×

“สื่อมีปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรม” ส.ว. สมชาย บอกสื่อมีส่วนเกิดวิกฤตการเมือง ขอรัฐสภารับหลักการ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ว่าเรื่องของการปฏิรูปสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานตั้งแต่ปี 2550 ว่าควรมีสื่อซึ่งเป็นสุนัขเฝ้าบ้านของประชาชนอย่างไร ซึ่งหากสื่อมวลชนไม่มีความรับผิดชอบ สังคมจะได้รับการสื่อสารที่เป็นพิษ ซึ่งต้องยอมรับว่าวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งส่วนหนึ่งมาจากสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียม 

 

โดยการรวมตัวของสมาคมนักข่าวฯ และสมาคมต่างๆ ถือเป็นการรวมตัวโดยสมัครใจ และหลายครั้งที่ตนเป็นประธานพิจารณากรณีการถูกคุกคามของสื่อจากจากนายทุนและภาครัฐ หรือกรณีที่ประชาชนถูกคุกคามจากสื่อด้วยเช่นกัน เช่น บางสื่อเลี้ยงเสือให้หาเนื้อกินเอง จึงมีทั้งสื่อดีและไม่ดีปะปนกัน ดังนั้นการจะลงโทษทางจริยธรรมจึงมีเพียงการตำหนิ ตักเตือน แต่เมื่อถึงการลงโทษ องค์กรสื่อที่กระทำผิดก็ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อน 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนคือหนึ่งในผู้ที่ต่อต้านการมีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน เนื่องจากมองว่าสื่อสามารถบริหารจัดการกันเองได้ แต่เมื่อทดลองให้สื่อบริหารจัดการกันเองแล้วพบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม เพื่อส่งเสริมจริยธรรมและสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อ เพื่อแยกสื่อมวลชนในการทำหน้าที่แทนประชาชน ในการเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่มีประสิทธิภาพ

 

“ยอมรับว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นที่จะต้องแก้ไข และต้องยอมรับว่าทุกวันนี้สื่อมีปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรมอยู่” สมชายกล่าว

 

สมชายกล่าวต่อไปว่า ระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องไปหาเสียงเลือกตั้ง ตนมีข้อเสนอคือ ผู้ที่ลงปาร์ตี้ลิสต์ที่อาจจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วมกับวุฒิสภา หรือ ส.ส. เขต ขอให้เปลี่ยนตัวเป็นผู้แทนหรือนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการก่อน เพื่อให้เปิดประชุมได้ ซึ่งข้อเห็นต่างระหว่างผู้สนับสนุนและผู้เห็นต่างควรจัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยและตกผลึกเป็นรายมาตราว่าสามารถแก้ไขความเห็นต่างได้อย่างไร 

 

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ รัฐบาลชุดใหม่มีเวลา 60 วันที่จะเสนอว่าเห็นชอบหรือไม่ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบ กระบวนการก็จะเดินหน้าต่อ หรือไม่เห็นชอบคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ไม่ต้องยืนยันร่างกฎหมายให้เข้าสู่สภา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising