×

กรณีศึกษา Sizzler กำลังสนใจ Subscription Model ส่งสเต๊กและอาหารสุขภาพถึงหน้าบ้าน วางราคาแพ็กเกจเป็นรายอาทิตย์

12.03.2021
  • LOADING...
Sizzler

Subscription Model กำลังเป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจของยุคนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นยักษ์ใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมหยิบโมเดลธุรกิจนี้มาใช้กันอย่างคึกคัก ทั้ง Coca-Cola, Nissan และ Toyota ขณะที่บ้านเราก็เห็นเครือร้านอาหารฟู้ดแพสชัน และ ZEN Group หยิบมาใช้เช่นกัน

 

ข้อดีของ Subscription Model คือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้แบรนด์สร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับลูกค้า นอกจากนี้ในแง่ของแบรนด์เองก็จะมีรายได้ที่เข้ามาประจำ ยังสามารถคำนวณวัตถุดิบ และคลังสินค้าของตัวเองได้อีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แม้จะมีข้อดีอยู่หลายข้อ แต่ก็มีความท้าทายที่มากมายเช่นกัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ได้เคยวิเคราะห์ถึงโมเดลธุรกิจนี้ไว้ว่า การตั้งราคาที่เหมาะสมและมีความยืดหยุ่น เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการเริ่มต้นระบบ Subscription ราคาที่กำหนดต้องสามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าในการจ่ายค่าสมาชิกในแต่ละครั้ง 

 

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะขั้นตอนการคำนวณราคาแบบสมาชิกนั้นซับซ้อนกว่าการตั้งราคาสินค้าทั่วไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงต้นทุนของสินค้าและบริการ ต้นทุนค่าขนส่ง ราคาสินค้าของคู่แข่ง เป็นต้น นอกจากนี้ราคาของ Subscription ควรมีไว้หลายระดับ เพื่อให้สมาชิกสามารถเลือก/เปลี่ยนรูปแบบของ Subscription ได้ตลอดระยะเวลาในการเป็นสมาชิก 

 

อีกทั้งควรนำข้อมูลสมาชิกมาวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความชอบ ไลฟ์สไตล์ ที่มีความแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ 

 

ขณะที่การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง สิ่งที่ต้องคำนึงคือ Shelf Life (อายุของสินค้า) และ Safety Stock (สินค้าคงคลังขั้นต่ำ) เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนสินค้า และจำนวนสมาชิกของแต่ละธุรกิจ 

 

การสร้างความสมดุลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีสูตรตายตัวเนื่องจากแต่ละธุรกิจมีปัจจัยที่ต้องคำนึงแตกต่างกัน เช่น สินค้าที่มีวันหมดอายุ อย่าง อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น การประเมินจำนวนสมาชิกที่คาดว่าจะเพิ่ม-ลดเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากคำนวณผิดพลาด นั่นหมายถึงสินค้าที่จะเหลือในคลังสินค้าเน่าเสีย

 

ด้านการรักษาลูกค้าในระยะยาว การคงไว้ซึ่งความน่าสนใจแก่ Subscriber ในระยะยาวเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก หากมีสินค้าเพียงชนิดเดียวจำเป็นต้องมีจุดแข็งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาได้ตามท้องตลาด การให้บริการที่ดีเยี่ยม หรือราคาสินค้าที่ถูก หากผู้ประกอบการไม่มีจุดแข็งที่ชัดเจนดังกล่าว มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเกิดความเบื่อหน่ายได้เร็วกว่าปกติ

 

ในแง่ของการหยิบ Subscription Model ล่าสุด Sizzler เชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ที่ชูจุดแข็งด้านสุขภาพก็สนใจเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งในมุมของ กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไปแบรนด์ Sizzler ให้ความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับบทวิคราะห์ของ SCB EIC ว่า ยังมี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนวณให้ถี่ถ้วน คือ 1. เมนูอาหารต้องหลากหลาย และ 2. การจัดการของระบบโอเปอร์เรชัน

 

(ซ้าย) กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป (ขวา) นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Sizzler

 

“ส่วนตัวเคยสั่งอาหารแบบ Subscription แต่สิ่งที่เราได้คือ ร้านจะมาส่งอาทิตย์ละ 1 ครั้ง นั่นหมายความว่าช่วงเวลาที่เหลือเราต้องนำอาหารมาอุ่นในไมโครเวฟ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ พวกเขาต้องการอาหารที่ปรุงขึ้นมาสดๆ”

 

แม่ทัพ Sizzler กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เรื่องของ Subscription Model นั้น Sizzler สนใจตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาต้องพับโปรเจกต์ไว้ก่อน เพราะต้องทุ่มกำลังให้กับการจัดการร้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อน แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น จึงกลับมาสนใจอีกครั้ง พร้อมได้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจังแล้ว

 

ในแง่ของ Subscription เบื้องต้นอาจจะออกมาในรูปแบบของระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ความท้าทายคือผู้บริโภคคงไม่ได้อยากกินอาหารแบบเดิมๆ ในทุกๆ วันที่สั่ง ดังนั้นในแง่ของอาหารต้องมีความวาไรตี้ อย่างน้อยต้องมี 7 เมนู และดีที่สุดคือ 14 เมนู นี่เป็นเพียงแพ็กเกจสำหรับวันละ 1 มื้อ แต่ถ้าจะมีแพ็กเกจวันละ 2 มื้อเราก็ต้องคิดกันต่อ โดยเมนูไม่จำเป็นต้องมีแค่สเต๊กหรือสลัด แต่สามารถมีเมนูข้าวหรืออาหารอื่นๆ ที่เน้นเรื่องสุขภาพได้ 

 

“เมนูเราพอมีไอเดียแล้วว่าจะเป็นรูปแบบไหนบ้าง ส่วนราคาแบบไหนที่เหมาะสม เรามองว่าไม่เกิน 150 บาทต่อมื้อเป็นราคาที่กำลังดี โดยเราคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้”

 

ในส่วนของแผนธุรกิจของ Sizzler ในปีนี้จะมีการขยายโมเดล Sizzler To Go ให้มากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ปีนี้ จะขยายให้เป็น 10 สาขาเป็นอย่างน้อย และอาจขยายได้มากถึง 20 สาขา เบื้องต้นได้มีการคุยกับแลนด์ลอร์ดไปบ้างแล้ว

 

นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาดแบรนด์ Sizzler อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้โมเดล Sizzler To Go ประสบความสำเร็จจนวางแผนขยายให้มากขึ้นในปีนี้ เรื่องแรกคือ การตั้งอยู่ในโลเคชันที่ High Traffic อย่างรถไฟฟ้าหรืออาคารสำนักงาน ทำให้มีลูกค้าเดินเข้ามาตลอดเวลา

 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การใช้พื้นที่ขนาดไม่ใหญ่ เล็กสุดเพียง 3 ตารางเมตร หรือใหญ่สุด 20 ตารางเมตร ที่สำคัญยังใช้เงินลงทุนไม่มากนักราว 2 แสนถึง 1.5 ล้านบาท ทำให้สามารถคืนทุนได้เร็ว ตลอดจนสามารถลองผิดลองถูกได้ เช่น ที่สาขาช่องนนทรี ได้ทดลองนำกาแฟของ The Coffee Club มาวางขายคู่กัน 

 

ในแง่ของราคานั้นก็ถือว่าตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะถูกกำหนดให้ไม่เกิน 100 บาท หรือจัดเป็นเซ็ตในราคาไม่เกิน 150 บาท 

 

“สิ่งที่เราพบจากพฤติกรรมของลูกค้าคือ ร้านมักจะขายดีในช่วงเช้าและเย็น โดยในช่วงเช้าเมนูที่ขายดีคือแซนด์วิช ส่วนเย็นเป็นสลัด ทำให้โจทย์ของเราในเวลานี้คือ จะทำอย่างไรให้ช่วงมื้อกลางวันขายได้มากขึ้น”

 

Sizzler จึงแก้โจทย์นี้ ร้าน Sizzler To Go สาขาล่าสุดที่เปิดในโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทำเลที่แบรนด์เล็งไว้สักพักแล้ว สาขานี้จะไม่เหมือนกับที่อื่น นอกจากจะมีพื้นที่กว้างแล้ว ยังเป็นลักษณะของศูนย์อาหาร เพราะภายในร้านนอกจากจะมี Sizzler แล้ว ยังมี Burger King และ The Coffee Club ซึ่งใช้โต๊ะและเก้าอี้สำหรับนั่งทานเป็นส่วนกลางร่วมกัน

 

 

สิ่งที่สาขานี้แตกต่างจากสาขาอื่นๆ คือ มีการเพิ่มเมนูอาหารกลางวันขึ้นมา อย่างเมนูสเต๊กบ็อกซ์ (Steak Box) ที่นำเอาเมนูซิกเนเจอร์มาปรับให้อยู่ในรูปแบบเมนูข้าวกล่อง สะดวกต่อการพกพา รวมถึงเมนูจานเดียว (Single Meal) ในรูปแบบใหม่ๆ ในราคา 139-299 บาท 

 

ขณะเดียวกันการมีพื้นที่ที่ขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถนำสลัดบาร์มาลงได้ โดยมี 2 ราคาให้เลือกคือ 149 บาท และ 169 บาท จุดนี้เองจะทำให้ยอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้นได้ เพราะตัวสลัดเองสามารถเพิ่มท็อปปิ้งอื่นๆ เช่น อกไก่เพิ่มขึ้นมาได้ ทำให้คาดว่า ยอดใช้จ่ายต่อบิลของที่นี่จะเพิ่มจากเฉลี่ย 150 บาทใน Sizzler To Go ทั่วไป มาเป็น 200 บาทในสาขานี้

 

นอกจากนี้ นงชนกระบุว่า Sizzler กำลังสนใจและศึกษาเรื่องกัญชงเหมือนกัน โดยที่ศึกษานั้นเพราะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเทรนด์ แต่ Sizzler จะไม่รีบทำเพราะต้องเข้าใจตลาดนี้ให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนจะสนใจเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอาจมีผลต่อภาพลักษ์ของแบรนด์ได้ 

 

สำหรับภาพรวมของแบรนด์นั้น กรีฑากรระบุว่า ยอดขายตอนนี้ฟื้นกลับมาเท่ากับการระบาดรอบแรกคือ ติดลบ 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนระบาด ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่ดีแล้ว ภายในปีนี้คาดหวังว่า ตัวเลขจะติดลบเพียง 10% ก็พอใจมากแล้ว 

 

ในส่วนของการขยายสาขานั้น ปีนี้วางแผนเปิดอีก 4-5 สาขาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นปลายปี ส่วนหนึ่งจะเข้ามาชดเชยสาขาที่ปิดไปในปีที่แล้วจำนวน 3 สาขา โดยสาขาใหม่จะมีการปรับลดพื้นที่ลง จากที่ใช้ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ก็ลดลงเหลือไม่เกิน 300 ตารางเมตรเท่านั้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising