×

เบื้องหลังการสร้างยานแม่ SCBX จากปากซีอีโอ อาทิตย์ นันทวิทยา

18.10.2021
  • LOADING...
SCBX

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • จุดเริ่มต้นของแนวคิดจัดตั้งยานแม่เริ่มขึ้นก่อนเกิดโควิด แต่โควิดก็มีส่วนทำให้หลักการและแนวคิดการปลดล็อกศักยภาพตัวเองของไทยพาณิชย์ในครั้งนี้เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  • ยานแม่จะทำหน้าที่ให้ทรัพยากร หรือ Resource แก่ลูกๆ รวมถึงสร้างและปล่อยยานลูกลำใหม่ๆ ออกสู่สนามต่างๆ เมื่อเห็นโอกาส โดยยานลูกแต่ละลำจะมีเป้าหมายคือการพาบริษัทไป IPO
  • การขยายธุรกิจของ SCBX จะมองสเกลที่ใหญ่กว่าแค่ในประเทศไทย โดยมีทีมที่เสาะแสวงหาโอกาสน่าสนใจในต่างประเทศตลอดเวลา พร้อมทีมเถ้าแก่น้อยที่พร้อมถูกส่งไปขับยานลูก

จากผู้ที่แทบจะไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีเลย กลายมาเป็นผู้สร้างและควบคุมยานแม่ที่ชื่อว่า SCBX ซึ่งกำลังจะทำหน้าที่พลิกโฉมธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของไทยอย่าง ‘ไทยพาณิชย์’ ให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคได้อย่างไร อะไรที่ทำให้ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอใหญ่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเองและองค์กรอายุกว่า 116 ปีแห่งนี้ คงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้คำตอบ

 

ล่าสุด รายการ The Secret Sauce มีโอกาสได้พูดคุยกับซีอีโอดังรายนี้ถึงที่มาที่ไป เบื้องลึกและเบื้องหลังของการสร้างปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั้งแวดวงการเงินไทย รวมถึงทิศทางที่ยานแม่ชื่อว่า SCBX ตั้งใจจะมุ่งไปในอนาคต

 

ในการสัมภาษณ์ อาทิตย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการ Transform ตัวเองครั้งใหญ่ของ SCB ว่า เรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปในช่วงที่เขาเข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ขององค์กรในปี 2018 การเดินทางไปพบกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลกในฐานะลูกค้ารายใหญ่ ทำให้เขาตระหนักว่าบริษัทเหล่านี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปมาก ในขณะที่ SCB ในเวลานั้นยังขาดการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าอะไรที่จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้

 

“วันที่ผมเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีเลย เป็นผู้ใช้อย่างเดียว เวลาไปเจอบริษัทเทคโนโลยีใหญ่จะพยายามไปฟัง แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งกลัว วิตกอยู่ในใจว่าจุดที่เราอยู่ห่างจากเขามาก ผมคิดว่าเรายังขาดการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะเรากลัวความเสี่ยงที่จะลองของใหม่มากเกินไป เลยตัดสินใจว่าเราพร้อมที่จะผิด แล้วความคิดที่จะเปลี่ยนองค์กรแบงก์ไปเป็นเทคโนโลยีก็เกิดขึ้น” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์เล่าว่า เขาเริ่มจากลองที่จะเปลี่ยน Mindset คน ลองเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อเทคโนโลยีที่ค่อนข้างช้า ซึ่งทำให้แบงก์ต้องวิ่งไล่งับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอด เปลี่ยนซอฟต์แวร์ในองค์กรและเปลี่ยนการลงทุน

 

“สิ่งที่ทำมีทั้งล้มเหลว มีทั้งดอทหลายๆ ดอทที่เกิดขึ้นมาและกลายเป็นดอทที่สำคัญในวันนี้ เช่น SCB 10X ซึ่งรากเดิมเกิดมาจากบริษัทที่เรียกว่า ดิจิทัลเวนเจอร์ส ซึ่งผมเสนอให้คณะกรรมการเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว คือบอกว่าเราต้องเจียดเงินประมาณ 1% ของผลกำไรมาเป็น R&D แล้วก็ใส่เข้าไปในบริษัทนี้ นั่นคือจุดตั้งต้นของดิจิทัลเวนเจอร์ส ซึ่งแปลงร่างกลายเป็น SCB 10X ในปัจจุบัน” อาทิตย์กล่าว

 

 

อาทิตย์เล่าถึงความคิดในการเขย่าโครงสร้างองค์กรด้วยการตั้ง SCBX ว่า เขาใช้เวลาเตรียมการและคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด จนกระทั่งช่วงปลายปี 2019 ก็ได้พูดคุยกับบอร์ดในการประชุมยุทธศาสตร์และได้รับความเห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่ทันจะเริ่มทำโควิดก็มาเสียก่อน จึงต้องใช้เวลาจัดการเรื่องโควิดและเริ่มกลับมาเดินหน้าในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องภายใน คุยกับบอร์ด คุยกับหน่วยงานกำกับอีกครั้งช่วงปลายปี 2020

 

“ในวันที่เราประกาศแผนปรับโครงสร้างใหญ่ ถ้าปรากฏว่าสิ่งที่เราเสนอแล้วผู้ถือหุ้นไม่เอาด้วย ผมเองก็คงไปต่อยาก เพราะฉะนั้นก่อนจะแถลงก็ต้องบอกว่าลุ้น ลุ้นที่ไม่ใช่ว่ากลัวจะตกงานอย่างเดียวนะครับ แต่ลุ้นว่าสิ่งที่เรามีความเชื่อเมื่อนำเสนอไปคนจะเข้าใจและเห็นประโยชน์อย่างที่เราเห็นหรือเปล่า” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์มองว่า การระบาดของโควิดซึ่งทำให้ภาพของโลกในยุคดิจิทัลชัดเจนขึ้นมีส่วนช่วยให้ทั้งผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ และหน่วยงานกำกับ เข้าใจหลักการและเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความแข็งแรงให้กับองค์กรของเขามากขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

“วัตถุประสงค์ของเราคือต้องการให้ SCB เป็นองค์กรที่ยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต ดังนั้นสูตรสำเร็จมันใช้แบบเดิมไม่ได้ มันมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน ธุรกิจธนาคารคือการรับฝากเงิน แล้วก็เอาเงินที่รับฝากเนี่ยไปหาผลประโยชน์ จากพื้นฐานตรงนี้ มันทำให้กฎระเบียบและกรอบว่าจะต้องไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป ธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อยจะหวังรีเทิร์นเยอะก็คงไม่มี ก็ต้องทำแบบ Low Risk Low Return แต่ความเสี่ยงในโลกปัจจุบันนั้นคาดเดาได้ยาก และเราเจอวิกฤตถี่ขึ้นและแรงขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไร Return ที่ Low อยู่แล้ว จะ Lower นี่คือสิ่งที่ผมพูดกับคณะกรรมการ” อาทิตย์กล่าว

 

นอกจากเรื่องกฎระเบียบและข้อจำกัดทางธุรกิจภายใต้การเป็นธนาคารแล้ว อาทิตย์ระบุว่า เขายังพบด้วยว่าแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าไปสู่จุดที่แบงก์ไม่สามารถทำได้  แบงก์ไม่สามารถแข่งขันกับความเร็วของคู่แข่งแบบใหม่ได้ ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วเอาแบงก์ไปแข่งก็จะยิ่งจนมุมเร็วขึ้น

 

“เมื่อเราเห็นแบบนี้แล้ว เรารู้แล้วว่าอย่าเปลี่ยนแบงก์เลย แต่ทำให้แบงก์เป็น Cash Cow ด้านหนึ่ง และเอาสิ่งที่เราอยากทำมาอยู่อีกด้านหนึ่งโดยสร้างยานแม่ขึ้นมาครอบเพื่อดูแลดีกว่า ถ้าเอาทุกอย่างไว้ใต้แบงก์ก็ยังเป็นแบงก์อยู่ดี” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์พูดถึงบทบาทของยานแม่ลำใหม่นี้ว่าจะมีหน้าที่ให้ทรัพยากร หรือ Resource แก่ลูกๆ รวมถึงสร้างและปล่อยยานลูกลำใหม่ๆ ออกสู่สนามต่างๆ เมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศ โดยยานลูกแต่ละลำจะมีเป้าหมายคือการพาบริษัทไป IPO 

 

“ซีอีโอของแต่ละบริษัทไม่ได้รายงานผม เขาจะรายงานบอร์ดของเขา ทุกคนมีบอร์ดของตัวเอง ยานแม่มีหน้าที่ส่งตัวแทนไปอยู่เป็นกรรมการ ถ้าเขาติดอะไร ผมก็สนับสนุน แต่งานหลักของผมคือไปต่อ สร้างยานลูกใหม่ หาพาร์ตเนอร์ใหม่ไปเรื่อยๆ” อาทิตย์กล่าว

 

 

อาทิตย์กล่าวว่า อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของเขาในฐานะผู้คุมยานแม่คือการสร้างกลุ่มเถ้าแก่น้อยที่จะถูกส่งไปคุมยานลูกแต่ละลำ ซึ่งต้องทำให้ทุกคน Take Ownership ให้ได้เหมือนกับเป็นเถ้าแก่จริงๆ แต่เป็นเถ้าแก่ยุคไฮเทค

 

“วิสัยทัศน์ของเรามีการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกไปเป็นบลูโอเชี่ยนด้วย บลูโอเชี่ยนนี้มีทั้งไทยและต่างประเทศ การออกไปต่างประเทศเราจะมีทีมบุกเป็นทัพหน้าที่คอยเสาะแสวงหาโอกาสและเข้าไปทำ Business Development และอีกทีมที่จะเข้าไปบริหารจัดการ หรือ Operate ซึ่งคนที่จะไป Operate ก็คือกลุ่มเถ้าแก่น้อย ทั้งสองทีมมีความสำคัญ เราต้องสร้างคนไว้ เมื่อโอกาสมาถึงเราจะได้มีคนที่พร้อมส่งไปลงสนาม” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์ระบุว่า เถ้าแก่น้อยของแต่ละบริษัทได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีและดาต้าผ่าน SCB Tech X และ Data X โดยทุกคนจะมีโจทย์ที่จะต้องคิดแบบ Regional หรือ International เนื่องจากการสร้างสิ่งที่แตกต่างหรือแพลตฟอร์มเพื่อรองรับฐานลูกค้าขนาดใหญ่จะไม่สามารถเป็นผู้เล่น Local ได้อย่างเดียว

 

“ผมพูดกับทีมงานไปแล้วว่าการไปต่างประเทศเราจะไม่ได้ไปใน Context ธนาคาร ผู้นำหลายคนพูดถึงเรื่อง Network Effect และ Winner Takes All ผมเชื่ออย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเราจะสร้างแพลตฟอร์ม แล้วเป็นแพลตฟอร์มที่เป็น Winner ในเมืองไทยอย่างเดียว สเกลคงไม่น่าจะพอ” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์กล่าวอีกว่า หนึ่งในวิสัยทัศน์ของไทยพาณิชย์ในยุคใหม่นี้คือ การเปลี่ยนตัวเองจากตัวกลางไปเป็นแพลตฟอร์ม โดยหนึ่งในแพลตฟอร์มที่น่าจะได้เห็นในอนาคตคือ การพาแอปฯ Robinhood ไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่ไม่จำกัดเฉพาะอาหาร แต่จะครอบคลุมไลฟ์สไตล์อื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ จะมีแพลตฟอร์มที่ทำเรื่อง Digital Asset และ Aigital Security

 

“ผมคิดว่าพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคของสังคมไปทางไหนเราจะไปในทิศนั้น ที่สำคัญคือเรามี Foundation ใหม่ที่ทำให้เราเคลื่อนไหวตัวเราเองเร็วพอ มีประสิทธิภาพพอ มี Innovation พอ มี Customer เป็นตัวตั้งพอ มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนได้ เรามีเถ้าแก่น้อย เรามียานแม่ที่จะขับเคลื่อน เรามีพลังของ Capital จาก Cash Cow ซึ่งไม่เคยมีสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นมาแล้วมี Cash Cloud เราต้องเอาจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง เราจะไม่มองแต่ว่าคนอื่นมีสิ่งที่เราไม่มี แต่เราจะมองว่าเรามีในสิ่งที่คนอื่นไม่มีเหมือนกัน แล้วเราจะทำให้สิ่งที่เราไม่มีให้มีด้วย เมื่อรวมกันแล้ว ผมคิดว่านั่นคือวิธีการที่เราจะเดินไป” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์ยังให้มุมมองที่น่าฟังเอาไว้ในอีกหลายประเด็น เช่น ยานแม่จะมาทำลายล้างสตาร์ทอัพขนาดเล็กหรือไม่ การจับมือกับบริษัทใหญ่อื่นๆ จัดตั้ง Venture Capital รวมถึงไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่ชอบปลีกวิเวกไปบุกป่าฝ่าดงของเขาอีกด้วย สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในรายการ The Secret Sauce EP.449 ตอนเบื้องหลังการสร้างยานแม่ SCBX จากปากซีอีโอ อาทิตย์ นันทวิทยา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising