×

หรือนี่คือยุคทองของเอเชีย? ‘Sequoia Capital’ เวนเจอร์ แคปปิตอล ระดับโลก จ่อลงทุนในเอเชีย พร้อมชี้เป็นโอกาสแห่งอนาคต

27.09.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Sequoia Capital เวนเจอร์ แคปปิตอล ชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยี ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในแถบเอเชียไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ปัจจุบัน Sequoia Capital มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่า 3.15 ล้านล้านบาท และล่าสุดได้ระดมทุนมาราว 2.85 พันล้านดอลลาร์ เพื่อมุ่งมาลงทุนในเอเชีย
  • Sequoia Capital มองว่าเอเชียเป็นโอกาสแห่งอนาคต โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสแตะ 30 ล้านล้านบาท

หรือนี่คือยุคทองของเอเชีย? Sequoia Capital เวนเจอร์ แคปปิตอล ชั้นนำของโลกที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี ที่ได้เคยลงทุนใน Apple, NVIDIA, Google และบริษัทชั้นนำอีกมากมาย ได้ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในแถบเอเชียไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมชี้ว่าประเทศในแถบเอเชียมีโอกาสกว่า 30 ล้านล้านบาทรออยู่

 

แล้วการเคลื่อนไหวของ Sequoia สำคัญอย่างไร วันนี้ทางทีมงาน THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

 

Sequoia Capital เวนเจอร์ แคปปิตอล ชั้นนำของโลกที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีนั้น ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ดอน วาเลนไทน์ ที่เริ่มต้นเส้นทางอาชีพตนเองจากวิศวกรฝ่ายขายของบริษัทเทคโนโลยีการบิน ‘Raytheon’ ก่อนจะย้ายไปทำงานขายให้กับบริษัท ‘Fairchild Semiconductor’ เป็นเวลา 7 ปี แล้วมาถึงจุดสูงสุดของสายงานฝ่ายขายที่บริษัท National Semiconductor ในฐานะผู้บริหารด้านการตลาด ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักลงทุนร่วมทุน มาก่อตั้งกองทุน ‘Sequoia Capital’ ของตนเองในปี 1972 ตามชื่อต้นไม้ ด้วยวิสัยทัศน์ว่า ต้องการให้กองทุนดังกล่าวมีอายุหลายร้อยปีดังเช่นต้น ‘Sequoia’ ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งในยุคนั้นคำว่า ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ เพิ่งจะเป็นที่รู้จักไปไม่กี่ปีเท่านั้นเอง 

 

โดยการลงทุนแรกของ ‘Sequoia Capital’ นั้นเกิดขึ้นในปี 1975 กับ Atari บริษัทเกมชื่อดังในยุคนั้น ที่ในภายหลังได้ขายให้กับ Warner Communications ในราคา 28 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท ทั้งยังทำให้ดอนได้พบกับวิศวกรที่มีเอกลักษณ์ของ Atari นามว่า สตีฟ จ็อบส์ ที่ในภายหลัง Sequoia ก็ได้ลงทุน 1.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 5.5 ล้านบาทให้กับบริษัท Apple ของสตีฟ จ็อบส์ ก่อนจะขายทำกำไรจากเงินลงทุนดังกล่าวให้นักลงทุนรายอื่นจนได้กำไรมาราว 6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ร้อยล้านบาท ตั้งแต่ก่อนที่ Apple จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งยังได้มอบบทเรียนชิ้นสำคัญให้กับ Sequioa ว่า ‘จงอย่ารีบขายบริษัทที่ดีเร็วจนเกินไป’ เพราะหาก Sequoia ยังคงถือ Apple จนถึงทุกวันนี้ เงินลงทุนดังกล่าวก็จะมีมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลลาร์ไปแล้ว จากการที่ตัวบริษัท Apple เองก็ได้ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

และทำให้ในปี 1999 Sequoia ยังเป็นผู้นำการลงทุนใน Google ในรอบการระดมทุน Series B ที่สามารถเปลี่ยนเงินลงทุนจาก 12.5 ล้านดอลลาร์ ไปสู่เงินกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 300 เท่า ในขณะที่ปี 2008 ทางบริษัทก็ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท WhatsApp มูลค่าราว 60 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ในปี 2014 จะถูกซื้อกิจการไปโดย Facebook เป็นมูลค่าสุทธิราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ Sequioa ได้เงินไปราว 3 พันล้านดอลลาร์

 

เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยวิสัยทัศน์และหลักการในการลงทุนของทีมงาน Sequoia ก็ได้ทำให้กองทุนดังกล่าวลงทุนในบริษัทชั้นนำในแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา เช่น NVIDIA, PayPal, Oracle, Zoom, LinkedIn, Airbnb, Stripe, Uber, Unity, GitHub และอีกมากมาย จนทำให้ Sequoia มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Assets Under Management: AUM) มูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.15 ล้านล้านบาท 

 

โดยล่าสุดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทาง Sequoia ก็ได้ระดมทุนมาราว 2.85 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยจะมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 850 ล้านดอลลาร์เพื่อมาลงทุนในสตาร์ทอัพในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพของอินเดีย เพื่อเข้าไปสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ และเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการของบริษัทเหล่านั้นสามารถผลักดันบริษัทของตนเองให้ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต และสามารถขยายความสามารถไปยังด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

 

นอกจากนี้ ทาง Sequoia ยังแสดงวิสัยทัศน์ว่า พร้อมที่จะเพิ่มเงินลงทุนในประเทศแถบเอเชีย เนื่องจากในปีที่ผ่านมา อินเดียนั้นมีระบบนิเวศทางด้านสตาร์ทอัพใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจาก สหรัฐฯ และจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมแล้วที่จะเติบโตทางด้านเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 

 

โดยกองทุนดังกล่าวจะเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพประเภท Seed และ Series A และระยะการเติบโตของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งทาง Sequoia ยังชี้ต่อไปว่า ในระยะหลังมานี้ยังเล็งเห็นคลื่นลูกใหม่ทางด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมอย่าง Web 3.0 ในประเทศอย่างฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศไทยอีกเช่นกัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising