×

ทำความรู้จัก ‘หมี-กระทิง-พิราบ-เหยี่ยว’ และเหล่าสัตว์อื่นๆ มีความหมายอย่างไรในโลกการเงิน

07.03.2023
  • LOADING...

ผู้ที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนต้องเคยเจอเหล่าสัตว์แห่งวอลล์สตรีท เช่น ‘หมี-กระทิง-พิราบ-เหยี่ยว’ มาแล้วไม่มากก็น้อย แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจ THE STANDARD WEALTH จะพาไปทำความเข้าใจว่าสัตว์แต่ละตัวหมายถึงอะไร เพื่อช่วยให้ผู้อ่านวิเคราะห์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดและราคาสินทรัพย์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

 

 

กระทิง (Bull)

 

เริ่มกันจากกระทิง ซึ่งหมายความถึงภาวะที่ราคาหุ้นหรือตลาดโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณการซื้อขายที่มาก คล้ายกับลักษณะของวัวกระทิงตัวผู้โตเต็มวัย ซึ่งมีเขาแหลม นิสัยคึกคัก ก้าวร้าว ทรงพลัง และเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

 

สอดคล้องกับ Ryan Campbell จาก TD Ameritrade ที่กล่าวว่า “ตลาดกระทิงมักหมายถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ความต้องการหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นในเชิงบวกของนักลงทุนในวงกว้าง”

 

โดยตามข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์การเงินอเมริกัน (The Museum of American Finance) ระบุว่า การใช้คำว่า ‘กระทิง’ ในวงการการเงินเริ่มขึ้นเมื่อช่วงปี 1714

 

หมี (Bear)

 

กล่าวได้ว่าหมีเป็นขั้วตรงกันข้ามของกระทิง เนื่องจากตลาดหมีหมายถึงภาวะที่ราคาหุ้นต่ำลง ปริมาณการซื้อขายก็น้อย เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวของหมีที่อืดอาด เชื่องช้า

 

Campbell ระบุว่า “โดยทั่วไปแล้วตลาดหมีมักหมายถึงการปรับตัวลงของตลาดและราคาสินทรัพย์ และอาจเกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง การไหลออกของเงินจากสินทรัพย์ต่างๆ และความเชื่อมั่นเชิงลบของนักลงทุนในวงกว้าง”

 

โดยตามข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์การเงินอเมริกัน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ‘หมี’ ถูกใช้ในวอลล์สตรีทก่อน ‘กระทิง’ เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏขึ้นครั้งแรกราวปี 1709

 

 

เหยี่ยว (Hawk)

 

สำหรับกลุ่มต่อไปจะพูดถึงสัตว์ที่ถูกเปรียบเปรยกับจุดยืนหรือการดำเนินนโยบายการเงินและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

เริ่มจากเหยี่ยว ซึ่งสื่อถึงความแข็งกร้าว ดุดัน ไม่ประนีประนอม เมื่อมาใช้ในบริบทธนาคารกลางจึงหมายความว่า ผู้กำหนดนโยบายมีท่าทีที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หรือลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

 

โดยหากคณะกรรมการส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบ Hawkish หลังการประชุมก็มักจะมีมาตรการดังนี้ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ การออกพันธบัตร เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ

 

นกพิราบ (Dove)

 

ขณะที่นกพิราบ ซึ่งสื่อถึงความประนีประนอม ยืดหยุ่น เมื่อมาใช้ในบริบทธนาคารกลางจึงหมายความว่า ผู้กำหนดนโยบายมีท่าทีที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

 

โดยหากคณะกรรมการส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบ Dovish หลังการประชุมก็มักจะมีมาตรการดังนี้ ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ การเข้าซื้อพันธบัตร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ

 

 

หมู (Pig/Hog)

 

ในบริบทประเทศไทยหลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ขายหมู’ ซึ่งหมายถึง การขายหุ้นหรือสินทรัพย์เร็วเกินไป เนื่องจากหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เราขายไปราคากลับขึ้นไปต่อได้ ส่งผลให้เราได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะได้

 

ส่วนบริบทในต่างประเทศ หมูจะหมายถึงนักลงทุนที่โลภและไม่มีวินัย พร้อมที่จะถูกเชือด ดังคำกล่าวในวอลล์สตรีทที่ว่า “กระทิงทำเงิน หมีทำเงิน หมูโดนเชือด” (Bulls make money, Bears make money, But hogs get slaughtered.)

 

ควาย (Buffalo)

 

ในบริบทไทยก็มีสัตว์อีกตัวหนึ่งนั่นคือควาย โดยหลายคนอาจได้ยินวลีที่ว่า “ขายหมูแถมซื้อควาย” หมายความว่า หลังจากเสียโอกาสในการทำกำไรจากการขายหุ้นตัวแรกไปแล้ว กลับนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นตัวนั้นไปซื้อหุ้นตัวใหม่ แล้วดันขาดทุน

 

แกะ (Sheep)

 

สำหรับแกะก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ในบริบทต่างประเทศใช้สื่อถึงนักลงทุนที่ขาดเป้าหมาย วินัย กลยุทธ์ และมักลงทุนตามฝูงชนโดยไม่คิดให้รอบครอบ จึงอาจทำให้ถูกตลาด ‘ขย้ำ’ ได้ง่ายๆ 

 

เม่า (Moth)

 

ต่อมาคือคำว่าเม่าที่หลายคนคงคุ้นหู โดยมีความหมายถึงนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ราคากำลังปรับขึ้นแรง เหมือนกับไฟที่ลุกโชน จนอาจติดดอย หรือบางคนอาจตายในกองไฟได้ นอกจากนี้ก็มีหลายคนนิยมเปรียบเทียบ ‘นักลงทุนรายย่อย’ ว่า ‘เม่า’ อีกด้วย

 

 

สุนัข (Dog)

 

ในโลกแห่งความเป็นจริงสุนัขอาจเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แต่ในวอลล์สตรีทสุนัขถูกมองว่าเป็นหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนหรือมีเพอร์ฟอร์แมนซ์แย่เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือในตลาดโดยรวม

 

แมว (Cat)

 

ส่วนแมวในโลกวอลล์สตรีทมาจากวลีที่ว่า “Dead Cat Bounce” ซึ่งหมายถึงการฟื้นตัวระยะสั้นและไม่มีนัยสำคัญของราคาหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ หลังจากการลดลงอย่างมาก ดังนั้น Dead Cat Bounce จึงอาจหมายความว่า แมวที่ตกจากที่สูง แล้วเด้งขึ้นเล็กน้อยก่อนตายนั่นเอง

 

หงส์ (Swan)

 

หงส์ดำ (Black Swan) ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝัน หรือเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่เคยเจอในอดีต โดยผู้ที่หยิบหยกคำว่า Black Swan มาใช้จนแพร่หลายในโลกการเงิน คือ Nassim Taleb นักคณิตศาสตร์ และเทรดเดอร์ชาวเลบานอน ที่เขียนหนังสื่อในชื่อเดียวกัน โดยอธิบายว่า เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น เหมือนกับ ‘หงส์สีดำ’ เนื่องจากในอดีตคนส่วนใหญ่เชื่อว่าหงส์มีแต่สีขาวเท่านั้น จนกระทั่งปี 1697 ที่มีการพบหงส์สีดำในออสเตรเลีย โดยตัวอย่างวิกฤตที่ถูกพิจารณาว่าเป็น Black Swan ได้แก่ ฟองสบู่ดอทคอม, เหตุการณ์ 9/11 และโควิด เป็นต้น

 

แรด (Rhino)

 

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่คล้ายคลึงกันนั่นก็คือ แรดเทา (Gray Rhino) ซึ่งมาจากหนังสือของ Michele Wucker ชื่อ The Gray Rhino โดยใช้เปรียบเปรยถึงภัยคุกคามที่มีความเป็นไปได้สูง และมีผลกระทบสูง แต่มักจะถูกละเลย ตัวอย่างเช่น เหตุฟองสบู่ที่อยู่อาศัยเมื่อปี 2008, ผลกระทบจากเหตุเฮอร์ริเคนแคทรินา และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น

 

 

วาฬ (Whale)

 

วาฬเป็นสัตว์ที่ถูกหยิบยกมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการคริปโตเคอร์เรนซีเมื่อเร็วๆ นี้ โดยหมายถึงนักลงทุนผู้ถือคริปโตจำนวนมากไว้ในครอบครอง ดังนั้นการซื้อและขายเหรียญของวาฬจึงมักส่งผลกระทบต่อราคาทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ยูนิคอร์น (Unicorn)

 

ปิดท้ายกันด้วยคำศัพท์ในแวดวงสตาร์ทอัพและ Venture Capital นั่นคือ ยูนิคอร์น ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising