×

กางแผน ‘โออิชิ’ บุกรอบด้าน! ปูทางขายแฟรนไชส์ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ เป็นครั้งแรก ส่วนชาเขียวยังเป็นเจ้าตลาด เดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง

03.02.2023
  • LOADING...
โออิชิ บิซโทโระ

การระบาดของโควิดที่เริ่มผ่านพ้นไปทำให้ธุรกิจต่างๆ มีผลประกอบการที่เป็นบวกอีกครั้ง รวมไปถึง ‘โออิชิ’ เจ้าแห่งร้านอาหารและชาเขียวสไตล์ญี่ปุ่น ที่สามารถกลับมาแข็งแกร่งได้แล้วในปีงบประมาณที่ผ่านมา 

 

ผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI มีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 29.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

 

โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,836 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 51.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในส่วนของกำไรสุทธิรวมของบริษัท คิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 654 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตที่ระดับร้อยละ 120 จากปีที่ผ่านมา

 

“ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

 

ร้านอาหารต้องเป็นหนึ่งในตัวเลือกของลูกค้า

เมื่อเจาะลงไปแต่ละธุรกิจจะพบว่า ผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด ประกอบกับแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์และได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค รวมทั้งการควบคุมการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมียอดขายเติบโต 51.5% และมีกำไรสุทธิเติบโต 121% (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564) 

 

“เราต้องการเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ ของลูกค้าเมื่อนึกถึงการกลับมารับประทานอาหารในร้านอีกครั้ง” นงนุชกล่าว “ดังนั้นเราจึงต้องตอบโจทย์ลูกค้าในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการออกเมนูใหม่ๆ ในจังหวะที่พอดี กลยุทธ์หลายด้านทำให้ลูกค้าที่เดินเข้าร้านเติบโตกว่า 128%”

 

อีกหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ดึงลูกค้าให้กลับมาที่ร้านมากขึ้นคือระบบ CRM ผ่านแอป BevFood ที่มีฐานผู้ใช้กว่า 1.2 ล้านคน สถิติชี้ว่าตัวแอปสามารถดึงลูกค้าให้กลับมาที่ร้านได้มากถึง 28% ในขณะที่การสื่อสารอื่นๆ มีตัวเลขในระดับ 1 ดิจิเท่านั้น

 

ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 โออิชิมีร้านอาหารในเครือดังนี้

 

  • ร้านอาหารระดับพรีเมียม ได้แก่ โออิชิแกรนด์ จำนวน 1 สาขา, โฮว ยู จำนวน 4 สาขา และ ซาคาเอะ จำนวน 1 สาขา
  • ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส ได้แก่ โออิชิ อีทเทอเรียม จำนวน 9 สาขา, โออิชิ บุฟเฟต์ จำนวน 7 สาขา, นิกุยะ จำนวน 5 สาขา และ ชาบู บาย โออิชิ จำนวน 2 สาขา
  • ร้านอาหารระดับแมส ได้แก่ ชาบูชิ จำนวน 162 สาขา, โออิชิ ราเมน จำนวน 52 สาขา, คาคาชิ จำนวน 16 สาขา และ โออิชิ บิซโทโระ จำนวน 8 สาขา

 

 

เปิดขาย ‘แฟรนไชส์’ เป็นครั้งแรก

อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ SBITO ระบุว่า ปี 2566 ‘ธุรกิจอาหาร’ จะเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโต เพราะจะมีการเร่งเปิดสาขาใหม่อีก 30 สาขา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการเปิดสาขาใหม่ไป 20 สาขา โดยเฉพาะแบรนด์ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ ซึ่งเป็นร้านอาหารบริการด่วนที่เพิ่งเริ่มเปิดขายแฟรนไชส์

 

การขายแฟรนไชส์จะส่งผลให้การเร่งขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยคาดใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 675 ล้านบาท

 

“ร้านอาหารญี่ปุ่นยังไม่ถึงทางตัน” นงนุชกล่าว โดยข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ระบุว่า ในปี 2565 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,325 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 4,370 ร้านในปี 2564 หรือมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 955 ร้าน คิดเป็น 21.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550

 

ถึงจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่แม่ทัพของโออิชิแสดงความเห็นว่า เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นสะท้อนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสนใจ ดังนั้นตลาดนี้จึงมีโอกาสเติบโตขึ้น อยู่กับว่าสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

 

สำหรับโออิชิสิ่งที่ต้องจับตาในปีนี้คือการนำ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ มาทำเป็นแฟรนไชส์ครั้งแรก ซึ่งเบื้องต้นจะมีการใช้งบลงทุนราว 3 ล้านบาท ในพื้นที่ 50-60 ตารางเมตร ตอนนี้มีทั้งคุยแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์และแฟรนไชส์ทั่วไป

 

“เราต้องการบาลานซ์พอร์ตที่ไม่ใช่บุฟเฟต์ อย่าง โออิชิ บิซโทโระ เป็นร้านอาหารที่สามารถเดินเข้าได้ง่ายๆ มียอดจ่ายต่อบิลไม่เกิน 200 บาท ซึ่งเรามองว่าเข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้”

 

 

การขยับตัวมาขายแฟรนไชส์นั้นเกิดจากการที่นงนุชมีประสบการณ์จากการทำแฟรนไชส์อยู่แล้ว เนื่องจากนงนุชเองได้นั่งตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ’ ซึ่งมีธุรกิจร้านอาหารในเครือกว่า 725 สาขา และส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ KFC 412 สาขา 

 

สำหรับในภาพรวมของพอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นนงนุชระบุว่า จะมีการรีเฟรชแบรนด์เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

 

ชาเขียวยังเติบโตได้ดี

ด้านธุรกิจเครื่องดื่มพบว่า ‘โออิชิ กรีนที’ ยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มมูลค่า 13,228 ล้านบาท หลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (อ้างอิง: NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กันยายน 2565)

 

รายได้จากเครื่องดื่มเติบโตจนใกล้จะเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยการเติบโตนั้นมาจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ โดยเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ล่าสุดได้สร้างเซ็กเมนต์ใหม่ ชาเขียวน้ำตาล 0% ตอบรับเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น

 

“การเปิดเซ็กเมนต์ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และไม่กระทบกับฐานลูกค้าเดิม ด้วยกลุ่มคนที่หันมาดื่มชาเขียวน้ำตาล 0% มาจากกลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่า”

 

ทิศทางในปี 2566 จะเน้นสื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด ตลอดจนขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น และขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ โดยจะมีการทำรสชาติใหม่ๆ ออกมาอีก

 

 

“ที่ผ่านมาความท้าทายของตลาดชาพร้อมดื่มอยู่ที่ราคาและขนาดที่วางขาย แต่เราจะไม่มุ่งเน้นด้านนั้น โดยจะเน้นทำแคมเปญที่สร้างสรรค์เพื่อมองหาฐานลูกค้าใหม่ๆ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่ให้ฟังก์ชันนัลมากขึ้นด้วย”

 

นอกจากนี้โออิชิต้องการขยายตลาดส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 33 ประเทศ โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งวันนี้โออิชิเป็นเบอร์ 1 อยู่แล้ว ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

“เราหวังว่าในภาพรวมจะสามารถขยับส่วนแบ่งให้เพิ่มไปถึง 50%” แม่ทัพโออิชิประเมิน

 

คาดรายได้เพิ่ม 10%

บทวิเคราะห์จาก บล.พาย ระบุว่า นอกจากจะเปิดสาขาใหม่แล้ว โออิชิยังคงมีการปรับรูปแบบร้านใหม่เพื่อให้มีจุดขายที่ต่างจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมเพิ่ม และให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Package Food) ที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ธุรกิจอาหาร

 

เรื่องนี้โออิชิได้วางแผนที่จะเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ผ่านการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกียากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส-แช่แข็ง) 

 

โดยวางจุดขายให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานสไตล์ญี่ปุ่น ที่มอบความสะดวก ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน นอกจากนั้นยังเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจากเทรนด์สุขภาพมาแรง จึงพัฒนาสินค้า/อาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพให้มากขึ้นอีกด้วย

 

บล.พาย คาดว่ารายได้ปี 2566 จะยังขยายตัวได้ดีจากผลดีของการเปิดร้านอาหารเพิ่ม โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 10%YoY มาอยู่ที่ 13,927 ล้านบาท แต่ปรับกำไรสุทธิในปี 2566 ลงเล็กน้อย 4% มาอยู่ที่ 1,253 ล้านบาท (+5%YoY) เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising