร Sizzler ก็ประเมินว่า “อีก 3-4 ปี เมนูแพลนต์เบสน่าจะเป็นเมนูที่แมสแล้ว ไม่ใช่เป็นการบริโภคเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป”

 

สำหรับภาพรวมของธุรกิจนั้นปัจจุบัน Sizzler เปิดทั้งสิ้น 53 สาขา จากทั้งหมด 54 สาขา โดยมี 1 สาขา คือ MBK ที่ยังเปิดชั่วคราวอยู่ โดยภายในสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา ในจำนวนนี้เป็นร้านที่เปิดใหม่ 3 สาขาคือ โรบินสัน สระบุรี, โรบินสัน ฉะเชิงเทรา และโรบินสัน ศรีสมาน ส่วนอีก 2 สาขาเป็นการย้ายทำเลที่ตั้ง

 

ผู้บริหาร Sizzler ยอมรับว่า วันนี้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารสูงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางเดลิเวอรีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทาง Sizzler ก็ต้องบาลานซ์ทั้งช่องทางกินในร้านและเดลิเวอรีให้สมดุลกัน ซึ่งปัจจับันสัดส่วนยอดขายจากเดลิเวอรีอยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ Sizzler ต้องการตั้งแต่แรก ส่วนยอดขายนั้นรับประทานในร้านจะอยู่ที่เฉลี่ย 300 บาทต่อคน ส่วนเดลิเวอรีจะเป็น 500 บาทต่อบิล 

 

ในแง่ของโมเดลร้านนอกจาก ‘Sizzler To Go’ ที่วันนี้มี 5 สาขาแล้ว Sizzler กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาโมเดลร้านใหม่ๆ เพื่อทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะได้เห็นในปีหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X