×

รู้จัก ‘Circuit Breaker’ เครื่องมือแตะเบรก ที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยใช้รับมือวิกฤตความผันผวน พร้อมเปิดสถิติถูกใช้มาแล้วกี่ครั้ง

16.03.2023
  • LOADING...
Circuit Breaker

SET Index ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา (14-16 มีนาคม 2566) ถือว่ามีความผันผวนอย่างหนัก เคลื่อนไหวเกือบ 80 จุด หรือคิดเป็นการขึ้น-ลงของดัชนีในระดับ 2-3% ต่อวัน สาเหตุหลักมาจากความกังวลวิกฤตภาคสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องออกมาแถลงให้ข้อมูลเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนผ่านสื่อมวลชนถึง 2 ครั้งในช่วงเวลา 3 วัน

 

ในช่วงที่สภาวการณ์การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนรุนแรง (ดังเช่นเวลานี้) จากผลกระทบเชิงลบต่างๆ ทั้งภายในประเทศและปัจจัยจากต่างประเทศ และทำให้ดัชนีร่วงลงอย่างหนักจนไร้ความสมเหตุสมผล มาตรการหรือเครื่องมือที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถนำมาใช้ดูแลภาพรวมการซื้อขายก็คือ ‘Circuit Breaker’


บทความที่เกี่ยวข้อง


รู้จักเครื่องมือ ‘Circuit Breaker’

THE STANDARD WEALTH จะพาไปทำความรู้จักกับเครื่องมือ ‘Circuit Breaker’ ซึ่งเป็นมาตรการดูแลภาพรวมการซื้อขายในกรณีที่สภาวการณ์การซื้อขายผันผวนรุนแรง ราคาหลักทรัพย์โดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมาก เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนได้อย่างครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหยุดซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราวตามหลักเกณฑ์ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเปิดให้ซื้อขายได้ต่อไป 

 

โดยมาตรการนี้เรียกว่าการสั่งหยุดการซื้อขายชั่วคราว หรือ ‘Circuit Breaker’ ซึ่งมีเงื่อนไขรายละเอียดของหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

 

  • ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 8% เมื่อเปรียบเทียบจากวันปิดทำการก่อนหน้า จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที 
  • ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 15% เมื่อเปรียบเทียบจากวันปิดทำการก่อนหน้า จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที 
  • ครั้งที่ 3 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% เมื่อเปรียบเทียบจากวันปิดทำการก่อนหน้า จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

 

โดยหลังจากการทำงานครั้งที่ 3 ของ Circuit Breaker แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้ซื้อขายต่อไปจนถึงเวลาปิดทำการตามปกติ โดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก 

 

ทั้งนี้หากระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่ Circuit Breaker ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ให้หยุดพักการซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบการซื้อขายนั้น โดยเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบการซื้อขาย หรือวันทำการถัดไป

 

เปิดสถิติตลาดหุ้นไทยใช้ Circuit Breaker แล้วกี่ครั้ง

ในช่วงอดีตที่ผ่านมาตลาดหุ้นเคยถูกผลกระทบให้ตลาดร่วงลงอย่างหนักมาแล้ว โดยมาจากสถานการณ์กดดันทั้งจากปัจจัยลบเฉพาะภายในประเทศ รวมถึงปัจจัยความกังวลของสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก โดยจากการสำรวจข้อมูลสถิติย้อนหลังพบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยนำเครื่องมือ ‘Circuit Breaker’ มาใช้ทั้งหมด 5 ครั้ง ดังนี้

 

ครั้งที่ 1 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งออกมาตรการสำรองเงินต่างประเทศ 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนัก ฉุด SET Index ดิ่งแรง 142.63 จุด หรือติดลบ 19.52% ภายในวันเดียว

 

ครั้งที่ 2 

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) สาเหตุจากภาวะฟองสบู่แตกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ และลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก เหตุการณ์นี้กดดัน SET Index ลดลง 50.08 จุด หรือติดลบ 10.09%

 

ครั้งที่ 3 

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อวิกฤต Hamburger Crisis ที่ยังไม่ดีขึ้น มีผลกดดันให้ SET Index ลดลงไปอีก 45.44 จุด หรือติดลบ 10.50%

 

ครั้งที่ 4 

วันที่ 12 มีนาคม 2563 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจพลิกผันและระส่ำหนัก ส่งผลให้ SET Index ที่เปิดตลาดทำการภาคบ่ายร่วง 125.05 จุด หรือติดลบ 10% และปิดตลาดที่ระดับ 1,114.91 จุด ลดลงไปถึง 134.98 จุด หรือติดลบ 10.80%

 

ครั้งที่ 5 

วันที่ 13 มีนาคม 2563 หรือเพียง 1 วันหลังจากการวิกฤตโควิดที่ป่วนตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งกดดัน SET Index ลดลง 111.52 จุด หรือติดลบ 10% 

 

ส่วนเหตุการณ์ที่เฉียดวิกฤตอย่างการเกิดปัญหาทางฐานะการเงินของ Credit Suisse ซึ่งเป็นประเด็นร้อนใน 1-2 วันมานี้ ทาง ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีของ Credit Suisse ที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้จนมีความกังวลว่าจะลุกลามเป็นวิฤตภาคการเงิน ซึ่งสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น เชื่อว่ามีผลกระทบทางตรงต่อตลาดหุ้นไทยน้อยมาก เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง

 

อีกทั้งล่าสุดธนาคารกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังออกมาให้ความช่วยเหลือที่ ถือว่าเป็น ‘ยาแรง’ โดยให้วงเงินช่วยเหลือกับ Credit Suisse จำนวน 5.4 หมื่นล้านฟรังก์สวิส 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นของ Credit Suisse ยอมรับว่าจะมีผลกระทบในเชิง Sentiment ที่สร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย 

 

ส่วนกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า Credit Suisse มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยหลายแห่งนั้น เชื่อว่าไม่มีผลกระทบและไม่มีความเสี่ยงต่อ บจ. และตลาดหุ้นไทย เนื่องจากการที่ปรากฏรายชื่อ Credit Suisse เป็นผู้ถือหุ้นนั้นเป็นเพราะ Credit Suisse เป็นผู้ให้บริการทำหน้าที่ดูแลรักษาหลักทรัพย์ (Custodian) โดยเป็นตัวแทนถือหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศและนักลงทุนทั่วโลก 

 

ทั้งนี้แม้ในกรณีที่ Credit Suisse มีปัญหาเกิดขึ้นจริง จะไม่มีผลกระทบต่อหุ้นที่ถือลงทุน เพราะมีระบบดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงและแยกหลักทรัพย์ออกมา ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Custodian Bank

 

“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามทำตอนนี้คือจะต้องให้ข้อมูลแก่นักลงทุนต่างประเทศและนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงทำงานร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่มากขึ้น ทั้งกับแบงก์ชาติและสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ข้อกังวลที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่ภายในประเทศ ดังนั้นจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพิ่มขึ้น

 

“ส่วนมาตรการต่างๆ ที่เรามีสำหรับดูแลการซื้อขาย ก็สามารถนำมาใช้ได้เสมอในเวลาที่มีความผันผวนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต แต่ในวันนี้คิดว่ายังไม่ถึงจุดนั้น และคิดว่าในช่วงนี้ตลาดเปราะบางมากทั้งตลาดหุ้นไทยและทั่วโลก ซึ่งน่าจะขึ้น-ลงวันละ 2-3%” ภากรกล่าว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising