×

เราควรลอยกระทงต่อไปหรือไม่ เมื่อต้องลำบากใจกับสิ่งแวดล้อมนิยม

27.11.2023
  • LOADING...

คนไทยทุกวันนี้ลอยกระทงด้วยความรู้สึกสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสืบสานประเพณีไหว้พระแม่คงคา คละเคล้าไปกับความสนุก อีกด้านคือความรู้สึกผิดต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้บางคนปฏิเสธที่จะลอยกระทงกันไปเลยทีเดียว

 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราควรลอยกระทงต่อไปไหมในเมื่อโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อนจะปฏิเสธ ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้ด้วยก็คือประเพณีลอยกระทงมีที่มาจากอะไร จากนั้นลองมาหาที่มาของความคิดว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงไม่ต้องการลอยกระทง

 

จากเมืองจีน

 

ลอยกระทงไทยมีที่มาจากไหนยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ แต่ที่แน่ๆ ลอยกระทงไทยไม่ได้มาจากอินเดียดังที่สื่อบางที่มักเข้าใจกัน ความเป็นไปได้มากที่สุดคือลอยกระทงไทยและเพื่อนบ้านคงมาจากจีน

 

ในเอกสารจีนระบุว่า ลอยกระทงเริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. 618-907) นิยมมากในสมัยราชวงศ์หยวน โดยทำเป็นรูปดอกบัวลอยและทรงโคม อีกทั้งมีเรือกระดาษลอยในแม่น้ำและทะเล เป้าหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตาย เทศกาลนี้เรียกว่า ‘จงหยวน’ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ทุกวันนี้ชาวจีนในบางท้องที่ยังคงมีประเพณีลอยกระทง(放河灯)กันอยู่

 

ลอยกระทงในประเทศจีน
(อ้างอิง: https://images.app.goo.gl/CQ9mAQPsZQbufnQU6)

 

เข้าใจว่าด้วยการค้าระหว่างจีนกับผู้คนในอุษาคเนย์ และมีชาวจีนอพยพเข้ามา จึงทำให้ประเพณีลอยกระทงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีของคนในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี ประเพณีลอยกระทงอาจมีมานานแล้วในภูมิภาคอุษาคเนย์

 

บูชาผีบรรพบุรุษ

 

ในสมัยหริภุญไชยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อราว พ.ศ. 1460 (ค.ศ. 917) ได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงในเมืองหริภุญไชย (ลำพูนโบราณ) ชาวเมืองจึงพากันหนีไปเมืองสุธรรมนคร (สะเทิม เมียนมา) และเมืองหงสาวดีตามลำดับ หลัง 6 ปีเมื่อโรคสงบลงจึงเดินทางกลับมา ยกเว้นคนแก่ชราและที่มีครอบครัวที่นั่นได้อาศัยอยู่เมืองหงสาวดีต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ชาวหริภุญไชยจึงเกิดประเพณี ‘ลอยขาทนียโภชนียาหาร’ หรือลอยกระทง เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ

 

แต่ลอยกระทงสมัยหริภุญไชยนั้นก็อาจแตกต่างจากลอยกระทงในเชียงใหม่-ลำพูนปัจจุบัน เพราะใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (2542) ระบุว่า การลอยกระทง (สะตวง) ในงานยี่เป็งเมืองเชียงใหม่นั้น ผู้ที่เริ่มนำกระทงแบบกรุงเทพฯ ขึ้นไปนั้นคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี คงเริ่มลอยจนเกิดความนิยมเมื่อราว พ.ศ. 2460-2470 แต่กระทงในครั้งนั้นก็ทำอย่างง่ายๆ เป็นเพียงการจุดเทียนบนกาบมะพร้าว ทำเป็นรูปเรือเล็กหรือรูปหงส์เท่านั้น

 

ข้อมูลเรื่องนี้ยังน่าสงสัย เพราะถ้าเจ้าดารารัศมีนำประเพณีลอยกระทงไปจากกรุงเทพฯ ก็ควรจะเป็นกระทงทรงดอกบัวเสียมากกว่า เป็นไปได้ว่ากระทงรูปเรือที่เจ้าดารารัศมีลอยนี้คือการ ‘ลอยสะเปา’ (เรือสำเภา) ที่คนทางเชียงใหม่-ลำพูนยังปฏิบัติกันอยู่

 

แต่ที่แน่ชัดคือ ประเพณีลอยกระทงของเชียงใหม่นั้นได้รับความนิยมจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย ทิม โชตนา นายกเทศมนตรีในเวลานั้นได้จัดประเพณีลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ผสมกับล้านนาขึ้นบริเวณถนนท่าแพและพุทธสถาน จึงเกิดการจัดงานยี่เป็งอย่างใหญ่โตทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ภาพสลักที่บายน

 

ในขณะที่กระทงทรงดอกบัวพบหลักฐานเก่าสุดอยู่ในกัมพูชา คือภาพสลักสตรีกำลังลอยกระทงที่ระเบียงคดปราสาทบายน (สร้างราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12) เป็นกลุ่มของสตรีนั่งเรียงกันเป็นแถวที่ท่าน้ำ เข้าใจว่านี่คงเป็นประเพณีลอยกระทง และเมื่อพิจารณาภาพสลักที่ปราสาทบายนก็จะพบว่ามีภาพของกองทัพชาวจีนด้วย จึงเป็นไปได้ว่าประเพณีลอยกระทงนี้คงรับมาจากจีนนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจทราบได้ว่าสตรีเหล่านี้ลอยกระทงเพื่อบูชาบรรพบุรุษหรือไหว้พระแม่คงคา แต่น่าจะเป็นอย่างแรกเสียมากกว่า เพราะในภาพสลักนี้ไม่มีภาพของพระแม่คงคาอยู่

 

 

ประเพณีประดิษฐ์

 

ลอยกระทงในสมัยกรุงเทพฯ เป็นประเพณีสืบมาจากประเพณีลอยโคมในสมัยอยุธยา แต่มาเป็นประเพณีจริงจังและทำเป็นรูปทรงดอกบัวเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 ดังปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง นางนพมาศ ที่แต่งขึ้นในสมัยนี้ เพียงแต่มีฉากหลังเป็นสุโขทัย จึงทำให้คนเข้าใจไปว่าลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยนี้

 

ทุกปี สุจิตต์ วงษ์เทศ จะต้องออกมาอธิบายว่าในสมัยสุโขทัยไม่มีประเพณีลอยกระทง เพราะตระพังในเมืองเก่าสุโขทัยนั้นเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ขุดไว้เพื่อลอยกระทงหรือเผาเทียน เล่นไฟ แต่ถ้าถามว่าประเพณีลอยกระทงในเมืองเก่าสุโขทัยเริ่มต้นเมื่อไรนั้น พบว่าเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อ นิคม มูสิกะคามะ เป็นหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2520 นี้เอง จนกลายเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ลักษณะเช่นนี้เองที่นักวิชาการนิยามว่าเป็น ‘ประเพณีประดิษฐ์’ (Invented Tradition) เพราะประเพณีดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมเพื่อให้เกิดความเป็นไทย ห่างไกลจากความหมายดั้งเดิม

 

จุดมุ่งหมายของการลอยกระทงในเขตภาคกลางนี้ต่างไปจากจีนและหริภุญไชย เพราะเป็นไปเพื่อบูชาขอขมาพระแม่คงคา เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามา จึงเกิดการแปลงความเชื่อท้องถิ่นให้เป็นอินเดีย ดั้งเดิมประเพณีลอยกระทงคงทำขึ้นเพื่อขอขมาผีน้ำ ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าผีสถิตอยู่ในธรรมชาติ ร่องรอยการบูชาผีนี้อาจเห็นได้จากประเพณีทางเหนือและของจีนนั่นเอง

 

กระแสสิ่งแวดล้อมนิยม

 

จำได้ว่าสมัยก่อนไม่ค่อยมีใครใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กระทงมีทั้งทำจากใบตอง โฟม กระดาษตะกั่ว แต่โดยมากเป็นโฟม เพราะราคาถูก สวย สะดวก ลอยน้ำได้ดี แต่ต่อมาสักกลางทศวรรษ 2530 จึงเริ่มรณรงค์ให้ใช้กระทงทำจากใบตองและหยวกกล้วยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้คนพร้อมใจกันทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ แต่ในตอนนั้นก็ยังใช้เข็มกลัดทำจากตะปู ซึ่งคงลืมคิดไปว่ามันก็เป็นอันตราย

 

คำถามคือเพราะเหตุใดคนในสังคมจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนแปลง ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Movement) ในโลกตะวันตก ซึ่งมีการพูดถึงประเด็นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) กันอย่างจริงจังในระดับนานาชาติ เห็นได้ชัดจากเพลง Heal The World ของ Michael Jackson ทั่วโลกรณรงค์ให้เลิกใช้โฟม และสาร CFC เพราะสามารถทำลายชั้นโอโซนได้

 

ในประเทศไทยเองก็ขานรับกระแสดังกล่าว รัฐบาลจึงเริ่มรณรงค์ห้ามการใช้โฟม มีนักวิชาการออกมาอธิบายปัญหาของสารพิษในโฟม สื่อต่างๆ ให้ข้อมูลว่ากว่าโฟมจะสลายตัวก็ร่วมพันปี ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมตระหนักถึงภัยร้ายแรงดังกล่าวมากขึ้น เพียงไม่กี่ปี กระทงโฟมก็หายไปจากท้องตลาด เหลือแต่กระทงใบตอง และมีคนหัวใสทำกระทงจากขนมปังกันหลายเจ้า

 

ผมเชื่อว่าคนในสังคมไทยเวลานี้ไม่มีใครใช้โฟมทำกระทงกันอีกแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ กระแสของคนในสังคมทุกวันนี้ก็คือการปฏิเสธกระทั่งการลอยกระทงใบตอง เพราะมองว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เราอาจอธิบายได้ว่ากระแสดังกล่าวนี้เป็นสำนึกแบบสิ่งแวดล้อมนิยม แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจาก 2 เรื่องหลัก

 

เรื่องแรกคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเพณีความเชื่อน้อยลง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อแม่น้ำ ความรู้สึกที่มีต่อเทพเจ้าและผีไม่ได้สำคัญมากเหมือนคนสมัยก่อน ซึ่งไม่ใช่ความผิดอะไร ผู้ใหญ่ไม่ควรต้องกังวล เมื่อความศักดิ์สิทธิ์คลายลง ประเพณีที่ผูกพันกับความเชื่อแบบลอยกระทงก็ผ่อนปรนลงไปด้วย ครั้นจะลอยกระทงเพื่อความสนุกด้วยวิถีทางโลกก็ไม่ใช่เรื่องอีก เพราะถูกบีบด้วยสังคมแบบสิ่งแวดล้อมนิยม

 

เรื่องที่สองคือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งได้สร้างทางเลือกให้กับการลอยกระทงที่สามารถทำผ่านมือถือได้ แต่ผลที่ตามมาพร้อมกันด้วยก็คือการเสื่อมลงของความศักดิ์สิทธิ์ เพราะสื่อกลาง (Medium) เดิมที่ใช้กันนั้นมีความเป็นรูปธรรม และมีบรรยากาศต่างจากโลกดิจิทัล ลอยกระทงจึงเป็นโลกของของเล่นไปเสีย

 

ผมไม่แน่ใจว่าเราควรลอยกระทงหรือไม่ควรลอยกระทงกัน แต่ลอยกระทงทุกวันนี้เป็นเรื่องระดับรัฐ ไม่ใช่สังคมหมู่บ้านแบบสมัยโบราณ รัฐจึงมีหน้าที่ต้องจัดการกับขยะอย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการดำรงรักษาประเพณีนี้ไว้ แต่แน่นอนว่าในอีกด้านหนึ่งในระดับปัจเจก ประชาชนก็ควรต้องทำกระทงจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เพื่อให้ไม่รู้สึกผิดต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องดราม่าด้วยภาพเอไอพระแม่คงคาร้องไห้กับกระทง เพราะผมคิดว่าปัญหาของน้ำเสียในคูคลองของไทยนั้น การลอยกระทงเป็นแค่ปัญหาชั่วคราว แต่การปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือน ร้านค้า และโรงงานลงแม่น้ำนี่สิที่รุนแรงกว่ามาก แต่ที่แน่ๆ งดตะปูกลัดกระทงด้วยนะครับ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising